ม.เกษตร จัดงาน KU Digital Day เป็นต้นแบบสังคมแห่งการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน
ม.เกษตร จัดงาน KU Digital Day เป็นต้นแบบสังคมแห่งการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน

เปิดคลังความรู้ KU Digital Day : ต้นแบบสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน เฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ณ ลานชั้น 3 สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน KU Digital Day : ต้นแบบสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน เฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดคลังความรู้นำผลงาน Digital Platform ที่โดดเด่นและใช้งานได้จริงพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ อาทิ Platformการบริการ, การเกษตร , ป่าไม้ , ประมง , IT, การศึกษา, สุขภาพ นำเสนอแก่ผู้สนใจเป็นครั้งแรก รวมจำนวน 22 Digital Platform พร้อมกับนำชมระบบคลังความรู้ E-Books ซึ่งบรรจุข้อมูลกว่า 40 Digital Platform เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีองค์ความรู้ทั้งงานวิจัย นวัตกรรมที่หลากหลายสาขา กระจายอยู่ในคณะ สำนัก สถาบันในวิทยาเขตต่าง ๆ มากมาย ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งสร้างต้นแบบสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้คัดเลือกและรวบรวมเฉพาะผลงานเกี่ยวกับ Digital Platform ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลงานที่มีส่วนช่วยส่งเสริม แก้ไขปัญหาสังคม ช่วยลดเวลาและขั้นตอนการปฏิบัติงานและสะดวกต่อการใช้งาน ฯลฯ นำมาจัดแสดงและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้สนใจ ในงาน KU Digital Day เป็นครั้งแรก และเพื่อความสะดวกในการค้นหาคลังความรู้ดังกล่าว ตลอดจนเผยแพร่ให้สังคม  ผู้สนใจทั่วไปได้นำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น จึงได้จัดทำเป็น E-Books ซึ่งบรรจุข้อมูลเชิงลึกสำหรับ Digital Platform จำนวนกว่า 40 ผลงาน ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ที่ https://ebook.lib.ku.ac.th/item/3/2022RG0018

ภายในงานมีการจัดแสดงผลงาน Digital Platform จำนวน 22 ผลงาน การนำเสนอและสาธิตการใช้ Digital Platform ที่โดดเด่น และนำไปใช้งานได้จริง จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่

  1. ระบบ นิทรรศการแสดงผลลัพธ์การเรียนรู้นิสิตรูปแบบเสมือนจริง โดย อ.ดร.สรีวัลย์ จึงเจริญนิรธร วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์

ระบบนี้ เกิดจากภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดแสดงผลงานนิสิตในรูปแบบเสมือนจริง ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงผลงานของนิสิตได้โดยปราศจากการรวมตัวและลดการแพร่ระบาดได้ โดยยังสามารถคงไว้ซึ่งบรรยากาศเสมือนจริง นอกจากนี้สื่อที่นิสิตสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารในอีกรูปแบบหนึ่ง ยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ดีได้อีกด้วย

  • ระบบ รู้เกษตร- AgriPro, iOS และ Android เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนเพาะปลูกพืชหรือ เลี้ยงสัตว์ โดย รศ.ดร. ธานี ศรีวงศ์ชัย  คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“รู้เกษตร – Agri Pro” แอปพลิเคชันสำหรับวางแผนการผลิตพืช/เลี้ยงสัตว์/ประมง ใช้เพื่อการกำหนดขอบเขตฟาร์มบนแผนที่เพื่อคำนวนเป็นพื้นที่จริง สร้างแผนการผลิต บันทึกรายการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ และบันทึกรายรับ-จ่าย เพื่อสรุปเป็นโปรไฟล์ของการผลิตแต่ละครั้ง จึงทำให้เห็นภาพของรายรับ-จ่ายที่เกิดขึ้นของการผลิต นอกจากนี้ยังเติมเต็มด้วยข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ได้แก่ ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลชุดดิน ร้านขายปัจจัยการผลิตและสถานที่รับซื้อผลผลิต ข้อมูลราคาสินค้าเกษตร ระบบการคำนวณปุ๋ยสั่งตัด และคลังความรู้การเกษตรในรูปแบบ e-book เพื่อการวางแผนการจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลการผลิตสามารถสร้างเป็น QR code เพื่อแชร์ให้แก่ผู้ที่สนใจ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายเกษตรกร นอกจากนี้การส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางเพื่อการอัพเดทการผลิตของเกษตรกรแต่ละราย ข้อมูลที่ส่งเข้าส่วนกลาง จะถูกเก็บไว้ในรูปแบบธนาคารข้อมูล (data bank) เพื่อสะสมให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ทางการเกษตร (Agri-big data) ต่อไปได้

นอกจากนี้สามารถนำองค์ความรู้จากแอปพลิเคชันด้านการเกษตรมาใช้ในการบริหาร จัดการ วางแผนการผลิต และจัดการผลผลิตจะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจได้มากกว่าการอิงประสบการณ์ เกษตรกรและนักวิชาการสามารถพัฒนาเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสามารถเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญด้านการผลิตเพื่อเป็นการขยายฐานข้อมูลเดิม รวมไปถึงข้อมูลจากแอปพลิเคชันที่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบในรูปแบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) จะมีประโยชน์สำหรับภาครัฐหรือเอกชนสำหรับใช้การวางแผนการจัดการในเชิงนโยบายด้านการเกษตรต่อไป เพื่อการพัฒนาไปสู่การเกษตรแม่นยำในอนาคต

  • ระบบ FOA Drone Mapping Platform เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการวางแผนจัดการแปลงหรือฟาร์ม โดย รศ.ดร. ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การวางแผนการจัดการฟาร์มจากเดิมที่ต้องเดินสำรวจพื้นที่เพาะปลูกเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของพืช หรือสัตว์ได้ถูกแทนที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนบินสำรวจ (surveying drone) เป็นที่ เรียบร้อยแล้ว โดรนสำรวจมีหลากหลายรูปแบบ และหลายรุ่น ซึ่งในแต่ละรุ่นจะส่งผลต่อศักยภาพของโดรน ประสิทธิภาพในการบิน ความละเอียดของภาพ และความแม่นยำของพิกัดภาพที่แตกต่างกัน

ข้อมูลที่ได้จากการบินถ่ายพื้นที่หลายๆ ภาพจะต้องนำมาประมวลผลผ่านโดรนแพลทฟอร์มของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อต่อภาพถ่ายหลายๆ ภาพเข้าเป็นภาพเดียวกัน เกิดเป็นแผนที่ภาพออร์โธอากาศยานไร้คนขับ หรือ แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ แล้วนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะ แผนที่ภาพในรูปแบบแผนที่ดิจิทัล (digital orthophoto map) แผนที่ภาพถ่ายที่ประมวลผลแล้วสามารถนำมา ประเมินสภาพแปลง RGB ความสมบูรณ์ของต้นพืชระดับความสูงต่ำของพื้นที่ DEM (digital elevation model) และเส้นแนวระดับการวัดขนาดพื้นที่ ระยะทางรอบแปลง และการวัดระยะ การประเมินดัชนีสุขภาพพืช GRVI (green red vegetation index) นับจำนวนต้น หรือการแบ่งกลุ่มชนิดพืชพรรณในแปลงด้วยค่าสีที่แตกต่างกัน การกำหนดจุดบนแผนที่แล้วเชื่อมโยงกันกับแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “รู้เกษตร-Agri Pro” เพื่อการลงพื้นที่สำรวจใน จุดที่ต้องการสำรวจ สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของพืช หากเกิดการระบาดของโรคหรือแมลงในแปลงจะได้ เข้าแก้ไขได้ทันท่วงที ซึ่งจะมองภาพรวมของแปลงได้ครอบคลุม และเร็วมากกว่าการใช้แรงงานคน   การให้บริการ แพลตฟอร์มนี้ มีตั้งแต่การบินถ่ายภาพด้วยโดรน การประมวลและวิเคราะห์ผลภาพถ่าย และอัพโหลดข้อมูลเข้า แพลตฟอร์มเพื่อการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้ใช้บริการจริงแล้ว ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ใช้นับจำนวนต้น และตรวจสอบการระบาดของหนอนที่เข้าทำลายใบในแปลงปาล์มน้ำมัน บินติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพพืช ของข้าว และบินสำรวจพื้นที่เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการแปลง เป็นต้น

  • Care Support Application เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นอุปสรรคแก่ผู้พ้นโทษ โดย ผศ.ดร. เปรมฤดี เพ็ชรกูล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

งานวิจัยเรื่องนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเครื่องมือที่ให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้สามารถมีช่องทางในการขอรับบริการความช่วยเหลือ หางานทำ มีสถานศึกษา และที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสร้างกระบวนการในการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอปพลิเคชันให้แก่กลุ่มผู้กระทำผิดที่กำลังได้รับการปล่อยตัว

นอกจากผู้พ้นโทษมีช่องทางในการเข้าถึงการหางานทำและการขอรับสวัสดิการที่สะดวกและไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่สามารถนำเครื่องมือทางออนไลน์ไปประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยประโยชน์ให้การทำงานในการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้พ้นโทษมีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องก็ยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ แก่กลุ่มผู้พ้นโทษได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ ผลจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน จะดำเนินการส่งต่อระบบแอปพลิเคชันให้แก่สำนักงานส่งเสริมสัมมาชีพและผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย กระทรวงยุติธรรม (สมภพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารขององค์การส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป

  •  ระบบ เพื่อนจากใจ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่นิสิต โดย ดร.มนธีร์  จิตต์อนันต์ และคณะ คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เยาวชนมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน และในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มเยาวชนโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว

ปัญหาความเครียดของนิสิตที่บางครั้งเผชิญปัญหา และรู้สึกว่า ไม่มีที่พึ่ง จึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม และบางคนเลือกจบชีวิตของตนเอง จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อให้นิสิตได้เข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ง่าย และไม่เสียค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับธรรมชาติการใช้ชีวิตของนิสิตนักศึกษาที่จะใช้โทรศัพท์มือถือกันมาก ซึ่งเปิดโอกาสให้ใช้แอปพลิเคชันมากขึ้น

แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาส่วนใหญ่ จะเป็นการให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพจิตเท่านั้น บางแอปพลิเคชั่นถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งแอปพลิเคชั่นสบายใจที่ถูกพัฒนาโดยกรมสุขภาพจิตประเทศไทย มีฟังก์ชั่นให้สามารถพูดคุยปรึกษาปัญหาทางสุขภาพจิตได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แอปพลิเคชั่น เพื่อนจากใจมีความครอบคลุมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและสุขภาพกาย รวมทั้งมีบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วย

หมายเหตุ : ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 7 มิถุนายน 2565

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated