เมื่อเร็ว ๆนี้ พลอากาศเอกชลิต  พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองพันจันทร์  อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี พร้อมกับรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมผลผลิตของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้

18903

โดย พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2530

อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีขนาดความจุ 4.3 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ Pumping (ระบบส่งน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ) ความยาวรวม 20.935 กิโลเมตร และระบบ Gravity (ระบบส่งน้ำแบบโดยแรงโน้มถ่วงของโลก) ความยาวรวม 5.952 กิโลเมตร

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบส่งน้ำใช้งานได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรให้แก่ราษฎร ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 6,000 – 7,000 ไร่ มีกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด ซึ่งมีสมาชิก จำนวน 129 ราย ราษฎรส่วนใหญ่ปลูกผัก สับปะรด อ้อย และลำไย

“ทางตอนบนของอ่างห้วยมะหาดฯ ยังมีอ่างอยู่อีกหนึ่งแห่งที่ทำหน้าที่เก็บกักน้ำทางตอนบนในช่วงหน้าฝนแล้วส่งน้ำมายังอ่างห้วยมะหาดด้วยระบบท่อ  ทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดมีปริมาณน้ำเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะสังเกตเห็นว่าแม้ช่วงกำลังเข้าสู่ฤดูแล้งแล้วก็ยังมีน้ำต้นทุนอยู่ในอ่างเหลืออยู่กว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาทางกรมชลประทานได้มีการขุดลอกพื้นที่เก็บกักน้ำและตะกอนในอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดเพิ่มเติมเป็นการต่อยอดขยายผลความสามารถในการเก็บกักน้ำของอ่างให้มีมากขึ้น “

18896

“ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในอ่างนอกจากจะส่งไปยังแปลงเพาะปลูกของราษฎรในพื้นที่แล้วก็ยังส่งไปยังอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทางตอนล่างของอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอีกหลายอ่างให้เพิ่มขึ้นด้วย  ประชาชนก็จะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ทั่วถึง และกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ก่อนที่น้ำจะไหลไปยังพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีต่อไป ที่สำคัญยังจะช่วยลดความรุนแรงจากกระแสน้ำในช่วงหน้าฝนที่มีปริมาณมากและมักก่อเกิดภาวะน้ำท่วมน้ำหลากในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีได้อีกด้วย” องคมนตรีกล่าว

ทางด้าน นายจันทร์ เรืองเรรา ปราชญ์ชาวบ้าน  ราษฎรหมู่ที่ 5 ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี หนึ่งในคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยมะหาด กล่าวว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่ท่านองคมนตรีและคณะเดินทางมาเยี่ยม ราษฎรในพื้นที่ ตลอดมาคณะกรรมการมีการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดเป็นอย่างดี สนับสนุนการใช้ประโยชน์ของเกษตรกรได้อย่างเต็มที่และสามารถประกอบอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในพื้นที่ปัจจุบันมีการปลูกพืชผลหลากหลาย เช่น สับปะรด อ้อย มันสำปะหลัง ตลอดถึงผักและผลไม้หลายชนิดซึ่งล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำแห่งนี้ทั้งสิ้น

18899

“ที่สำคัญราษฎรในพื้นที่ได้หันมาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำรงชีวิตและทำกิน โดยเฉพาะการเพาะปลูกโดยจะปลูกพืชผักและไม้ให้ผลชนิดต่างๆ แบบผสมผสาน บางรายก็ใช้หลักทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติ ไม่ปลูกพืชเชิงเดียว เพราะจะทำให้พื้นที่แห้งแล้ง และต้องใช้พื้นที่มาก แต่หากปลูกแบบผสมผสานจะมีพืชผักไม้ยืนต้นให้ผลผสมกันจะสร้างความร่มรื่นและความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ทำให้น้ำใต้ดินมีมากขึ้น”

“ทำนาข้าว ปลูกพืชผัก ปลูกอ้อย โดยมีสับปะรดเป็นพืชหลัก จากที่ปลูกพืชหลายชนิดทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายมีรายได้ทั้งรายวันรายเดือนและรายปี  ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยวเมื่อหมดผลผลิตก็หมดรายได้ไปด้วยปีไหนราคาผลผลิตตกต่ำก็ขาดทุนและไม่มีเงินใช้จ่ายตลอดทั้งปีต้องเป็นหนี้เพราะต้องกู้มาใช้จ่ายประจำวัน ทุกคนปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์พระราชทานแหล่งน้ำแห่งนี้มาให้ และตื้นตันใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงสานต่อในโครงการทำให้โครงการได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เช่น การขุดลอกอ่างเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น” นายจันทร์ กล่าว

18902

ส่วน นายอภิเดช  โตประสิทธิ์  ราษฎรบ้านหนองพันจันทร์  อำเภอบ้านคา    หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยมะหาดฯ   เผยว่าตน ปลูกกล้วย ปลูกมะพร้าว และ ลำไย บนพื้นที่ 20 ไร่ มีการจัดแบ่งเป็นโซน พร้อมปลูกผักแซมต้นไม้ใหญ่เพื่อบริโภคในครัวเรือน โดยได้น้ำจากโครงการห้วยมะหาดมาใช้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เนื่องจากทางโครงการจะมีการแบ่งน้ำให้ประชาชนใช้อย่างทั่วถึง  ตอนนี้พืชที่ปลูกมีความสมบูรณ์ผลผลิตออกมาดีขายได้ราคา รายได้ปัจจุบันนับว่าอยู่ได้เพียงพอกับรายจ่ายของครอบครัว

“เมื่อก่อนลำบากมากเพาะปลูกอะไรก็ไม่สมบูรณ์ขาดน้ำมาบำรุงต้นพืช ผลผลิตที่ได้รับไม่เต็มที่ ตอนนี้ถือว่าสามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะผลผลิตดีมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และทั่วถึงทางโครงการได้สร้างหัวจ่ายน้ำไว้ให้ถึงพื้นที่เพาะปลูกทุกครัวเรือน ปัจจุบันมีมากกว่า 200 หัวจ่ายมีแปลงเพาะปลูก 200 กว่าแปลงเนื้อที่โดยรวมประมาณ1,000 ไร่ได้รับน้ำตลอดทั้งปีอย่างเพียงพอ”  นายอภิเดช  กล่าว

18897

ด้าน นางนิศรา สุขสีขาว อีกหนึ่งราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงอ่างเก็บน้ำห้วยมะหาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเดิมมีอาชีพเป็นลูกจ้างในโรงงานเป็นเวลาถึง 20 ปี แต่ชีวิตก็ยังไม่มีอะไร จึงหันมาทำการเกษตรในพื้นที่ของครอบครัวจำนวน  40 ไร่ ด้วยการปลูกข่าขายและรับซื้อจากเพื่อนบ้าน ส่งตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  ปัจจุบันชีวิตเปลี่ยนมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีบ้านมีรถยนต์เป็นของตัวเอง  ปราศจากหนี้สินชีวิตมีความสุขดังพระราชประสงค์ที่ได้พระราชทานไว้อย่างแท้จริง

18900

“ทิ้งเงินเดือนระดับปริญญาตรีมาปลูกข่าขายมีรายได้วันละเป็นหมื่นบาท เดือนหนึ่งหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีรายได้ร่วมแสนบาท ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พ่อสร้างไว้ให้ รู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่ท่านองคมนตรีและคณะเดินทางมาเยี่ยมถึงพื้นที่ในไร่ข่าครั้งนี้ นับเป็นบุญที่ตัวแทนของพระองค์เดินทางมาเยี่ยมชมการทำการเกษตรแบบใกล้ชิด  ตนจะเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะแนวทางการทำเกษตรแบบเกษตรพอเพียง จะอยู่อย่างพอเพียง ใช้จ่ายอย่างประหยัด และเป็นคนดีในสังคมสืบไป” นางนิศรา กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated