เปิดแผนพัฒนาโครงการส่งน้ำฯ นครนายก กรมชลประทานเร่งศึกษาเพื่อประโยชน์สูงสุด
คณะผู้บริหารกรมชลประทานลงพื้นที่นครนายก ร่วมกับคณะสื่อมวลชน เพื่อติดตามผลการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ นครนายก

แม่น้ำนครนายก เป็นลำน้ำสายสำคัญของจังหวัดนครนายก มีต้นน้ำจากภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตอำเภอปากพลี โดยไหลผ่านทุกอำเภอในจังหวัดนครนายก ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรี  เป็นแม่น้ำบางปะกงที่ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี รวมความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร ถือว่าเป็นสายน้ำสำคัญของประชาชนในพื้นที่แห่งนี้

เพื่อให้การนำน้ำจากแม่น้ำนครนายก รวมถึงลำน้ำสาขามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรมชลประทาน จึงได้มีการดำเนินก่อสร้างโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายกขึ้น และมีการก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2479 โดยสถานที่ตั้งโครงการฯ อยู่ที่บ้านท่าหุบ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง

ภายในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก มีที่ส่วนสำคัญ คือ ส่วนของหัวงานอันเป็นที่ตั้งเขื่อนทดน้ำที่มีชื่อเรียกว่า เขื่อนนายก มีคลองส่งน้ำสายใหญ่ 4 สาย รวมความยาว 77.92 กิโลกเมตร และคลองซอย/คลองแยกซอย จำนวน 29 สาย ความยาว 119.25 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานในจังหวัดนครนายกได้ถึง 340,563 ไร่

นายสุชิน ชลอศรีทอง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก
นายสุชิน ชลอศรีทอง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก

นายสุชิน ชลอศรีทอง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการส่งน้ำชลประทานในปัจจุบันของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายกได้แบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่

หนึ่ง ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงบรักษาที่ 1 ที่ทำการอยู่ที่บริเวณหัวงงานประตูระบายน้ำท่าช้าง พื้นที่ชลประทาน 33,644 ไร่ ส่งน้ำแบบนอนทุ่ง คือปล่อยให้ระดับน้ำในแปลงนาสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตของข้าว

สอง ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 ที่ทำการอยู่ที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางปลากด พื้นที่ชลประทาน 72,688 ไร่ ส่งน้ำแบบนอนทุ่งเช่นกัน

สาม ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 ที่ทำการอยู่ที่บริเวณหัวงานประตูระบายน้ำคลองเหมือง พื้นที่ชลประทาน 128,952 ไร่ ส่งน้ำแบบนอนทุ่งโดยใช้คลองเหมืองและคลองส่งน้ำสาย 1 ควบคุมน้ำในทุ่ง

สี่ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 ที่ทำการอยู่บริเวณหัวงานประตูน้ำนายก พื้นที่ชลประทาน 105,279 ไร่ ส่งน้ำแบบนอนทุ่ง

โดยแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายกที่ใช้ในพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่โครงการ และกรณีน้ำไม่เพียงพอจะใช้น้ำต้นทุนเสริมจากปริมาณน้ำท่าจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ขณะที่ฤดูแล้ง จะขอรับการสนับสนุนจากเขื่อนขุนด่านปรากการชล โดยจะมีการจัดรอบเวนการส่งน้ำอย่างเคร่งครัด

นางภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ (เสื้อเหลือง) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน)  กรมชลประทาน
นางภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ (เสื้อเหลือง) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) กรมชลประทาน

ทั้งนี้ นางภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน)  กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก เป็นโครงการที่รับน้ำต้นทุนหลักมาจากแม่น้ำนครนายก และลำน้ำสาขาต่างๆ มาถึงวันนี้มีอายุการใช้งานมานานกว่า 80 ปีแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลงจนอาคารชลประทานบางแห่งชำรุดเสียหาย

“แม้ว่าได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม การใช้ที่ดิน การเพาะปลูก กิจกรรมการใช้น้ำ ที่เกิดจากการพัฒนาเขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้โครงสร้างอาคารชลประทานและการบริหารจัดการน้ำไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน จนเกิดปัญหาทั้งด้านการส่งน้ำ การระบายน้ำ คุณภาพน้ำ และปัญหาดินเปรี้ยวที่เป็นลักษณะเดิมของพื้นที่อยู่แล้ว” นางภัทราภรณ์กล่าว

คณะสื่อมวลชน เตรียมลงเรือสำรวจแม่น้ำนครนายก
คณะสื่อมวลชน เตรียมลงเรือสำรวจแม่น้ำนครนายก
กรมชลประทานเดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมฯ

ดังนั้น กรมชลประทาน จึงได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการปรับปรุงระบบชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก จังหวัดนครนายก ขึ้น

“กรมชลประทาน เห็นสมควรที่จะศึกษาหาแนวทางปรับปรุงทั้งระบบ เพื่อให้สามารถใช้งานต่อไปอีกยาวนาน”

โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก จังหวัดนครนายก ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการในครั้งนี้ ยังได้รวมดำเนินการในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชลอีกด้วย เพราะแหล่งน้ำต้นทุนส่วนหนึ่งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายกมาจากเขื่อนขุนด่านปราการชล  ทำให้โครงการทั้งสองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำเป็นภาพรวมทั้งระบบ

“แม้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชลจะก่อสร้างได้ประมาณ 9 ปี ถึงแม้ระบบส่งน้ำยังใช้งานได้ดี แต่ระบบกระจายน้ำยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ อีกทั้งมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำนครนายกที่นับวันจะรุนแรงขึ้น”

“ทั้งหมดนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชล และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำนครนายก มีประสิทธิภาพมากขึ้นสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน รวมทั้งให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กนช.)”

โดยในการดำเนินงานการศึกษานั้น ทางกรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีไว พลัส จำกัด และบริษัท สามารถ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก จังหวัดนครนายกกรมชลประทาน ศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ นครนายก

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ รวมถึงระบบลำน้ำที่มีอยู่เดิม ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ แก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม การใช้ที่ดิน การเพาะปลูก กิจกรรมการใช้น้ำในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำนครนายก ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบลุ่มน้ำข้างเคียงและลุ่มน้ำหลัก ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความสมดุลระหว่างการใช้น้ำ การป้องกันอุทกภัย และการรักษาคุณภาพน้ำ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เขื่อนนายก ที่จะทำการปรับปรุงใหม่
เขื่อนนายก ที่จะทำการปรับปรุงใหม่
แนวทางการพัฒนาที่ต้องดำเนินการ

ในวันนี้ การดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการปรับปรุงระบบชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก โดยบริษัทที่ปรึกษาได้ผลสรุป และนำมาสู่การจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการเพื่อนำเสนอผลการศึกษา และรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการฯ ไปเมื่อเร็ว ๆนี้

ทั้งนี้นางภัทราภรณ์ ได้กล่าวถึงผลจากการศึกษาว่า สำหรับในแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยนั้นจะมีการดำเนินการที่ประกอบด้วย

หนึ่ง การบริหารจัดการเขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนบางปะกง เขื่อนนายกและระบบชลประทาน

สอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำชั่วคราวเป็นระยะๆ ทั้งในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก

สาม เพิ่มระบบสูบระบายบริเวณปลายคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานและจุดควบคุมที่สำคัญ เพื่อเร่งการระบายน้ำและลดระยะเวลาน้ำท่วมขังไม่ให้เกิดความเสียหายในพื้นที่

สี่ ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมประจำในการช่วยชะลอน้ำหลาก ผันน้ำจากแม่น้ำนครนายกเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

และห้า ติดตั้งระบบสูบระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำนครนายกในลักษณะของการพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลากที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำในลักษณะของแก้มลิงแม่น้ำ

เขื่อนขุนด่านปราการชล
เขื่อนขุนด่านปราการชล
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ประกอบด้วย

หนึ่ง การปรับปรุงรูปแบบการระบายน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล จะมีน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 103 ล้าน ลบ.ม./ปี

สอง ปรับปรุงระบบส่งน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน/ลดการสูญเสียน้ำ จะทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม./ปี

สาม จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติม 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองมะเดือ  ขำนวน 85 ล้าน ลบ.ม./ปี และ อ่างเก็บน้ำบ้านนา จำนวน 42 ล้าน ลบ.ม./ปี

สี่ ปรับปรุงระบบการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน จะช่วยลดการใช้น้ำประมาณ 163 ล้าน ลบ.ม. /ปี โดยขณะนี้การขาดแคลนน้ำส่วนใหย่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตชลประทาน โดนมีปริมาณน้ำขาดแคลนประมาณ 257 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งต้องมีการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลง และเพิ่มการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งหากดำเนินการได้จะสามารถลดการใช้น้ำลงได้ตามจำนวนดังกล่าว

ที่สำคัญอีกประการได้แก่ แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและระบายน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายกและขุนด่านปราการชล นางภัทราภรณ์กล่าวว่า สำหรับในส่วนนี้มีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคลองและอาคาร และก่อสร้างอาคารใหม่

“อาทิเช่น ปรับปรุงเขื่อนนายก ซึ่งจะมีการยกระดับน้ำที่อัดหน้าเขื่อน+4.30 ม.รทก. โดยปรับปรุงองค์ประกอบเดิม และก่อสร้างองค์ประกอบเพื่อม เพื่อให้สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพในการส่งน้ำ รวมถึงการปรับปรุงประตูระบายน้ำ 5 แห่ง ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 10 แห่ง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 6 แห่ง ปรับปรุงดาดคอนกรีตคลอง 10 สาย ระยะทาง 77 กม. ขุดลอกปรับปรุงคลอง 27 กม. เป็นต้น”

จากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว จะทำให้มีน้ำชลประทานใช้ทั้งในฤดูฝนและในฤดูแล้ง เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนสุทธิทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดความเสียหายจากอุทกภัย ประมาณ 45 ล้านบาทต่อปี

ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ช่วยในการพัฒนาด้านชลประทานในพื้นที่จังหวัดนครนายกแห่งนี้ โดยกรมชลประทาน…เปิดแผนพัฒนาโครงการส่งน้ำฯ นครนายก

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated