ทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิ...อยากชิมจังว่ารสเหมือนเนยจริงหรือไม่?
ทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิ...อยากชิมจังว่ารสเหมือนเนยจริงหรือไม่?

วันนี้กรมวิชาการเกษตรส่งข่าวมาให้สื่อมวลชนเหมือนเคยครับ นั่นคือข่าว “ทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิ” (เขียนโดย พนารัตน์ เสรีทวีกุล) ข่าวนี้เข้ากระแสเพราะว่าคนไทยเราหายใจเข้าออกเป็นทุเรียนก็ว่าได้ เพราะพืชผลตัวอื่นราคาตก แต่ทุเรียนยังยืนหยัดอยู่ได้ ใครๆจึงพุ่งเป้าไปที่ทุเรียน ก็อย่างว่าแหละครับบ้านเรานั้นอิสระเสรี ใครใคร่ปลูก ปลูก…

เคยมีคำกล่าวว่า ใครนึกไม่ออกว่าจะปลูกอะไรดีก็ให้ปลูกกล้วย แต่บัดนี้อาจไม่ใช่แล้วครับ ใครนึกไม่ออกว่าจะปลูกอะไรก็ให้ปลูกทุเรียนครับ

เพราะว่าเกษตรกรไทยนั้นเก่งเรื่องการปลูกเป็นอย่างมาก ที่ดินหัวไร่ปลายนาปลูกขึ้นหมด ดินไม่ดีก็ปรุงดินได้ ดินโคลนดินดานไม่วิตก ดินน้ำท่วมก็ยกโคกให้สูงให้ระบายน้ำดี (ส่วนเรื่องการตลาดก็ไปว่ากันดาบหน้า แต่ตอนนี้ก็เริ่มจับทางกันได้มากแล้ว)

มาว่ากันที่ทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิดีกว่าครับทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิ

สวนทุเรียนที่เป็นข่าวนี้ตั้งอยู่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นสวนทุเรียนแห่งแรกของจังหวัดชัยภูมิที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 โดยมี นายธงชัย นราทอง และ นางสอาด นราทอง เป็นเจ้าของ…

นายธงชัย นราทอง เจ้าของสวนนราทอง จ.ชัยภูมิ
นายธงชัย นราทอง เจ้าของสวนนราทอง จ.ชัยภูมิ

..ก่อนจะมาเป็นสวนทุเรียนในวันนี้ เจ้าของสวนรายนี้เคยประกอบอาชีพค้าขายแตงโมมาก่อนที่จะเริ่มปลูกทุเรียนในปี พ.ศ. 2556  เนื่องจากอำเภอเทพสถิตมีสภาพพื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน และยังเป็นพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาดและให้ผลตอบแทนสูง โดยเริ่มต้นจากปลูกทุเรียนในพื้นที่ 200 ไร่ ซึ่งขั้นตอนแรกของการผลิตทุเรียนให้ประสบผลสำเร็จนั้นนายธงชัยบอกว่าจำเป็นต้องมีการจัดการเรื่องระบบน้ำที่ดีจึงติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ และขุดบ่อน้ำขนาดพื้นที่ 14 ไร่ จากอีกฝั่งของสวนเพื่อส่งน้ำมายังสวนทุเรียนให้เพียงพอต่อความต้องการน้ำในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต โดยมีการให้น้ำวันเว้นวันประมาณ 2 ชั่วโมง อัตรา 140 ลิตร/ต้นทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิ

นายธงชัยได้เรียนรู้วิธีการปลูกและดูแลแก้ไขปัญหาภายในสวนทุเรียนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ โดยปัญหาที่พบในการผลิต ได้แก่ ระยะออกดอกจนถึงการติดผล การหลุดร่วงของผลทุเรียน ซึ่งแนวทางแก้ไขคือต้องระวังไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อน โดยพ่นปุ๋ยน้ำทางใบอัตรา 20 ลิตร /น้ำ 1,000 ลิตร ตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้เกิน 5 เมตร และมีการตัดยอดเพื่อไม่ให้ต้นทุเรียนสูงเกินไปซึ่งจะทำให้ยากต่อการจัดการและเก็บเกี่ยวผลผลิต มีการสำรวจโรคแมลงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นตามคำแนะนำ และเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะปลอดภัย

ตัดยอดไม่ให้สูงเกินไป
ตัดยอดไม่ให้สูงเกินไป

นอกจากนี้ นายธงชัยยังมีเทคนิคในการนับวันเก็บเกี่ยวทุเรียน โดยการจดบันทึกตั้งแต่ดอกบาน นับไป 110-120 วัน จึงทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต และก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตจะงดใช้สารเคมีประมาณ 2 สัปดาห์ ข้อควรระวังช่วงติดผลคือหากพบเพลี้ยแป้งที่ผลทุเรียน ผิวผลจะมีสีดำ ไม่ได้คุณภาพ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งทุเรียนที่จะส่งออกไปประเทศจีนมีการกำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพตามมาตรฐาน GAP โดยช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีล้งจากจังหวัดจันทบุรีเข้ามารับซื้อผลผลิตที่ความสุก 75-80 เปอร์เซ็นต์ และหลังจากที่ต้นทุเรียนให้ผลผลิตหมดแล้วจะทำการบำรุงต้นทุเรียนให้อุดมสมบูรณ์เพื่อรองรับการติดดอกออกผลในปีต่อไป ทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิ

ทุเรียนพันธุ์หมอนทองของสวนนราทองมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนสวนทุเรียนที่ใด คือ ไม่มีกลิ่นฉุน รสชาติหวานหอม เนื้อละเอียด ไม่มีเส้นใย เมื่อรับประทานแล้วจะมีรสชาติคล้ายเนย จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยผลผลิตทุเรียนที่สวนนราทองจะส่งออกไปประเทศจีน จำหน่ายในราคา 140 บาท/กิโลกรัม ขายแบบรวมเกรด โดยเกรด A น้ำหนักผลเฉลี่ย 4-6 กิโลกรัม เกรด B น้ำหนักผลเฉลี่ย 3-4 กิโลกรัม  และเกรด C น้ำหนักผลเฉลี่ย 2 กิโลกรัม ซึ่งในปี2564 นี้ผลผลิตที่สวนนราทองมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 80 ตัน  โดยเฉลี่ยแล้วนายธงชัยมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนประมาณ 11.2 ล้านบาท / ปี   ทุเรียนรสเนยมาตรฐาน GAP แห่งแรกจังหวัดชัยภูมิ

ทางด้าน นายสุพจน์ สัตยากุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ กล่าวว่า การตรวจประเมินและให้การรับรองแหล่งผลิต GAP เป็นอีกหนึ่งภารกิจของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งยังได้เข้าไปให้ความรู้การผลิตและแนวทางในการขอรับรองตามมาตรฐานระบบคุณภาพ GAP ซึ่งที่สวนนราทองแห่งนี้นอกจากเจ้าของสวนจะภาคภูมิใจที่สามารถผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัย และมีรสชาติดีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนที่ใดทำให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP เป็นแห่งแรกของจังหวัดชัยภูมิแล้ว ที่สวนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจในการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปลูกทุเรียนอีกด้วย..

ปี 2564 ผลผลิตที่สวนนราทองมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 80 ตัน
ปี 2564 ผลผลิตที่สวนนราทองมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 80 ตัน

เอาละครับ ทั้งหมดนั้นก็คือรายละเอียดของข่าว ว่าแต่ตอนนี้อยากชิมทุเรียนหมอนทองรสเนยจังเลย แต่ข่าวนี้ไม่มีที่อยู่ที่ติดต่อ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ คงหาไม่ยาก หรือว่าใครที่ได้ชิมแล้วรสเนยจริงไหม อร่อยสมคำร่ำลือเพียงใด ถ้าไม่เจอล็อคดาว์นโควิด พรุ่งนี้ว่าจะพุ่งตรงไปสวนนราทองกันเลยครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated