ธ.ก.ส.พาลุยสวนทุเรียนลุงแกละ “เกษตรกรเท่ได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่”
คุณโอ๋-นิธิภัทร์ ทองอ่อน

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมธุรกิจลูกค้า สวนลุงแกละ จังหวัดระยอง ของคุณโอ๋-นิธิภัทร์ ทองอ่อน ซึ่งเป็น Young Smart Farmer และ New Gen Hug บ้านเกิด ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการในการดำเนินงาน เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางออนไลน์ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจด้านเกษตรสมัยใหม่ โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่เข้าร่วม เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ณ สวนทุเรียนลุงแกละ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

การเยี่ยมชมครั้งนี้คึกคักเป็นยิ่งนัก เนื่องจากมีสื่อมวลชนจากหลายสำนักได้ติดตามมารายงานข่าวกันสดๆ เริ่มต้นคุณโอ๋ได้ให้ข้อมูลว่า ได้มาสืบทอดอาชีพจากคุณพ่อคุณแม่ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ทำให้คุณโอ๋ตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรคือความรักและความห่วงใยที่มีต่อครอบครัว ความต้องการที่จะดูแลครอบครัวและสวนที่คุณพ่อคุณแม่ได้สร้างไว้ เมื่อมีโอกาสจึงได้กลับมาพัฒนาและต่อยอดเพิ่มมูลค่า

ในช่วงแรกๆที่เข้ามาก็พยายามนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ โดยเฉพาะรถตัดหญ้า รถพ่นยา(รถแอร์บัส) รถกระเช้าตัดทุเรียน ฯลฯ แรกๆนั้นก็ต้องคอยอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในสิ่งที่ตนเองเข้ามาเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องใช้เวลากันพอสมควรกว่าที่จะได้รับการยอมรับ (รายละเอียดเพิ่มเติมชมได้จากคลิปประกอบข่าวนี้)

จากนั้นคุณโอ๋ได้พาไปลุยสวนทุเรียนของเพื่อนเกษตรกรที่ตนเองเข้าไปดูแลเรื่องการตลาด ซึ่งกำลังใช้รถกระเช้าตัดทุเรียน ซึ่งคุณโอ๋บอกว่าการตัดทุเรียนด้วยรถกระเช้าจะสามารถสร้างความปลอดภัยให้มากกว่ากับการขึ้นต้นทุเรียนแบบเดิมที่มีคนตัดทุเรียนตกต้นทุเรียนทุกปี นอกจากนี้จะทำให้ดูลูกทุเรียนได้ระยะใกล้ชิด โดยเฉพาะสามารถเก็บลูกทุเรียนที่อยู่ปลายกิ่งได้ง่าย และลูกปลายกิ่งอยู่ใกล้ห้องครัว(ปลายกิ่งมีใบเยอะ ซึ่งทำหน้าที่ปรุงอาหาร) ตามปกติเกษตรกรไม่นิยมไว้ลูกปลายกิ่งเพราะเก็บยากนั่นเอง

จบจากการตัดทุเรียนคุณโอ๋ได้พามาชมการสาธิตการใช้รถพ่นยา(รถแอร์บัส)ในสวนหลังบ้าน ปกติการพ่นยาจะใช้ในช่วงที่ทุเรียนออกลูกเล็กๆ หรือช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชเข้ามาทำลายเยอะๆ รวมทั้งการฉีดพ่นฮอร์โมนต่างๆเพื่อบำรุงใบให้สมบูรณ์ในช่วงที่ทำดอก

“การใช้รถแอร์บัสจะสามารถช่วยได้มาก ทั้งลดต้นทุนค่ายาค่าฮอร์โมนต่างๆ และประหยัดเวลาได้มาก จากเดิมที่คุณพ่อคุณแม่และโอ๋มาช่วยกันลากสายยาง ซึ่งใช้เวลานานและไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร แต่กับรถรุ่นนี้ที่มีตู้แอร์โอ๋ขับเองใช้คนแค่คนเดียวเท่านั้น”

คุณโอ๋บอกอีกว่ารถแอร์บัสที่ซื้อมาเป็นมือสองราคา 1 ล้านบาท ถ้าเป็นรถมือหนึ่งราคาประมาณ 3 ล้านบาท ส่วนรถกระเช้าตัดทุเรียนเป็นรถมือสองซื้อมาราคาคันละ 5.3 แสนบาท และกลำลังจะซื้อเข้ามาเพิ่มอีก 1 ตัน เพราะติดว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าและมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับทีมตัดทุเรียนนั่นเอง

นอกจากนี้คุณโอ๋ยังได้โชว์การใช้รถตัดหญ้า ซึ่งคันที่สาธิตนั่นเป็นรถมือหนึ่งซื้อมาในราคา 3 แสนบาทเศษ โดยคุณพ่อก็สามารถขับตัดหญ้าเองได้

นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่คุณโอ๋ได้นำมาใช้กับการพัฒนาอาชีพทำสวนทุเรียนก็คือ พวกแอปพยากรณ์อากาศ ใช้ทั้งหมด 3 แอป แต่ละแอฟผลออกมาใกล้เคียงกัน ที่ต้องใช้เพราะคิดว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก และทำให้สามารถพยากรณ์อากาศได้แม่นยำมากทีเดียว

คุณโอ๋บอกอีกว่าจะนำเข้ามาเปลี่ยนแปลงคือเรื่องระบบน้ำ กำลังประสานงานกับสวทช.มาติดตั้งระบบน้ำของสวนใหม่ เพื่อให้เป็นระบบบอัตโนมัติและทันต่อความต้องการของทุเรียนที่ถือว่าขาดน้ำไม่ได้ โดยจะอ่างเก็บน้ำขนาด 40 ไร่ ติดอยู่กับสวน ซึ่งคุณปู่ของคุณโอ๋ได้บริจาคที่ดินจำนวน 5 ไร่ เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำของชุมชน ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะสามารถนำน้ำมาใช้กับสวนทุเรียนกว่า 60 ไร่ได้เป็นอย่างดี

สื่อมวลชนถามว่าการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งผลดีต่อการเพิ่มผลผลิตอย่างไร คุณโอ๋บอกว่ามีผลมาก จากเดิมที่ผลผลิตทุเรียนต่อไร่มีประมาณ 1 ต้น ก็เพิ่มเป็น 2-3 ต้นต่อไร่ เรียกว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี

คำถามสุดท้าย ธ.ก.ส.ได้มีบทบาทช่วยเหลือต่ออาชีพการทำสวนอย่างไร คุณโอ๋บอกว่าถ้าไม่ได้ธ.ก.ส.ก็จะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในช่วงปีแรกๆที่ตนเข้าสืบทอดอาชีพของพ่อแม่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว อย่างเช่นอยากได้รถแอร์บัสก็ไปปรึกษา ธ.ก.ส.สาขาวังจันทร์ จนได้ซื้อรถมาใช้รวมทั้งรถคันอื่นๆและที่จะลงทุนเพิ่มในเวลานี้คือการขยายแปลงปลูกเพิ่มเติมที่กำลังเจรจาแปลงใกล้เคียงจำนวน 2 แปลง ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้บริการจาก ธ.ก.ส. เพราะมองว่าอาชีพการทำสวนทุเรียนยังมีผลตอบแทนที่น่าลงทุน โดยเฉพาะราคาผลผลิตจากสวนกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท และของตนเองนั้นจะเน้นขายล้งเพียง 60% อีก 40% จะขายแบบแกะเนื้อทุเรียนขายเพื่อตัดปัญหาเนื้อทุเรียนไม่ได้คุณภาพ โดยตลาดไอยราจะเป็นผู้แกะเนื้อทุเรียน เพราะเขามีห้องแกะเนื้อทุเรียนที่ปลอดเชื้อ ส่วนคุณโอ๋ก็จะนำทุเรียนที่แกะเนื้อขายออนไลน์ผ่านทางเซเว่นอีเลฟเว่น ในราคากิโลกรัมละ 1,490 บาท

ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของการพูดคุยกับคุณโอ๋ ซึ่งในตอนท้ายเขาย้ำว่าจะพยายามเปลี่ยนมุมมองใหม่ของเกษตรกรไทยให้ดูเท่ดูดี โดยนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาผสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคลิปLIVEสดของเกษตรก้าวไกล รวมทั้งคลิปจากยูทูปช่องเกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน..ขอย้ำว่าถ้าเกษตรกรรุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะๆ การเกษตรประเทศไทยก็จะมีผู้สืบทอดและเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated