กรมส่งเสริมสหกรณ์ อนุมัติกรอบวงเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ ปี 2565 จำนวน 4,700 ล้านบาท ให้สหกรณ์นำไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ดูแลช่วยเหลือการประกอบอาชีพของสมาชิก พร้อมหนุนให้สหกรณ์ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีเงินทุนหมุนเวียนรวบรวมผลผลิตการเกษตร และแปรรูปจำหน่าย เพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งมุ่งแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร แก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. เกิดจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ทุกประเภท ปัจจุบัน กพส. มีทุนดำเนินงานกว่า 6,400 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯได้จัดสรรเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์นำไปเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก จุดประสงค์หลักของกองทุนคือการเสริมสร้างสหกรณ์ในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่ผ่านมามีสหกรณ์หลายแห่งที่นำเงินกู้ กพส.ไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ สามารถพัฒนาธุรกิจสหกรณ์จนเติบโตก้าวหน้า สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและทำให้สมาชิกสหกรณ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจะต้องเลือกเฟ้นสหกรณ์ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เข้าไปแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายจัดการของสหกรณ์กับคณะกรรมการของสหกรณ์ ในการที่จะดูแลส่งเสริมให้ความรู้ทั้งด้านการบริหารจัดการ การบริหารสินเชื่อ การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้นด้วย

240390111_215112120633733_2959922670063994425_n

“สิ่งที่อยากเห็นคือ กองทุนพัฒนาสหกรณ์สามารถสร้างความก้าวหน้าและการเติบโตให้กับสหกรณ์อย่างแท้จริง ทั้งสหกรณ์ขนาดกลาง ขนาดเล็กหรือสหกรณ์ที่เพิ่งตั้งใหม่ ให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและเข้มแข็งจากการนำเงินจากกพส. ไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตการเกษตรและนำมาแปรรูป เพื่อจำหน่ายสู่ตลาด เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต และสร้างรายได้กลับสู่สมาชิก จากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด – 19 ยังมีสหกรณ์อีกจำนวนมาก ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพและรวบรวมผลผลิตออกจำหน่าย ทำตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สมาชิกมีความตั้งใจในการทำการเกษตรจริง ก็จะทำให้มีรายได้ และเมื่อครบกำหนดการชำระหนี้ สมาชิกก็นำเงินที่เขากู้ไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับมาคืนสหกรณ์ สหกรณ์ก็ส่งคืนให้กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยอัตราดอกเบี้ยก็คิดตามขนาด ตามชั้นลูกหนี้ กพส.ที่เราได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ซึ่งถ้าเทียบต้นทุนของสหกรณ์ กับการที่เขาจะต้องไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ถือว่าเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้กับสหกรณ์ได้ ก็จะทำให้สหกรณ์ขนาดเล็กหลายแห่งเติบโตขึ้น สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายวิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับปีงบประมาณ 2564 คณะกรรมการบริหาร กพส. ได้อนุมัติวงเงินกู้ 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการปกติ 2,280 ล้านบาท โครงการพิเศษ 1,720 ล้านบาท มีสหกรณ์กู้เงิน กพส. 1,631 แห่ง 1,787 สัญญา เป็นเงิน 3,547 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 88.68 เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจถดถอยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์การเกษตรมีความประสงค์ขอกู้เงินไปให้สมาชิกกู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพทางการเกษตร ประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมทั้งสหกรณ์นำไปดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิต และจัดหาสินค้าและปัจจัยการผลิตมาบริการสมาชิกเพื่อลดต้นทุนการประกอบอาชีพในปีงบประมาณ 2565 กรมฯได้จัดสรรกรอบวงเงินกู้ กพส.จำนวน 4,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการปกติ 2,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 64 คิดเป็น 27% และโครงการพิเศษ 1,800 ล้านบาท ปัจจุบันได้มีการอนุมัติและเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 18 สหกรณ์ วงเงิน 58 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 1.24 ของวงเงินทั้งหมด โดยส่วนใหญ่สหกรณ์ขอกู้เพื่อนำไป รวบรวมผลผลิต จัดหาสินค้ามาจำหน่าย นำไปให้สมาชิกกู้ยืม และลงทุนในทรัพย์สิน

นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรเงินอีกส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2564/65 โครงการส่งเสริมการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมกาแฟในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการพัฒนาการผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่สหกรณ์ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ส่วนหนึ่ง กรมฯ มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในไร่นาของสมาชิกสหกรณ์ การส่งเสริมอาชีพ ในยุค New Normal และ Next Normal ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 วงเงิน 280 ล้านบาท รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ และการฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง วงเงิน 25 ล้านบาท

240597316_373760794453460_8236906010386989488_n

นอกจากนี้ กรมฯยังได้กำหนดวงเงินกู้สำหรับช่วยเหลือสหกรณ์เป็นการเร่งด่วน สำหรับสหกรณ์ที่ประสบปัญหาอุทกภัย จำนวน 300 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ได้สำรวจและจัดสรรวงเงินให้จังหวัดแล้ว 26 จังหวัด 103 สหกรณ์ สมาชิกได้รับผลกระทบ 15,558 ราย พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย 251,609.26 ไร่ ซึ่งในปี 2565 จะมุ่งกระจายความช่วยเหลือไปยังสหกรณ์ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ กรมฯ ได้สำรวจความต้องการของสหกรณ์ที่มีความประสงค์จะขอ กู้เงิน กพส. เพื่อนำขยายธุรกิจสหกรณ์หรือนำไปช่วยเหลือสมาชิก โดยมีกรอบการจัดสรรเงิน กพส. ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัด/สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และ พื้นที่ 2 และจะมีการติดตามการใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เร่งรัดการใช้หนี้คืนตามกำหนด ปัจจุบันมีจำนวนการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ กพส. ลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่กระบวนการแรกในการพิจารณาคำขอกู้ของสหกรณ์ การวิเคราะห์แผนการนำเงินกู้ไปใช้ประโยชน์ของสหกรณ์ รวมถึงการติดตามให้สมาชิกใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กู้ไปจากสหกรณ์ด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated