ปลูกเมล่อนและผลไม้ในโรงเรือน แบบเน้นคุณภาพ...ของ “สวนนานาพันธุ์” จ.ตาก
“สวนนานาพันธุ์” สมชื่อจริงๆ ปลูกทั้งเมล่อน มะเขือเทศ แตงโม...ในภาพนี้มีนักท่อ งเที่ยวมาเยือน เรียกว่าได้ทั้งความอร่อยและความรู้ครบเครื่อง

เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกกล

“สวนนานาพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งครอบครัวตัวอย่างของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาที่นำมาสู่ความสำเร็จของอำเภอพบพระจังหวัดตาก”

ผู้การอ้วน ศิลปชัย ธัญการกรกุล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาพบพระจังหวัดตาก บอกกล่าวในขณะนำเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมการเกษตรของสวนนานาพันธ์ุ ที่มี ดาบตำรวจสายยล และ ณุกูลจิต ชาพรมา เป็นเจ้าของ โดยตั้งอยู่เลขที่ 66 หมู่ที่ 7 ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก โทร. 08-9644-8934

ผู้ให้กำเนิดสวนนานาพันธุ์...
ผู้ให้กำเนิดสวนนานาพันธุ์…

“ที่สวนของเราจะเน้นเรื่องคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ เพราะต้องการให้ลูกค้าได้รับประทานผลผลิตที่มีรสชาติอร่อยที่สุด” พี่ณุ-ณุกูลจิต ชาพรมา ผู้เป็นภรรยาบอกถึงหลักการสำคัญของการทำสวนของที่นี่

ครอบครัวสวนนานาพันธุ์กับผู้มาเยือน
ครอบครัวสวนนานาพันธุ์กับผู้มาเยือน

สวนนานาพันธุ์ เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นที่จะสร้างอาชีพเสริม และจะเป็นอาชีพหลักหลังเกษียณของ ด.ต.สายยล เขาจึงตัดสินใจพลิกพื้นที่ที่เคยเป็นนาข้าวให้กลายเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพตามมาตรฐาน หรือมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP)

โดยภายใต้การทำงานในรูปแบบครอบครัวที่ทุกคน ไม่ว่าผู้เป็นภรรยา พี่ณุ-ณุกูลจิต และลูกๆ ที่ประกอบด้วย ปักษ์อิสรา ชาพรมา และ ธิดารัตน์ เขมะสถิตย์ ซึ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 78 ภัทรนันทร์ ชาพรมมา นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 81 ต่างทุ่มเทและมุ่งมั่นกับการลงมือทำ บวกกับพลังแห่งการสนับสนุนของ ธ.ก.ส.

วันนี้สวนนานาพันธ์ุจึงก้าวเดินได้อย่างมั่นคงด้วยกิจกรรมการปลูกผลไม้ในโรงเรือน ที่หลากหลายโดยเฉพาะเมล่อน องุ่นไร้เมล็ด และแตงโม ที่สร้างชื่อให้เป็นอย่างมาก

“ของเราวันนี้ยังไม่ได้เน้นในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรมากนัก แต่ก็เปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม แลกเปลี่ยนความรู้ และเลือกซื้อผลผลิตสดๆจากสวนที่เราการันตีได้เลยในเรื่องคุณภาพ เพราะแนวทางของเราจะเน้นด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ การทำให้ลูกค้าพึงพอใจนั้นคือสิ่งที่ทางสวนของเราต้องการ” พี่ณุกล่าว

องุ่นในโรงเรือนก็สวย
องุ่นในโรงเรือนก็สวย
ทุกอย่างไม่ง่าย ต้องใส่ใจ

พี่ณุ-ณุกูลจิต บอกว่า การทำเกษตรของสวนนานาพันธุ์จะเน้นการปลูกในโรงเรือนเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีโรงเรือนทั้งหมด 24 โรงเรือนที่ใช้ในการปลูกเมล่อนพันธุ์ต่างๆ เช่น จันทร์ฉาย อัคนีคิโมจิ มะเขือเทศราชินี แตงโม และองุ่นไร้เมล็ด

“แต่ด้านนอกโรงเรือนเราก็จัดสรรพื้นที่ออกเป็นแปลงไม้ผลชนิดต่างๆอีก อาทิ อะโวกาโด้ น้อยหน่า ชมพู่ เป็นต้น”

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่นำมาใช้ในสวนแห่งนี้ หลักๆ มาจากการสั่งซื้อจากบริษัทเอกชนในประเทศ แต่ก็มีบางส่วนที่มีเพื่อนและคนรู้จักได้นำเมล็ดพันธุ์โดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาให้ปลูก

แตงโมในโรงเรือนได้คุณภาพมาก
แตงโมในโรงเรือนได้คุณภาพมาก

ปักษ์อิสรา หรือที่ทุกคนเรียกว่า “ปักษ์” บอกเล่าในขณะพาเยี่ยมโรงเรือนส่วนที่ใช้ในการเพาะกล้า ที่มีการคิดค้นพัฒนาจนได้เทคนิคการเพาะกล้าที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนตัวเอง

“เทคนิคการเพาะกล้าเมล่อนและแตงโมที่สวนของเราจะนำเมล็ดมาแช่ในน้ำที่เป็นส่วนผสมของน้ำอุ่น ด้วยการนำน้ำร้อนและน้ำเย็นมาผสมกัน นานประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะนำไปห่อไว้ในผ้า แล้วใส่ลงในกระติกน้ำ ตั้งไว้ให้ได้รับแดดเช้าถึงเที่ยง นานประมาณ 3 วัน จะเปิดออกดู เพื่อนำเมล็ดที่งอกรากไปลงปลูกในถาดเพาะกล้า ส่วนเมล็ดที่ไม่งอกนั้นจะนำไปกลับไปแช่น้ำใหม่อีกครั้ง และทำตามกรรมวิธีเดิม จะช่วยทำให้เมล็ดนั้นงอกรากออก”

กรรมวิธีดังกล่าว ถือว่าเป็นเทคนิคการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ดพันธุ์ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนค่าเมล็ดพันธ์ุได้เป็นอย่างดี

“เมล็ดเมล่อน เมล็ดหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 5 บาทขึ้น อย่างสายพันธุ์ คิโมจิ ต้นทุนต่อเมล็ดอยู่ที่ 7 บาทเลยนะ” พี่ณุ กล่าวเสริม และว่า

“ทุกอย่างนั้นไม่ง่ายเลย ต้องใส่ใจเอามากๆทุกขั้นตอน”

พี่ณุ ยกตัวอย่างถึงการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช อันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัดสนใจเลือกใช้วิธีการปลูกในโรงเรือนเป็นหลัก

“อย่างโรงเรือนนี้ ต้องรีบเข้ารีบปิด เพื่อป้องกันแมลง แต่ที่เราปฏิบัติจริงๆนั้นจะไม่เปิดให้คนนอกเข้า ”

เมล่อนคือไม้ผลหลักที่ปลูกในโรงเรือน...มีหลายสายพันธุ์
เมล่อนคือไม้ผลหลักที่ปลูกในโรงเรือน…มีหลายสายพันธุ์
ปลูกแบบสวนนานาพันธุ์

การประกอบอาชีพทำสวนของครอบครัวชาพรมาจะเน้นการปฏิบัติแบบประณีต และใส่ใจในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดีที่สุด

โดยการจัดการต้นเมล่อนที่ปลูก หลังจากนำต้นกล้ามาลงปลูกในโรงเรือนได้ประมาณ 1 อาทิตย์ จะทำการขึ้นเชือกเพื่อพยุงต้นเมล่อน มีการตัดแขนง จัดยอดให้เลื้อยตรงขึ้นไป โดยความสูงของลำต้นนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 เมตรเท่านั้น

“โรงเรือนของเราจะมีขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 24 เมตร โรงเรือนหนึ่งจะปลูก 3 แถวๆละ 60 ต้น ระหว่างห่างระหว่างต้นประมาณ 50- 70 เซนติเมตร ทั้งนี้ในการปลูกเมล่อนนั้น เราจะมีการเตรียมดินให้ดี โดยใช้รถเข้ามาไถพรวนเตรียมดิน จากนั้นจะใส่ปุ๋ยคอกผสมกับเชื้อไตรโครเดอร์ม่าด้วยเพื่อช่วยป้องกันเชื้อรา แล้วเสริมด้วยปุ๋ยเคมีหลังจากเตรียมดินยกร่องแล้วจะปูด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อช่วยควบคุมความชื้อและกันการเกิดของวัชพืช แล้วนำต้นกล้ามาปลูก” พี่ณุกล่าว

หลังจากปลูกพอได้อายุประมาณ 10 วัน จะทำการเด็ดแขนง จับยอดให้ตรงแล้วขึ้นเชือกเพื่อพยุงให้ต้นเลื้อยขึ้นไปเรื่อยๆ โดยจะควบคุมความสูงของต้นไม่สูงมาก

ปักษ์ กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องควบคุมการเกิดโรคระบาดให้ได้ โดยเทคนิคที่ทางสวนใช้นั้นจะเน้นเรื่องการถ่ายเทของอากาศ โดยระยะปลูกต้องให้มีความห่างของต้นที่พอดี และการตั้งโรงเรือน ต้องตั้งในมุมที่เหมาะกับการได้รับแสงแดดของต้นเมล่อน

ความใส่ใจของทุกคนในครอบครัวทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพ
ความใส่ใจของทุกคนในครอบครัวทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพ

ส่วนการผสมเกสรเมล่อน มีคำอธิบายว่า จะผสมเกสรในแขนงที่ 8,9,10 และ 11 เมื่อติดผลแล้วจะทำการเลือกเอาลูกที่สมบูรณ์สวยงามที่สุดไว้เพียงต้นละ 1 ลูกเท่านั้น

“ในช่วงติดลูก จะใส่ปุ๋ยสูตรต่างๆให้ตามความต้องการของลำต้น โดยใส่ประมาณ 3 – 4 ครั้งจนกว่าจะเก็บผล ซึ่งจะใส่มากใส่น้อยหรือใส่บ่อยแค่ไหนนั้นจะต้องพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้น สภาพอากาศ อันนี้ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อใส่ปุ๋ยให้ถูกความต้องการของเมล่อนในแต่ละพื้นที่” พี่ณุ กล่าวเสริม

มะเขือเทศในโรงเรือนสวยไม่แพ้เมล่อน
มะเขือเทศในโรงเรือนสวยไม่แพ้เมล่อน

ขณะที่การปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน หนึ่งในเทคนิคที่น่าสนใจคือ การจัดรูปแบบค้างปลูกต้นมะเขือเทศ ที่จะเน้นให้ทรงพุ่มด้านบนแผ่กว้างออก โดยปลูกแบบต้นคู่แล้วจัดทรงต้นให้ออกเป็นรูปตัว y

“การจัดการแบบนี้ เป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้ต้นมะเขือเทศเติบโต โดยไม่เบียดกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการร่วงของดอก อันนี้ได้มาจากการสังเกตว่า ต้นมะเขือเทศที่ขึ้นแบบเบียดชิดกันนั้นจะมีปัญหาดอกร่วงมากอีกทั้งยังเป็นการทำให้ต้นมะเขือเทศได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่อีกด้วย” ปักษ์ กล่าว

นำผลผลิตออกโชว์ สังเกตดูมีฟักทองยักษ์ด้วย
นำผลผลิตออกโชว์ สังเกตดูมีฟักทองยักษ์ด้วย
ตลาดเน้นทำออนไลน์

ในส่วนของด้านการตลาด ทางสวนนานาพันธุ์จะเน้นการทำตลาดแบบออนไลน์เป็นหลัก โดยจะมีการประชาสัมพันธุ์ผ่านทางเพจ สวนนานาพันธุ์ –Nanapantgarden ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตและช่วงเวลาจำหน่าย

“เราจะมีการนำเสนอทั้งผ่านเป็นภาพบรรยากาศสวน ภาพผลผลตสวยๆ เป็นข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับคุณภาพของผลผลิตชุดนั้น ลักษณะวิธีการปลูก การใส่ใจดูแลที่เน้นทำแบบประณีต ออกไปสู่ผู้สนใจ และที่สำคัญประการอีกประการที่ทำให้การจำหน่ายผลผลิตของเราไม่มีปัญหาเลย คือ การบอกต่อกันแบบปากต่อปาก เพราะเมื่อได้ชิมแล้วอร่อย รสชาติดี ถูกใจ จะมีการปลูกต่อไปยังเพื่อนๆ บางทีลูกยังไม่สุกเลย แต่เราก็นำเสนอภาพให้เห็นก่อนว่าอีกไม่นานพร้อมจำหน่าย ปรากฏว่า มีคนสนใจสั่งมาเลย 10 กล่อง ซึ่งจุดนี้ช่วยทำให้เรามีลูกเพิ่มมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง” ปักษ์ กล่าวในที่สุด

ทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นที่สวนนานาพันธุ์…อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

ครอบครัวนานพันธุ์กับจักรเกษตรที่ช่วยงานกันมานานปี
ครอบครัวนานาพันธุ์กับจักรกลเกษตรที่ช่วยงานกันมานานปี
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated