ตะลึงสยามทิวลิป 4 พันธุ์ใหม่สายสวยสะกดสาย ตาชาวไทยและต่างชาติ
ตะลึงสยามทิวลิป 4 พันธุ์ใหม่สายสวยสะกดสาย ตาชาวไทยและต่างชาติ

กรมวิชาการเกษตร อวดโฉมปทุมมา 4 พันธุ์ใหม่สร้างความแปลกใหม่ในวงการไม้ดอกไม้ประดับ ชูจุดเด่นสุดทุกพันธุ์ สีสันสะดุดตา ออกดอกไว ให้ผลผลิตช่อดอกมาก ก้านช่อดอกตรง แข็งแรง อายุการใช้งานนานทั้งในกระถางและปักแจกัน หวังรักษาตลาดส่งออกพร้อมรองรับความต้องการตลาดต่างประเทศไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท / ปี เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย…

ตะลึงสยามทิวลิป 4 พันธุ์ใหม่สายสวยสะกดสาย ตาชาวไทยและต่างชาติ
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พืชกลุ่มกระเจียวและปทุมมา เป็นไม้ดอกเมืองร้อนที่มีสีสันสวยงาม โดดเด่น สะดุดตา มีรูปทรงที่สง่า มีความคงทนของอายุการออกดอกบนต้นและอายุการปักแจกัน ชาวต่างชาติจึงขนานนามไม้ดอกชนิดนี้ว่าสยามทิวลิป ประเทศไทยมีพื้นที่การผลิตปทุมมาประมาณ 400 ไร่  แหล่งผลิตใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน เลย ชัยภูมิ และกาญจนบุรี ถือเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญมีการส่งอออกไปต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ มีมูลค่าการส่งออก 30 – 40 ล้านบาท / ปี ในขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการหัวพันธุ์ปทุมมาไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท / ปี

ตะลึงสยามทิวลิป 4 พันธุ์ใหม่สายสวยสะกดสาย ตาชาวไทยและต่างชาติ

ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร เป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับประเภทเหง้าและอื่นๆ โดยเฉพาะดอกปทุมมาและกระเจียวมากกว่า 500 สายพันธุ์ ถือเป็นแหล่งเพาะสายพันธุ์ได้มากสุดในประเทศไทย โดยในปี 2538 เป็นต้นมาได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาโดย ตั้งโจทย์ในการวิจัยไว้ว่าต้องการพันธุ์ที่มีลักษณะแปลกใหม่จากพันธุ์ที่มีอยู่เดิมในท้องตลาด ทั้งทรงต้น ลักษณะช่อดอก  และสีของดอก  สำหรับใช้ผลิตเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถาง เกษตรกรและผู้ส่งออกสามารถนำพันธุ์ใหม่ไปปลูกทดแทนพันธุ์เดิม เพื่อเพิ่มผลผลิตและชนิดสินค้า ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น สามารถกระตุ้นตลาดและรักษาส่วนแบ่งของตลาดปทุมมาไทยได้ จนประสบความสำเร็จได้ปทุมมาพันธุ์ใหม่ขอรับการรับรองพันธุ์จากรมวิชาการเกษตรถึง 4 พันธุ์ซึ่งแต่ละพันธุ์มีลักษะเด่นที่แตกต่างกันไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปทุมมา 2 พันธุ์แรกเป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้กระถาง คือ ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 1 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ปทุมรัตน์ กับ เทพรำลึก  ลักษณะเด่น ช่อดอกเป็นทรงกระบอกสั้น กลีบประดับสีชมพูเข้ม กลีบเรียงซ้อนกันเป็นระเบียบสวยงามและบิดเป็นเกลียว ออกดอกเร็ว อายุปลูกถึงให้ดอก 50 – 70 วัน ผลผลิตช่อดอกมาก 3 – 4 ดอก/กอ อายุการใช้งานนาน 4 – 7 สัปดาห์

ตะลึงสยามทิวลิป 4 พันธุ์ใหม่สายสวยสะกดสาย ตาชาวไทยและต่างชาติ
ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 3

ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 3 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างปทุมรัตน์กับบัวขาว ลักษณะเด่น ช่อดอกเป็นทรงกระบอกสั้น กลีบประดับสีขาวบริสุทธิ์  สวยสะอาดตา เรียงตัวเป็นระเบียบ อยู่ระดับเดียวกับใบ ก้านช่อดอกตรง แข็งแรง เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้ดอกกระถางขนาดกลาง ออกดอกเร็ว อายุปลูกถึงให้ดอก 56 – 62 วัน ผลผลิตช่อดอก 2 – 3 ดอก/กอ และให้ดอกพร้อมกัน อายุการใช้งานในกระถางนาน 4 – 5 สัปดาห์

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ส่วนปทุมมาอีก 2 พันธุ์เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้ตัดดอกปักแจกัน คือ ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 2 เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ปทุมรัตน์ กับบัวขาว ลักษณะเด่น ช่อดอกเป็นรูปทรงกระสวย สวยงาม แปลกใหม่ กลีบประดับทั้งส่วนบนและส่วนล่างมีสีชมพู  ดูอ่อนหวาน ให้ผลผลิตช่อดอกมาก 6 – 8 ดอก/กอ การแตกกอดี ผลผลิตหัวพันธุ์ 5 – 9 หัว/กอ  อายุปักแจกันนานถึง 13 วัน

ตะลึงสยามทิวลิป 4 พันธุ์ใหม่สายสวยสะกดสาย ตาชาวไทยและต่างชาติ
ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 4

ปทุมมาพันธุ์เชียงราย 4 ลักษณะเด่น กลีบประดับแยกชั้นอย่างชัดเจน โดยกลีบประดับส่วนบนสีชมพูปลายกลีบแต้มสีเขียวลายเส้นสีแดง กลีบบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบประดับส่วนล่างสีเขียว ด้านล่างของกลีบมีวงสีน้ำตาลแดง ก้านช่อดอกตรงและแข็งแรง ผลผลิตช่อดอก 3 – 7 ดอก/กอ ผลผลิตหัวพันธุ์ 4 – 7 หัว/กอ  อายุปักแจกันนาน 14 วัน

ตะลึงสยามทิวลิป 4 พันธุ์ใหม่สายสวยสะกดสาย ตาชาวไทยและต่างชาติ

“ปทุมมาทั้ง 4 พันธุ์ใหม่เป็นผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายที่ต้องการสร้างความแปลกใหม่  และความหลากหลายของไม้ดอกไม้ประดับให้กับท้องตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในรูปของไม้ตัดดอก และไม้กระถาง โดยไทยมีตลาดส่งออกปทุมมาที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เยอรมนีเนเธอร์แลนด์ อเมริกา และเกาหลี ซึ่งเป็นตลาดที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อสูง เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร โทร.053-170100” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated