แปลงใหญ่ศรีสะเกษคึกคัก ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ ช่วยพลิกชีวิตเกษตรกร มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ

กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ผลงานแปลงใหญ่จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด พัฒนาศักยภาพอาชีพ เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สามารถต่อยอดการดำเนินงาน มีรายได้เป็นที่น่าพอใจ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ

นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบปะเกษตรกรที่ดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2564 ว่า เกษตรแปลงใหญ่ที่ได้เข้าร่วมโครงการในปี 2564 ทั้งสิ้นจำนวน 382 แปลง เกษตรกร 28,148 ราย พื้นที่ 300,930.15 ไร่ ซึ่งได้ยืนยันเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จำนวน 254 แปลง งบประมาณ 713,367,959 บาท ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ทั้ง 254 แปลง ได้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 693,392,797.18 บาท คิดเป็นร้อยละ 97.20 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ครบถ้วนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

โดยจำนวนแปลงใหญ่ทั้งหมดนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ จำนวน 3 แปลง วงเงินงบประมาณ 8,482,190 บาท เบิกจ่ายแล้ว 8,476,360 บาท กรมการข้าว จำนวน 209 แปลง วงเงินงบประมาณ 593,714,054 บาท เบิกจ่ายแล้ว 577,737,627.18 บาท การยางแห่งประเทศไทย จำนวน 6 แปลง วงเงินงบประมาณ 14,837,995.00 บาท เบิกจ่ายแล้ว 11,559,612.00 บาท และกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 36 แปลง วงเงินงบประมาณ 96,333,720 บาท เบิกจ่ายแล้ว 95,619,198 บาท ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในโครงการได้ถูกนำไปต่อยอดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรที่จำเป็นให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่งผลให้กลุ่มแปลงใหญ่สามารถสร้างรายได้และดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรได้ดีมากยิ่งขึ้น และยังมีส่วนสำคัญทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่ต่างๆ จำนวน 3 แปลงใหญ่ ซึ่งได้มีภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมงาน ทั้งนายอำเภอในพื้นที่ เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ฯลฯ ตลอดจนคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) และโดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่มากันล้นหลามคึกคักมาก

ขับรถไถหยอดเมล็ดข้าวโพดหลังนา-แปลงใหญ่บ้านปละ

เริ่มกันตั้งแต่เช้าที่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านปละ ตำบลสะพุง อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยกลุ่มนี้มี นายศรชัย สารทอง เป็นประธานแปลงใหญ่ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 90 ราย พื้นที่ปลูก 753 ไร่ กล่าวว่า หลังจากทางกลุ่มฯ ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เพื่อพัฒนาการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ก็ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตจากนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ได้รับสนับสนุนจากโครงการ เช่น รถเกี่ยว โดรน ลานตาก และมีการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องผลผลิตไม่มีคุณภาพและได้ราคาที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากอดีตกลุ่มไม่มีรถเกี่ยวเป็นของกลุ่มเอง ทำให้สมาชิกต้องรีบเกี่ยวถึงแม้ยังไม่ครบอายุการเก็บเกี่ยวและความชื้นยังสูง เนื่องจากรถเกี่ยวมีน้อย ถ้าหากไม่รีบเกี่ยว จะไม่มีรถเกี่ยวให้ใช้งาน

ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ จึงได้ราคาที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อกลุ่มมีรถเกี่ยวแล้ว ทำให้การเก็บเกี่ยวมีความพิถีพิถันมากยิ่งขึ้น ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและได้ปริมาณเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการที่กลุ่มมีโดรนที่ใช้ในการฉีดสารเคมีควบคุมศัตรูพืชหรือฮอร์โมน ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าการใช้แรงงานคน ทำให้มีผลผลิตเพิ่มมากยิ่งขึ้น

นายศรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับด้านการตลาด กลุ่มได้มีการเชื่อมโยงตลาดร่วมกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทก้าวหน้า ซึ่งบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้มีการเปิดจุดรับซื้อให้กับสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และบริษัทก้าวหน้าก็เป็นอีกบริษัทที่สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษหรือราคารับซื้อที่สูงกว่าเกษตรกรทั่วไป นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้มีการแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารสัตว์ เช่น อาหารโค อาหารสุกร อาหารไก่ ซึ่งได้เชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคบ้านจอก บ้านทุ่งสว่าง บ้านสะพุง ตำบลสะพุง และตำบลใกล้เคียง เช่น ตำบลเสื่องข้าว และเกษตรผู้เลี้ยงสุกร ตำบลศรีโนนงาม และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ตำบลศรีแก้ว ซึ่งทางกลุ่มยังมีโลโก้ประจำกลุ่มเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้าของกลุ่ม รวมทั้งยังมีร้านที่มาร่วมเป็นเครือข่ายในการจำหน่ายอาหารสัตว์ให้กับกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ด้วย คือร้านมีโชคพานิชย์ หมู่ที่ 7 ตำบลสะพุง ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดของกลุ่ม และยังได้มีการพัฒนาช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ เพื่อให้สินค้าของกลุ่มสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้นอีกด้วย

อนึ่ง ในวันเดียวกันนี้ทางกลุ่มยังได้ทำการเปิดป้ายที่ทำการ โดย นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธานเปิด และยังมี นายภัทรนันท์ บุญมานัด นายอำเภอศรีรัตนะ มาร่วมเป็นเกียรติด้วย และหลังจากนั้นทางประธานแปลงใหญ่ได้เชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายอำเภอศรีรัตนะ ชมการสาธิตนำเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นผลผลิตมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์สูตรต่างๆ ตามสูจรของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีโครงการจะนำออกขายเป็นรายได้ของกลุ่ม พร้อมกันนั้นได้เชิญรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ไปขับรถไถหยอดเมล็ดข้าวโพดหลังนา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่หลายคนบอกว่ายังไม่เคยมีข้าราชการระดับสูงคนไหนขับรถไถนามาช่วยปลูกข้าวโพดเลย

(ชมเพิ่มเติมจาก เกษตรก้าวไกล LIVE https://fb.watch/9NE5AanPFL/)

กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวผักไหม โชว์เกษตรสมัยใหม่

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เดินทางไปที่ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 1 ตำบลผักไหม โดยมี นายไพทูรย์ ฝางคำ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 1 ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ และสมาชิกมาให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานของกลุ่ม ซึ่งได้กล่าวว่า ทางกลุ่มได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2559 มีสมาชิกจำนวน 56 ราย พื้นที่ 910 ไร่ พร้อมกับได้เข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์กับทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ในปีเดียวกัน ต่อมาในปี 2560 ได้สมัครเข้าร่วมเป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดศรีสะเกษ มีสมาชิก จำนวน 65 ราย พื้นที่ 949 ไร่ มีเป้าการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 475,120 กิโลกรัม ซึ่งทางกลุ่มได้ร่วมกันดำเนินการในแบบแปลงใหญ่ เพื่อช่วยกันวางแผนการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตและการดำเนินงานของกลุ่มที่ชัดเจน เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกร มีการใช้เทคโนโลยีและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สมาชิกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวทุกขั้นตอน จนถึงการเชื่อมโยงตลาดทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตข้าวให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ จนผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยแลนด์ กลายเป็นต้นแบบองค์กรชุมชนที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการพัฒนาข้าวระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับแนวหน้าของจังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย

“สิ่งที่เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดนั้น  นอกจากเป็นการช่วยพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการผลิตมากขึ้นแล้ว เครื่องจักรกล นวัตกรรม เทคโนโลยี อาคาร ยังเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยช่วยในกระบวนการผลิต ช่วยให้ต้นทุนลดลง ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังยกระดับมาตรฐานการผลิต การแปรรูปเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงตลาดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกดีขึ้นและมีความยั่งยืน” นายไพทูรย์ กล่าว

อนึ่ง หลังจากรับฟังผลการดำเนินงานและแนวคิดการพัฒนาของกลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 1 ตำบลผักไหม ได้นำรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรไปดูการปลูกถั่วเหลืองหลังนา ซึ่งถือเป็นพืชเสริมรายได้และยังช่วยปรับสภาพดินก่อนทำนาในฤดูกาลต่อไป โดยตัวแทนจำหน่ายคูโบต้าในจังหวัดศรีสะเกษตรและผู้บริหารของสยามคูโบต้าภาคอิสานมาช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องรถไถนาและรถหยอดเมล็ดถั่วเหลือง พร้อมโชว์การอัดฟางข้าว และในโอกาสนี้รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทดลองขับโดรนและขับรถไถนาที่ติดตั้งเครื่องหยอดเมล็ดถั่วเหลือง พร้อมโชว์การไถนาอีกด้วย

(ชมเพิ่มเติมจาก เกษตรก้าวไกล LIVE https://fb.watch/9ND-AM84WP/)

ปิดท้ายมาดูแปลงใหญ่โคเนื้อที่ห้วยทับทัน

วันที่สองของการลงพื้นที่ คณะของ นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เดินทางไปที่ กลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนคนปลูกข้าวหอมมะลิ (โคเนื้อ หมู่ 5) ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ โดย นายนภาสิทธ์ สระทอง ประธานกลุ่ม ได้ให้ข้อมูลว่า กลุ่มของตนเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในปี 2559 มีสมาชิกจำนวน 52 ราย พื้นที่ 790 ไร่ จำนวนโค 450 ตัว โดยเป็นแม่พันธุ์ 400 ตัว และตัวผู้ขุน 50 ตัว มีการวางแผนการผลิตโคเนื้อ (โคขุน) และการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง ซึ่งหลังจากทางกลุ่มได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ทำให้มีเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพและเหมาะสมกับพื้นที่ มาใช้ในกระบวนการผลิต สามารถร่วมกันบริหารจัดการกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับมาตรฐานการผลิต และเชื่อมโยงตลาดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพ พัฒนารายได้ และคุณภาพชีวิตของสมาชิกเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยสมาชิกในกลุ่มมีการยกระดับการผลิตด้วยเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ทันสมัยร้อยละ 80 ทำให้สมาชิกสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 20 เพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 20 และทางกลุ่มยังสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มได้วางแผนที่จะขยายผลการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ หรือวัสดุที่ได้จัดซื้อ รวมถึงจัดทำแผนธุรกิจ วางแผนการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งขยายผลในรูปแบบเครือข่ายให้มากขึ้นเพื่อสร้างพลังในการผลิตและการตลาดต่อไป

ในการมาเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่เลี้ยงโคเนื้อครั้งนี้ นอกจากรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว ยังมี นายนัทธ์เวโรจน์  บูชาพัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ และ นายศราวุธ ทรงโฉม นายอำเภอห้วยทับทัน ตลอดจนคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่ร่วมเดินทางลงพื้นที่ ทำให้บรรยากาศการเยี่ยมชมคึกคักมาก ในขณะที่เกษตรกรก็ยิ้มแย้มแจ่มใสยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าอาชีพเลี้ยงโคเป็นอาชีพที่เหมาะกับพวกเขา โดยปัจจุบันหันมาเลี้ยงโคกันมาก แต่ละบ้านจะมีคอกเลี้ยง โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาทำเป็นอาหารตามสูตรของกรมปศุสัตว์ และใช้ฟางข้าวมาเป็นอาหารเสริม ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี และเวลาโคมีปัญหาเรื่องโรคก็ได้ปศุสัตว์เข้ามาดูแล อีกทั้งเข้ามาคอยให้คำปรึกษาในเรื่องการจัดการฟาร์ม และสิ่งสำคัญคือเรื่องการเชื่อมโยงตลาด ราคาของโคที่ขายได้อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ หักต้นทุนกำไรแล้วมีรายได้ดี แถมคุณภาพของเนื้อโคที่เลี้ยงได้ตลาดต้องการสูงไม่พอต่อความต้องการ และเพื่อเป็นการการันตีคุณภาพทางกลุ่มได้นำเนื้อโคมาย่างให้ชิมด้วย

ในตอนท้ายทางรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้สัมภาษณ์ “เกษตรก้าวไกล” ถึงความพยายามของภาครัฐที่ต้องการยกระดับอาชีพเกษตรให้เกิดความมั่นคง ตามรายละเอียดในช่วงท้ายของ LIVE นี้ https://fb.watch/9NDZPzdowH/

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated