กรมวิชาการเกษตรบุกร้านขายสารเคมีและปุ๋ยไร้ทะเบียน ยึดของกลางกว่า 2 ล้านบาท
กรมวิชาการเกษตรบุกร้านขายสารเคมีและปุ๋ยไร้ทะเบียน ยึดของกลางกว่า 2 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร สนธิกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกตรวจร้านขายสารเคมีและปุ๋ย พิกัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี หลังมีหนังสือร้องเรียนชี้เบาะแส พบปุ๋ยและวัตถุอันตรายทั้งไม่มีทะเบียนและทะเบียนหมดอายุ รวมกว่า 3,000 ลิตร 560 กิโลกรัม อายัดของกลางมูลค่ากว่า 2 ล้านบาทเตรียมดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรว่า ได้รับหนังสือร้องเรียนจากเกษตรกรมีการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรและปุ๋ยเคมีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรประสานกับเจ้าหน้าที่ กก.2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าร่วมกันตรวจค้นร้านค้าตามที่ได้รับแจ้งดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำชับให้กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรโดนหลอกซื้อปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพไปใช้ทำการเพาะปลูก

จากการเข้าตรวจค้นร้านค้าดังกล่าวพบวัตถุอันตรายทางการเกษตรจำนวน 23 รายการ และปุ๋ยเคมีจำนวน 3 รายการ ผลการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย 22 รายการ ไม่มีเลขทะเบียน ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังตรวจพบผลิตภัณฑ์สารกำจัดแมลง จำนวน 1 รายการ ทะเบียนวัตถุอันตรายหมดอายุ ปุ๋ยเคมี จำนวน 3 รายการ ไม่มีเลขทะเบียน ต้องได้รับโทษ ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยบทกำหนดโทษขายปุ๋ยเคมีไม่ขึ้นทะเบียน จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 120,000 บาท เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวมีใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายและใบอนุญาตขายปุ๋ยถูกต้อง 

“สารวัตรเกษตรและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกันตรวจยึดอายัดวัตถุอันตรายและปุ๋ยเคมีปริมาณทั้งหมด 3,857.50 ลิตร และ 560.90 กิโลกรัม ไว้ในที่เกิดเหตุโดยมูลค่าของกลางที่ตรวจยึดได้ในครั้งนี้ประมาณ 2,200,000 บาท พร้อมกับได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุอันตรายและปุ๋ยเคมีส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated