บพท.ชูโมเดลสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาความสามารถกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน (LE) เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน
บพท.ชูโมเดลสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาความสามารถกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน (LE) เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กำหนดบทบาทของตน เป็น change agent และ เป็นผู้ริเริ่มสร้างโครงการ Local Enterprises (LE) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ทักษะและนวัตกรรมการจัดการให้กับผู้ประกอบการ LE อีกทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ จัดงาน ‘Local Enterprises Social Expo’ เพื่อนำเสนอความสำเร็จของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของ ‘ชุมชนท้องถิ่น’ ผ่านการดำเนินโครงการ ‘Local Enterprises’ (LE) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือของภาคีวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “คน-ของ-ตลาด” มิติที่แตกต่าง LE Network Value Chain Model ครั้งแรกของไทย มุ่งหวังให้ LE เป็น Model ที่ยกระดับธุรกิจชุมชน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่เจาะลึก วิจัยสาเหตุและวางเครื่องมือแก้ปัญหาเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจชุมชนอย่างครบวงจร และเกิดการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการ Local Enterprises ทั่วประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง นำยุค และยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน

ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า โครงการ Local Enterprises ริเริ่มขึ้นเพื่อมุ่งพัฒนา‘คน (ธุรกิจ)’ โครงการถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งพัฒนา “คน (ธุรกิจ)” โดยการออกแบบหลักสูตรการบริหารจัดการเรื่อง “ตลาด” ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น ด้วยผลวิจัยทั้งด้าน Data และ Technology แล้วนำ Knowledge Gap (หรือ Technology-Knowhow) มาเติมในหลักสูตร เพื่อให้ “คน(ธุรกิจ)” สามารถสร้าง “ของ(สินค้าและบริการ)” ที่ตอบโจทย์ “ตลาด” และตรงความต้องการผู้บริโภค (ลูกค้า)

เป้าหมายสำคัญของโครงการ LE ในปี 64-65 นี้ คือการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจด้วย “การจัดการ/วางแผนการเงินภาคธุรกิจแบบครบวงจร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการระดับชุมชน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ LE จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไข คือ ต้องใช้ทรัพยากรภายในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า (Local Resources) ต้องเกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ (Local Employment) และเกิดการกระจายรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ (Local Economy) รวมถึงเพิ่มสัดส่วนรายได้อย่างมีธรรมภิบาล ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการ LE ในปี 64-65 นี้ นอกจากการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจด้วย “การจัดการและวางแผนการเงินภาคธุรกิจแบบครบวงจร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการระดับชุมชนด้วย

ผมเชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการชุมชนทุกระดับ ได้รับองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์อย่างครบถ้วน และสามารถนำผลลัพธ์ทางความรู้ที่ได้ไปต่อยอดทางธุรกิจของตนเองและชุมชนได้อย่างมืออาชีพ อีกทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ชุมชนพัฒนา เติบโต อย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปันได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises กล่าวว่าจากผลการวิจัจและการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ LE ที่ผ่านมา ในปี 2564-2565 จำนวนกว่า 1,000 ราย พื้นที่ 73 จังหวัด เราพบว่า ปัญหาหลักธุรกิจชุมชน โดยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ธุรกิจเกิดความผิดพลาด ล้มเหลว และเรายังไม่เห็นการแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นเรื่อง “การบริหารการเงินธุรกิจแบบครบวงจร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการระดับชุมชน ดังนั้น เราจึงออกแบบ โครงการที่จะยกระดับ LE ภายใต้การสร้างศักยภาพคน (ธุรกิจ) ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการยกระดับธุรกิจชุมชนให้เข้มแข็ง นำยุค และยั่งยืน ผ่าน แนวคิด “คน-ของ-ตลาด โมเดล”  องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตามกรอบโครงการ “LE” เพราะ “คน” คือ ธุรกิจชุมชน โดยจะครอบคลุมตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้าง ไปจนถึงเกษตรกร ฯลฯ โดยมิติการพัฒนา “คน” จะมุ่งเน้นไปที่การเสริมความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจ ตลอดจนทักษะการบริหารจัดการด้านต่างๆ เช่น การเงิน การผลิต การตลาดและแบรนด์ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะ “ของ” คือการพัฒนา/ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า-คุณค่าของ “ของ” ซึ่งครอบคลุมทั้งวัตถุดิบ สินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด และเหมาะสมกับต้นทุนทางธุรกิจที่ตนมีและ ความสามารถการผลิตอย่างมีประสิทธิผล เพราะ “ตลาด” คือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจด้วยข้อมูลตลาดที่ผ่านการวินิจฉัย ทั้งด้าน supply และ demand ทั้งเชิงลึกและรอบด้าน ซึ่งกระบวนการ “คน-ของ-ตลาด โมเดล” ได้รับการพัฒนายกระดับในด้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กันผ่านเครื่องมือที่ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อ LE อาทิ LE Financing, Value chain management, Strategic design for production marketing and branding

โดยกระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นอย่างแตกต่าง และ เจาะลึก ผ่านเครื่องมือพิเศษ เริ่มจาก การเรียนรู้กระบวนการ ปรับวิธีคิด และ mindset ของผู้ประกอบการชุมชน (LE) เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนจากการดำเนินธุรกิจเพื่อตนเอง (Ego System) สู่การดำเนินธุรกิจแบบ (Eco System) คือการแบ่งปัน สร้างประโยชน์ และผลลัพธ์ (กำไร) เชิงธุรกิจควบคู่กับสังคม และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ด้วยเครื่องมือแอปพลิเคชัน ที่พัฒนาและออกแบบโดยเฉพาะเพื่อใช้ทำงานและกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ Local Enterprises “คน-ของ-ตลาด” โมเดล ภายใต้ชื่อ ‘ประตูเศรษฐี’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินภาพรวมธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านการจัดการสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อบรรเทาและประคับประคองธุรกิจผ่านการวินิจฉัย 4 ด้าน คือ รายได้ กำไร สภาพคล่อง และหนี้สิน ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ โครงการ ‘ประตูเศรษฐีบานที่ 1’ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 500 คน และ ‘ประตูเศรษฐีบานที่ 2’ มีผู้เข้าร่วม 350 คน หลังจากนั้นผู้ประกอบการจะผ่านหลักสูตร ‘เศรษฐีเรือนใน’ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการเงินภายในครัวเรือน เพื่อให้สามารถแยกกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกระเป๋าเงินธุรกิจได้ ทำให้สามารถเห็นสถานะการเงินภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง ประกอบด้วย 3 ตอน คือ หว่าน (บริหารรายรับรายจ่าย,วิธีเพิ่มสินทรัพย์) พรวน (วีธีออมเงิน, หลักการลงทุน) เก็บเกี่ยว (บริหารหนี้, เตรียมพร้อมสู่การเงินภาคธุรกิจ) ผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน “เศรษฐีเรือนใน”, บอร์ดเกมส์ (ภาพแสดงให้เห็นถึงงบดุล และงบรายรับ รายจ่าย-บำรุงชีพ, บำเรอชีพ, ดำรงชีพ, บรรลัยชีพ), เป็นต้น แล้วจึงผ่านไปสู่หลักสูตร ‘เศรษฐีเรือนนอก’ เป็นการเรียนรู้บริหารจัดการการเงินภาคธุรกิจ เพื่อนำไปวางแผนต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจของตนเองและชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน ผ่านเครื่องมือที่ใช้ อาทิ บอร์ดเกมส์ (ภาพแสดงให้เห็นถึงงบดุล และ งบกำไรขาดทุน-งบการตลาด, ค่าวิจัยและพัฒนา,ค่าโสหุ้ย,ค่าเสื่อมราคา) โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าธุรกิจอย่างยั่งยืน 6+1 เป็นตัวกำกับในการวางแผน

นอกจากนี้ ภายในงานมีผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน รวมกว่า 130 ธุรกิจ มาร่วมจัดแสดงสินค้า พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์การทำธุรกิจ รวมถึงการมอบโล่รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่มี สัมมาชีพ มืออาชีพ และเศรษฐีเรือนในดีเด่น จำนวนทั้งสิ้น 10 รางวัล ได้แก่

รางวัลประเภทมืออาชีพ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่

  1. คุณนลินี ศรีสิทธิประภา ศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมอ้ายยอ / ศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมอ้ายยอ รางวัล “นักฆ่าหนี้บรรลัยชีพดีเด่น”
  2. คุณสุเมธา ทองเสริมสุข วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีตำบลบ้านเลนปั้นจิ๋วดินไทย / ชุดหาบปั้นจิ๋วดินไทย รางวัล “นักจับปีศาจบำเรอชีพดีเด่น”
  3. คุณจิรายุณัฐ อัจฉริยะขจร บริษัท One more Thai craft chocolates นครศรีธรรมราช / ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต รางวัล “นักปั้นกำไรดีเด่น”
  4. คุณปิยะพันธ์ สุรินทร์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตลำไยบ้านเหล่าดู่ / ลำไยอบแห้ง ลำไยอบกรอบ น้ำตาลลำไยสกัดเข้มข้น ไซรัปลำไย รางวัล “นักสร้างรายรับดีเด่น” 
  5. คุณนพมาศ พรหมศิลป์ ภูสิบแสน Phu Sib Saen / เครื่องสำอางค์ใบพลู เช่น ใบพลูแอนติออกซีแดนเซรั่ม ครีมกันแดด น้ำพริกเปาเห็ดแครง เสื้อชูชีพ 2 ตัวรางวัล “นักวางแผนสำรองดีเด่น”

รางวัลประเภทสัมมาชีพ จำนวน 4 รางวัล ได้แก่

  1. คุณภาวริน น้อยใจบุญ บริษัทหวานระรินจำกัด / ขนมไทย รางวัล “เศรษฐีช่างเชื่อม” 
  2. คุณสุทธิรัตน์ ปาลาส บริษัทบุญดำรงค์กรีนฟาร์มจำกัด / ลางสาด / ลองกอง อุตรดิตถ์ รางวัล “เศรษฐีช่างช่วย”
  3. คุณศุภชัย เทพบุตร ร้านชุมชนดีมีรอยยิ้มบ้านห้วยปลาดุก  / มะนาวแป้นรำไพเพชรบุรี รางวัล “เศรษฐีช่างฝึก”
  4. คุณสมัย เปีย วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์สร้างอาชีพที่ยั่งยืน / ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูหลุม และไก่ รางวัล “เศรษฐีช่างจด”

รางวัลประเภทเศรษฐีเรือนในดีเด่น จำนวน 1 รางวัล ได้แก่

  1. คุณสมัย เปีย (MVP) วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์สร้างอาชีพที่ยั่งยืน / ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูหลุม และไก่ รางวัล “เศรษฐีเรือนในดีเด่น”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Local Enterprises’ ได้ที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โทรศัพท์ 0 2109 5432 ต่อ บพท. หรือ เว็บไซต์ : https://www.nxpo.or.th/A/

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated