“ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เมื่อก่อนไม่เคยได้เห็นเงิน ปีหนึ่งได้ 300 – 400 บาท แต่มาทุกวันนี้บางเดือนได้จับเงินแสน เป็นความภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนสกลนคร รู้สึกปลื้มใจที่ไม่สามารถจะพูดออกมาเป็นคำพูดได้ ทุกวันนี้ ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอก บ้านนาเลา และศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เมื่อก่อนทำนาขายข้าวได้ราคาที่ถูกมาก กิโลกรัมละ 7 – 8 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวฮางงอกขายได้ถึงกิโลกรัมละ 70 – 80 บาท ทำให้มีรายได้ สมาชิกในชุมชนในหมู่บ้านใกล้เคียงมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย สามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีได้อย่างไม่ขัดสน” นางดวงตา ดากาวงค์ ประธานศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ “แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” บ้านนาเลา ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร กล่าวในระหว่างสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจกรรมของศูนย์

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอก บ้านนาเลา มีสมาชิกเริ่มต้น 11 คน โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เข้ามาส่งเสริมด้วยการฝึกอบรมการผลิตข้าวฮางเพื่อเพิ่มมูลค่า ปัจจุบันมีสมาชิก 21 คน ผลผลิตส่งจำหน่ายที่ร้านสวัสดิการภายในศูนย์ภูพานฯ ศูนย์โอทอปในจังหวัดสกลนคร และร้านค้าพัฒนาชุมชน

“เป็นบุญของทุกคนในอำเภอเต่างอย ที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยได้รู้จักปลูกไว้กิน ทำกิน ทำใช้ ทำขาย ก็เพราะรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานความช่วยเหลือ จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ขึ้นมา และดีใจมากที่รัชกาลที่ 10 ได้มาดูแลต่อยอดส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางดวงตา กล่าว

ทางด้าน นางจันทร์สุดา แสนพงษ์ เกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริ บ้านหนองบัว ต.บึงทวาย อ.เต่างอย เป็นเกษตรกรอีกหนึ่งคนที่ได้รับการขยายผลองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เผยว่า ในช่วงแรกได้เข้าอบรมการปลูกมะเขือเทศเพื่อส่งโรงงานหลวงที่เต่างอย เจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯ ภูพาน ได้แนะนำให้ปลูกพืชแบบผสมผสาน อาทิ พืชสมุนไพร ไม้ผล ไม้ประดับ และได้ไปศึกษาดูงานด้านประมง จากนั้นนำมาพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง ตอนนี้มีการเพาะขยายพันธุ์ลูกอ๊อดขายตัวละ 1 บาท มีคนมาซื้อไปเลี้ยงตลอดทำให้มีรายได้แทบทุกวัน

“ในแปลงแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ ปลูกไม้ป่า ไม้ผล ทำบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และปลูกพืชผักสวนครัว พริก มะเขือ ไว้กินเอง ทำให้มีรายได้พอทุกวัน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ศูนย์ภูพานฯ มาก ๆ ที่ให้ความรู้ แนะแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีรายได้ทั้ง รายวัน รายเดือน และรายปี ทำให้มีเหลือเก็บจนสามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาโท” นางจันทร์สุดา กล่าว

เกษตรกรทั้งสองท่านนี้ นับเป็นเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากงานด้านการขยายผลของศูนย์ฯ ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ จนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายได้ที่มั่นคง สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จนได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ เพื่อประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้วยหลักการดำเนินงาน “สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียง” ซึ่งได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำไปพร้อมกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติและป่าไม้ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพ การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพดิน  นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ยังประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้แก่ ไก่ดำภูพาน หมูดำภูพาน วัวดำภูพาน และกระต่ายดำ ซึ่งทั้งหมดได้สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ราษฎรเพิ่มขึ้น

ด้าน นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่าตลอดมาได้มุ่งเน้นงานขยายผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองของศูนย์ฯ ภูพาน สู่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ มีการเผยแพร่หลักสูตรองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้ประชาชนที่มีความสนใจในแต่ละด้านเข้ามาฝึกอบรม และส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ออกไปให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถพัฒนาก่อตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ประจำหมู่บ้านหลายแห่ง ที่ผ่านมาได้ผลตอบรับที่ดี เปรียบเสมือนอีกเครือข่ายหนึ่งของศูนย์ศึกษาฯ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างน่าพึงพอใจ

การถ่ายทอดองค์ความรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ มีการสาธิตให้คำปรึกษาพร้อมจัดฝึกอบรมเกษตรกรให้ได้รับบริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการตลาด ในทุกแขนงอาชีพ นอกจากนี้เพื่อให้การขยายผลครอบคลุมไปถึง กลุ่มเยาวชน เด็กนักเรียน ในสถานศึกษา จึงจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประเภทโรงเรียนขึ้นเพิ่มเติมอีกด้วย

“โรงเรียนมีแรงงานไม่จำกัด คือ เด็กนักเรียน องค์ความรู้ก็ไม่จำกัดเพราะคุณครูเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้พื้นฐานดีอยู่แล้วศูนย์เรียนรู้ประเภทโรงเรียนจึงเป็นศูนย์ฯ ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับราษฎรในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น เพราะได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กโดยเฉพาะด้านการเกษตร ที่สามารถต่อยอดสู่ผู้ปกครอง เมื่อจบการศึกษาก็ยังสามารถกลับมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ ในโรงเรียนได้อีก จะมีเจ้าหน้าที่ ศูนย์ฯ ภูพาน เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้นให้ ที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการใน 2-3 โรงเรียนรอบศูนย์มาแล้วและได้รับผลสำเร็จด้วยดี จึงมีการต่อยอดขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ๆ รอบศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นต่อไป” นายโรจน์วัฒน์ กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated