หนุนเกษตรกรปลูก “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” สินค้า Future Crop จ.นครราชสีมา สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร
หนุนเกษตรกรปลูก “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” สินค้า Future Crop จ.นครราชสีมา สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่าถั่วลิสง เป็นพืชไร่ตระกูลถั่วที่เกษตรกรนิยมปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา(สศท.5) พบว่า สินค้าทางเลือกที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา คือ “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) เนื่องจากเป็นพืชที่มีอายุสั่น ใช้น้ำน้อย เป็นที่ต้องการของตลาด และสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี โดยเกษตรกรนิยมปลูกถั่วลิสงเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลายในพื้นที่หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชไร่ อาทิ มันสำปะหลังโรงงาน เป็นต้น

หนุนเกษตรกรปลูก “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” สินค้า Future Crop จ.นครราชสีมา สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว

หากพิจารณาด้านการผลิตและผลตอบแทนของถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน หรือพันธุ์กาฬสินธุ์ 2 พบว่า มีพื้นที่ปลูก จำนวน 2,000 ไร่ (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา) ให้ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 2,400 ตัน/ปี เกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 500 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอครบุรี เสิงสาง และหนองบุญมาก เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ดอน ลักษณะดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์พระราชทาน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีรสชาติค่อนข้างหวาน กรอบนุ่มกว่าถั่วลิสงทั่วไป ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ 120-150 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 12,924 บาท/ไร่/รอบการผลิต เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 95-110 วัน ให้ผลผลิตเปลือกสดเฉลี่ย 1,295 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 15 – 25 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ เดือนมิถุนายน 2563) สร้างรายได้เฉลี่ย 30,227 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,303 บาท/ไร่/รอบการผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรได้นำผลผลิตบางส่วนมาแปรรูปเป็น ถั่วต้ม และถั่วคั่ว ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางซึ่งมารับซื้อถึงไร่ ส่วนร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายที่ตลาดสำคัญของจังหวัด ได้แก่ ตลาดดอนแขวน เทิดไท และสุรนคร

หนุนเกษตรกรปลูก “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” สินค้า Future Crop จ.นครราชสีมา สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร
นายสมมาตร ยิ่งยวด

ด้านนายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวเสริมว่า การปลูกถั่วลิสงจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากเกษตรกรนิยมปลูกโดยใช้ระบบน้ำหยด จึงมีค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่น และมีค่าจ้างแรงงานเก็บผลผลิตในอัตรากิโลกรัมละ 5 บาท แต่เมื่อพิจารณาผลผลิตและผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับถือว่าคุ้มค่า โดยในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดีในชุมชน สร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรให้หันมาปลูกพืชตระกูลถั่วเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกร รวมถึงสามารถผลิตและขยายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรในชุมชน ดังนั้น การปลูกถั่วลิสงจึงเป็นอาชีพที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่พึ่งพาแรงงานในครัวเรือน ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร.0 4446 5120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th

13046

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated