ถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้ “เป็นเกษตรกรก็สามารถรวยได้”
ถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้ “เป็นเกษตรกรก็สามารถรวยได้”

เราต้องการพาคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับมาเติมพลังชีวิตให้ชุมชน ทำชุมชนให้มีชีวิตชีวาไปพร้อมๆ กับการทำเกษตรกรรม เพราะเกษตรกรรมนี่แหละคือทางออกของประเทศ เราต้องทำให้ทุกคนรู้ว่าเป็นเกษตรกรก็สามารถรวยได้ เกษตรกรมันต้องไม่จน และเมื่อคนส่วนมากเห็นแล้วว่า เออเป็นเกษตรกรก็รวยได้นะ ทีนี้มันจะเริ่มเกิดเป็นแรงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ๆ เก่งๆ มาเป็นเกษตรกรกัน กลับมาช่วยกันทำให้รากฐานของประเทศเราแข็งแรง

ข้างต้นนี้คือคำกล่าวของ ดร. สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย (ที่มา : https://www.thaihealth.or.th/)   ถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้

ตลอด 5 ปีของการดำเนินโครงการคนกล้าคืนถิ่น ของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย กับคนกล้าที่ผ่านการอบรมจำนวน 5 รุ่น กว่า 3,400 คน มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ คนกล้าเหล่านั้น (หรือที่เขาบางคนเรียกตัวเองว่า คนบ้า) ยังสามารถเดินทางบนเส้นทางนี้ได้อยู่ และอะไร ทำให้ผู้ผ่านการอบรมอีกไม่น้อย ยังคงเลือกที่จะเก็บความฝันนี้เอาไว้ในใจ และใช้ชีวิตใน Safe Zone ต่อไป

นั่นจึงเป็นที่มาของชุด โครงการวิจัยการศึกษาแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก สังคม และสิ่งแวดล้อม  กรณีศึกษา : โครงการคนกล้าคืนถิ่น ของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย โดยการสนับสนุนของแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP) ที่ต้องการศึกษากระบวนการที่ใช้ในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สามารถกลับไปเป็นพลังขับเคลื่อนในท้องถิ่น ศึกษาผลกระทบทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจฐานรากจาก คนรุ่นใหม่ในโครงการคนกล้าคืนถิ่น และสุดท้ายคือการถอดบทเรียนจากตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นองค์ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

ดร.จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย
ดร.จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (เสื้อขาว) เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย

ดร.จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวระหว่างการเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยจังหวัดกระบี่และจังหวัดตรัง ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2563 ว่า จากการไปสอบถามแลกเปลี่ยนกับคนกล้าคืนถิ่นกว่า 1,000 คน เราพบว่า หัวใจของโครงการคนกล้าคืนถิ่น คือการปรับทัศนคติของคนที่เข้าอบรม ที่ส่วนใหญ่ ต้องการผันตัวเองไปทำอาชีพเกษตรกรรม ให้มองมากกว่าแค่คำว่า “เกษตรกร”

“สิ่งที่โครงการคนกล้าฯทำ ไม่ใช่การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว  แต่เราอยากให้คนที่สนใจทำการเกษตรมีมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการเกษตร สามารถมองเห็นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การปลูกที่ต้นน้ำ ไปถึงการแปรรูปที่กลางน้ำ และการตลาดที่ปลายน้ำ เพื่อให้เขาสามารถไปสร้างธุรกิจจากสินค้าเกษตรของเขาเองได้ เพราะจะเป็นวิธีที่จะทำให้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้จริง เพราะสามารถกำหนดราคาได้เอง ซึ่งนอกจากงานวิจัยจะทำให้เห็นความสำเร็จแบบนี้จากคนกล้าคืนถิ่นหลายๆ ท่านแล้ว เรายังเห็นถึง “จุดแข็ง” ที่สำคัญของโครงการคนกล้าคืนถิ่น นั่นคือการรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายคนกล้า” ที่เริ่มมีการแตกหน่อหรือขยายแนวคิดนี้ไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ของตนเองแล้ว”

คุณสุชัญญานมาศ สุขาพันธ์ คนกล้าต้นแบบภาคใต้
คุณสุชัญญานมาศ สุขาพันธ์ คนกล้าต้นแบบภาคใต้

คุณสุชัญญานมาศ สุขาพันธ์ หนึ่งในคนกล้าคืนถิ่น ที่เลือกทิ้งรายได้มากกว่าหนึ่งแสนบาทต่อเดือนในตำแหน่งพนักงานดูแลลูกค้าให้กับโรงแรมและคาสิโนแห่งหนึ่งที่ปอยเปต มาทำสวนยางพารา 15 ไร่ต่อจากบิดา ในพื้นที่ อำเภอลำทับ จ.กระบี่ เมื่อปี 2551 จนประสบความสำเร็จ และเป็นผู้เข้าร่วมโครงการคนกล้าคืนถิ่นตั้งแต่ปี 2557 ในฐานะคนกล้าตนแบบเมื่อปี 2557 กล่าวว่าสิ่งที่โครงการคนกล้า ให้ก็คือ “กัลยาณมิตร”

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ฐานะอะไร แต่เมื่อผ่านกระบวนการคนกล้าแล้ว ทุกคนเท่าเทียมกัน  สามารถทำงานร่วมกัน ไปเจอกันที่ไหน ก็จะคุยกันแบบเป็นกันเอง คุยกันได้ทุกเรื่อง ช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ อย่างตอนนี้สวนของดิฉัน (จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง) กลายเป็นศูนย์บ่มเพาะของโครงการคนกล้า ก็จะมีเพื่อนๆ คนกล้ามาช่วยทุกครั้งที่มีกิจกรรมอบรมต่างๆ”

คุณพิศิษฏ์ เป็ดทอง (คนที่ 4 เสื้อเขียว) กับเหล่าคนกล้าคืนถิ่นภาคใต้
คุณพิศิษฏ์ เป็ดทอง (คนที่ 4 เสื้อเขียว) กับเหล่าคนกล้าคืนถิ่นภาคใต้

คุณพิศิษฏ์ เป็ดทอง คนกล้าคืนถิ่นรุ่นที่ 1 (พ.ศ.2558) ที่ลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ มาทำสวนกาแฟต่อจากบิดา ผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กาแฟขี้ชะมดรายแรกของจังหวัดกระบี่ และเป็นทีมงานวิทยากรอบรมร่วมกับคุณสุชัญญานมาศ กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของการอบรมคนกล้าคือ เขาสามารถละลายอัตตาของแต่ละคนให้มาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ นำความรู้และทักษะของแต่ละคน มาเสริมกันและกันได้จริง และยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้นั้นให้กับทุกคน

ถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้

ถอดบทเรียนความสำเร็จ 4 ประการ

ดร.จารุวรี กล่าวว่า งานวิจัยที่ไปสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากคนกล้าฯเหล่านี้ ได้ทำให้เห็นรูปแบบความสำเร็จของผู้ประกอบการเกษตรกลุ่มตัวอย่างประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถทำเกษตรกรกรรมโดยพึ่งพาตนเองได้ในหลายรูปแบบ ไมว่าจะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ เป็นต้นแบบแบ่งปันเกษตรเชิงวิถี, การรวมกลุ่มคนกล้าฯมีแนวคิดเดียวกัน,  การรขยายเครือข่ายของคนกล้า, การสร้างโอกาสให้กับเยาวชนในพื้นที่ในการสร้างรายได้จากการทำวิถีเกษตร, รูปแบบของคนกล้าที่เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ และคนกล้าที่ต้องการใช้เกษตรแบบธรรมชาติบำบัดเพื่อครอบครัวของตนเอง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จที่เหมือนกันอย่างน้อย 4 ประการ

หนึ่ง ปัจจัยภายในบุคคล อันมาจากความมุ่งมั่นและอดทนส่วนบุคคล การมีที่ดินเป็นของตนเอง และทรัพยากรน้ำเพียงพอไว้เป็นทุนตั้งต้นที่สำคัญ และการใช้ทักษะการบริหารและทักษะทางการเกษตรกรรมเพื่อจัดการแปลง การแปรรูปสินค้า และการทำตลาด สอง มีแรงสนับสนุนของครอบครัว สาม มีการสนับสนุนจากเครือข่ายและชุมชน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ การสนับสนุนด้านการตลาด และแหล่งทุน และ สี่ การส่งเสริมจากภายนอก ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และหน่วยงานวิชาการ ในรูปแบบรางวัลหรือการให้ทุนวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย”

เสวนาถอดบทเรียน
เสวนาถอดบทเรียน
คนกล้าร่วมเสวนา..ถอดบทเรียน

ในการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการวิจัยจังหวัดกระบี่และจังหวัดตรังครั้งนี้ ได้มีการไปพบปะกับคนกล้าคืนถิ่นหลายคน ภายใต้การนำของคณะกรรมการอำนวยการแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP) โดยนัดหมายกันที่ ศูนย์เรียนรู้ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต.ดินอุดม อ.ลำทับ จ.กระบี่ ซึ่งที่นั่นมี คุณสุชัญญานมาศ สุขาพันธ์ และเหล่าคนกล้าทั้งหลายมาร่วมให้การต้อนรับ ได้บรรยายให้ฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัย พร้อมพาเดินชม ตามจุดต่างๆ ของศูนย์เรียนรู้ ชีวิวิถีฯ  และช่วงบ่ายเหล่าคนกล้าได้ไปร่วมเสวนาถอดบทเรียนโครงการคนกล้าคืนถิ่นกันที่ร้านกาแฟขี้ชะมด ของ คุณพิศิษฐ์ เป็ดทอง คนกล้าคืนถิ่นรุ่นที่ 1 ซึ่งร้านกาแฟของเขาตั้งอยู่ในสวนกาแฟโรบัสต้าและใกล้ๆกันมีโรงเรือนเลี้ยงชะมดอันเป็นที่มาของกาแฟขี้ชะมดให้ชมด้วย โดยผู้ร่วมเสวนานอกจากจะประกอบด้วยคนกล้า 2 คนดังกล่าวแล้ว ยังมีเหล่าคนกล้าคืนถิ่นภาคใต้หลายคนเดินทางมาร่วมเสวนาในครั้งนี้

ถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้

  • คุณสุรชัย เจ๊ะละหวัง คนกล้า ต.ดินอุดม อ.ลำทับ จ.กระบี่ เขาเป็นคนกล้า รุ่น 2 เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว ยาง, ปาล์ม แต่ปัจจุบันหันมาทำเกษตรผสมผสาน ทำแปรรูปข้าว ปุ๋ยหมักแห้ง น้ำจุลินทรีย์ สวนป่า โดยเชื่อมโยงเครือข่ายกับตลาดเกษตรชุมชน อีกทั้งทำหน้าที่เป็นวิทยากรอีกด้วย
  • คุณสรพงษ์ สุขาพันธ์ คนกล้า ต.ดินอุดม อ.ลำทับ จ.กระบี่ จบ ปวส.ช่างยนต์ ปัจจุบันทำอาชีพการเกษตรควบคู่กับทำงานอิสระ เคยเข้าอบรมคนกล้าคืนถิ่นรุ่น 2 ปี 2559 ปัจจุบันทำการเกษตรแบบผสมผสาน ป่าพืชผักสมุนไพร ที่อยู่อาศัย ในเนื้อที่ 3 ไร่ กินขายแจกจ่าย เกิดรายได้ คือรายได้กับครอบครัว มีอากาศที่บริสุทธิ์มีสีเขียวเป็นป่าของครอบครัว
  • คุณภูมิพงษ์ ส่งเสริม คนกล้า ต.หนองปรือ อ.รัษฏา จ.ตรัง ก่อนหน้านี้ทำงานบริษัทจนกลับมาอยู่บ้าน ตามรอยพ่อแม่ สานต่ออาชีพเกษตรกร ต่อยอดปรับแนวทางไปในทางใหม่ๆและได้เข้าร่วมกระบวนการการอบรมคนกล้าคืนถิ่นรุ่นแรก ปี 2558 จนถึง ปี 2561 ที่ได้มีการอบรมของหน่วยงานพัฒนาชุมชน ตลอดจนได้ช่วยในการติดตามแปลงของคนกล้าคืนถิ่น ที่ต้องมีการตรวจเยี่ยมแปลง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีการติดตาม โดยร่วมกับบ้านบ่มเพาะ บ้านเขาดิน
  • คุณคำรณ กองแก้ว คนกล้า ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช อบรมคนกล้ารุ่นแรก ปี 2558 กิจกรรมที่มีเพาะเห็ดนางฟ้า อนุรักษ์ผึ้งโพรงไทย ชันโรง เลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตมูลไส้เดือนปลูกไผ่กิมซุง
  • คุณพรเทพ สุขศรีแก้ว คนกล้า ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้ชื่อว่าเป็นนักดนตรีสายเกษตรใช้ชื่อวงว่า เทพจิปาถะ โดยมีกลุ่มนักดนตรีกลุ่มใหญ่ที่ใช้ชื่อว่าสโมสรนักดนตรี อำเภอทุ่งสง ใช้ชีวิตอยู่ในวิถีเกษตรพอเพียงตั้งกลุ่มหมู่บ้านนักดนตรีในพื้นที่ 5 ไร่ เป็นคนกล้าแตกตัว รุ่น 6/2 อบรมมาจากบ้านป้าโรส อ.ขนอม จ.นครศรีฯ

ในการเสนวนาครั้งนี้มี ดร. จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมคณะนักวิจัยที่ร่วมเสวนาพูดคุยเพื่อถอดแบบคนกล้าคืนถิ่นแบบถึงลูกถึงคน (รายละเอียดเพิ่มเติมชมได้ที่ ถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นภาคใต้)

ถัดจากนั้นได้เดินทาง ไปยังจังหวัดตรัง เยี่ยมชมธุรกิจอาหารทะเลของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ BLISS FOOD Market โดยภายในร้านมีทั้งการให้บริการอาหารชื่อร้านปูม้าปาร์ตี้ นอกจากจะนำวัตถุดิบที่รับซื้อจากชาวประมงมาแปรรูป เป็นเมนูต่างๆ ยังปรุงสำเร็จแบบแช่งแข็งให้ซื้อไปรับประทานที่บ้าน พร้อมกับมีอาหารทะเลสดๆให้ซื้อไปปรุงที่บ้าน โดยใช้การขายผ่านระบบออนไลน์อีกด้วย ถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้

ในวันถัดมา (วันศุกร์ ที่ 21 สิงหาคม 2563) คณะกรรมการอำนวยการแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 ได้เดินทางไปที่ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการวิจัยแพรับซื้อสัตว์น้ำบ้านทุ่งเปลว ต.ตะเสะ ที่นี่รับซื้อปูม้าเป็นหลัก และจุดที่ 2 ไปดูงานที่แพรับซื้อสัตว์น้ำ บ้านหาดสำราญ ต.หาดสำราญ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ที่รับซื้อกุ้งเป็นการเฉพาะ จบจากการศึกษาดูงานแพรับซื้อสัตว์น้ำแล้ว คณะนักวิจัยและผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดได้เดินทางไปยังร้านอาหารอิ่มหนำสำราญ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับประทานอาหารเที่ยง ซึ่งที่ร้านอาหารแห่งนี้ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำเป็นธนาคารปูม้าและรับซื้อสัตว์น้ำเพื่อนำมาปรุงเป็นเมนูต่างๆขายให้กับนักท่องเที่ยวถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้

ช่วงบ่ายได้เดินทางไปที่ร้านกาแฟมาเจอนี่ เพื่อเสวนาหัวข้อเรื่อง “การขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์กรณีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลตลอดห่วงโซ่” โดยยกกรณีของอาหารทะเลแบรนด์ “กลางเล” มาเป็นกรณีศึกษา โดยมี ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเป็นผู้นำเสนอ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนบริษัท ตรังวิสาหกิจเพื่อสังคม(TSE) ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเล ผู้มีส่วนได้เสีย(ภาคีเครือข่าย) รวมทั้งผู้แทนจังหวัด ประมงจังหวัด ตัวแทนผู้บริโภค มาร่วมกันเสวนาถอดบทเรียนคนกล้าคืนถิ่นที่ภาคใต้

ทั้งหมดนี้คือการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการวิจัยและร่วมพูดคุยถอดบทเรียนกับคนกล้าคืนถิ่นตามแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP) ซึ่งหวังว่าจะเกิดขบวนการเครือข่ายคนกล้าคืนถิ่นที่เข้มแข็งในการที่จะเติมพลังชีวิตให้ชุมชนให้สมดังเจตนารมย์ของ ดร. สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated