ชาวนาสุพรรณบุรี-สวณีย์ โพธิ์รัง เปิดเคล็ดลับผลิตสารชีวภัณฑ์ ป้องกันแมลงนาข้าว
ชาวนาธงเขียว...สวณีย์ โพธิ์รัง เป็นหนึ่งในชาวนาตัวอย่างในการนำสารชีวภัณฑ์เข้ามาทดแทนการใช้สารเคมีในนาข้าว...

เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

“สวณีย์ โพธิ์รัง” Smart Farmer ของอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในชาวนาตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จ ในการนำสารชีวภัณฑ์เข้ามาทดแทนการใช้สารเคมีในแปลงนา ตามการส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเดิมบางนางบวช

ขณะเดียวกันยังได้รับคัดเลือกจาก กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้ารับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ชนะเลิศระดับศูนย์ข้าวจังหวัด ปี 2561 และครูบัญชีฟาร์มดีเด่นระดับจังหวัดของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

ชาวนาสุพรรณบุรี-สวณีย์ โพธิ์รัง เปิดเคล็ดลับผลิตสารชีวภัณฑ์ ป้องกันแมลงนาข้าว

“สำหรับข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ กข 43 ซึ่งมีจุดเด่นในด้านเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ปัจจุบันได้จำหน่ายให้ผู้สนใจ ทั้งการขายเองที่บ้าน และผ่านออนไลน์”

ด้วยเป็นคนหัวไวใจสู้ และการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอเดิมบ้านนางบวชอย่างเข้มข้น ได้ทำให้ Smart Farmer ผู้นี้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูก เน้นการลดต้น ด้วยการใช้เคมีต่างๆ ให้น้อยที่สุดและใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่างเช่น สารเคมีคุมฆ่าวัชพืช สารเคมีกันเชื้อราในช่วงข้าวออกรวง ยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้อยู่ แต่ในเรื่องการป้องกันกำจัดแมลง จะเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์เข้ามาทดแทน

“นาข้าวเราคงไม่สวยและได้ข้าวที่ปลอดภัยแบบนี้ ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือจากทางสำนักงานเกษตรอำเภอที่นำองค์ความรู้เทคนิคต่างๆ เข้ามาแนะนำโดยเฉพาะในเรื่องสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เริ่มตั้งแต่เข้ามาสอนให้ทำ ช่วยติดต่อขอเชื้อให้มาขยายพันธุ์ รวมถึงวิธีการใช้ให้ประสบความสำเร็จ” สวณีย์ กล่าวด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุขในบริเวณแปลงนาที่ตั้งอยู่ 77 หมู่ 4 ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช โทร.08-7805-5479

“ตอนนี้เรามีการใช้ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า มาแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อป้องกันโรครา มีการใช้เชื้อบีที เพื่อป้องกันกำจัดหนอนศัตรูข้าว และใช้เชื้อบิวเวอเรียเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมถึงการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน และการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง มาช่วยในด้านของการเจริญเติบโตทำให้ใบเกิดการสังเคราะห์แสงให้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้ฮอร์โมนเร่งด่วนหรือฮอร์โมนไข่ เข้ามาช่วยเสริมด้วยช่วยให้ต้นข้าวออกรวงสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสูตรที่ชาวนาสามารถผสมและเชื้อพ่นได้เลย ไม่เป็นอันตรายต่อต้นพืช ตัวเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม”

ชาวนาสุพรรณบุรี-สวณีย์ โพธิ์รัง เปิดเคล็ดลับผลิตสารชีวภัณฑ์ ป้องกันแมลงนาข้าว

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทำอย่างไร?

ด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ไปยังเพื่อนชาวนาที่สนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อมาศึกษาดูงานยังสถานที่แห่งนี้ จะมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจให้ได้นำกลับไปใช้มากมาย อย่างการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง โดย สวณีย์ บอกว่า เป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้ต้นข้าวเกิดการสังเคราะห์แสงได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เจริญเติบโตได้ดี ต้นเขียวเจริญงอกงาม ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว หลังจากการใช้จุลินทรีย์ชนิดนี้ด้วยการฉีดพ่น หรือหยดลงในแปลงนา

สำหรับการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง สวณีย์บอกว่า วิธีการทำไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์ที่สำคัญ จะประกอบด้วย หนึ่งหัวเชื้อจุลินทรีย์ สอง ไข่ไก่ 1 ฟอง สาม ผงชูรส 1 ช้อนชา สี่ หัวน้ำปลา ซึ่งได้จากการหมักปลา และตากแดดไว้ โดยไม่ผ่านการต้ม ในหัวน้ำปลาจะมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และ 5 น้ำสะอาด โดยมีข้อแนะนำว่า ถ้าใช้น้ำประปาหรือน้ำฝน รวมถึงน้ำจากบ่อบึงต่างๆ ควรต้องมีการนำน้ำนั้นมาตากแดดไว้กลางแจ้งนาน 1 อาทิตย์ เพื่อให้คลอลีนหรือสิ่งเจือปนต่างๆ สลายไปให้หมดก่อน

จากส่วนผสมสูตรนี้จะสามารถทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงได้จำนวน 5 ลิตร

ขั้นตอนการทำ

  1. เริ่มจากการนำไข่ไก่มาตอกลงในถ้วย แล้วตีเหมือนกับการทำไข่เจียว
  2. จากนั้นใส่ผงชูรสลงไป 1 ช้อนชาแล้วคนให้เข้ากัน
  3. ตามหัวน้ำปลา จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นค้นให้เข้ากัน
  4. นำน้ำสะอาดบรรจุลงในขวดขนาด 1 ลิตร โดยให้มีปริมาณสูงห่างจากคอขวดลงมาประมาณ 3 นิ้ว พร้อมทั้งเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้ลงไป จนเกือบเต็มขวด
  5. นำส่วนผสมที่เตรียมไว้ใส่ลงในชวดน้ำที่เติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ลงไปแล้ว ประมาณ 1.5 ช้อนโต๊ะ
  6. ให้ทำการเติมหัวเชื้อลงไปอีกครั้งให้เต็มขวด ทั้งนี้ในขวดน้ำจะต้องไล่อากาศออกให้หมด ซึ่งการเติมจุลินทรีย์จะเป็นการช่วยไล่อากาศไปในตัว
  7. จากนั้นปิดฝา ทำการเขย่า แล้วนำไปตากแดดทั้งวัน ตากนานไว้ประมาณ 15 วัน จะได้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงพร้อมใช้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการฉีดพ่นให้กับต้นข้าว และเก็บไว้เป็นหัวเชื้อเพื่อทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงในครั้งต่อๆไป

“ต้นทุนการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จะอยู่ที่ลิตรละประมาณ 12 บาท โดยจุลินทรีย์ 1 ลิตรใช้ฉีดพ่นในนาข้าวได้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ วิธีการใช้จะนำจุลินทรีย์สังเคราะห์จำนวน 1 ลิตรมาผสมกับน้ำ 200 ลิตร แล้วไปฉีดพ่นตั้งแต่ช่วงคุมฆ่าหญ้าจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ซึ่งข้อดีประการหนึ่งของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงคือสามารถนำไปผสมเพื่อฉีพพ่นกับสารชีวภัณฑ์ หรือสารเคมีอื่นๆได้ทุกชนิด โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง” สวณีย์ กล่าว

ชาวนาสุพรรณบุรี-สวณีย์ โพธิ์รัง เปิดเคล็ดลับผลิตสารชีวภัณฑ์ ป้องกันแมลงนาข้าว

ส่วนฮอร์โมนเร่งด่วน ทำง่ายๆแบบนี้…

อีกหนึ่งเคล็ดลับดีๆ ที่ สวณีย์ แนะนำ คือ การทำฮอร์โมนไข่หรือฮอร์โมนเร่งด่วน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล และเมื่อนำมาใช้ปรากฏว่าให้ผลดี โดยพบว่าหลังจากฉีดพ่นในช่วงข้าวใกล้ออกรวง เพียง 3 -5 วันจะพบว่า ข้าวออกรวงสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลง จากผลดีที่เกิดขึ้น จึงทำให้ สวณีย์ เริ่มแนะนำต่อยังเพื่อนเกษตรกรที่สนใจ

วัตถุดิบประกอบด้วย

  1. ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม
  2. เครื่องดื่มชูกำลัง โดยจะใช้เครื่องดื่มยี่ห้อกระทิงแดงขวดเล็ก 2 ขวด
  3. นมสดพลาสเจอร์ไรส์ รสจืด จำนวน 1,000 ซีซี หรือ ขนาด 250 ซีซี. 4 กล่อง
  4. ผงชูรส 1 ซอง (ใช้ขนาดซองละ 10 บาท)
  5. ยาคูลท์ 1 ขวด
  6. ถังพลาสติกสำหรับผสม
  7. ไม้คน

ขั้นตอนการทำ

  1. นำปุ๋ยยูเรีย จำนวน 2 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถังพลาสติก
  2. นำเครื่องดื่มกระทิงแดง จำนวน 2 ขวด เทใส่ลงไป
  3. จากนั้นใช้ไม้คนให้เข้ากัน
  4. พอคนส่วนผสมของยูเรียและกระทิงแดงได้สักพัก ให้เติมนมสดพลาสแจอร์ไรส์ รสจืด ลงไปเรื่อยๆ
  5. ทำการค้นไปเรื่อยๆจนกว่าส่วนผสมทั้งหมดจะละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาสักหน่อยหนึ่ง
  6. หลังจากละลายดีแล้ว ให้เติมผงชูรส และสุดท้ายใส่ยาคูลท์ที่เตรียมไว้ลงไป ทำการคนให้เข้ากันอีกครั้ง (เทคนิคที่สำคัญคือ ห้ามใส่ผงชูรสก่อน เพราะจะไม่ค่อยละลาย ต้องเติมในขั้นตอนหลังสุดนี้) เมื่อละลายเข้ากันดีแล้วสามารถนำไปใช้ได้
โชว์สารชีวภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาใช้เอง
โชว์สารชีวภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาใช้เอง

สำหรับการนำไปใช้งานนั้น สวณีย์ มีข้อแนะนำว่า หากเกษตรกรต้องการใช้ฉีดพ่นในวันพรุ่งนี้ สามารถทำฮอร์โมนเร่งด่วนได้ตั้งแต่ช่วงเย็นก่อนวันที่จะฉีด เพื่อให้สะดวกต่อการนำมาใช้ได้ไม่ต้องเสียเวลาเตรียม โดยฮอร์โมนเร่งด่วนตามสูตรที่เตรียมนี้ สามารถฉีดพ่นได้ในพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ อัตราการใช้คือ ฮอร์โมนเร่งด่วน  300 ซีซี. ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ถ้าใช้ไม่หมดให้กรอกใส่ขวดแล้วเก็บไว้ในที่เย็น อย่าให้ถูกแสงแดด จะเก็บไว้ใช้ได้นานประมาณ 2 อาทิตย์

“ทุกอย่างเกษตรกรต้องลองนำไปใช้ด้วยตนเอง จึงจะรู้ เพราะอย่างสารชีวภัณฑ์นั้น ต้องมีการปรับสูตร ปรับวิธีการใช้ให้เข้ากับสภาพอากาศ สภาพการระบาดของโรคและแมลง ถ้าพบว่ามีการระบาดต้องมีการเพิ่มปริมาณเชื้อไตรโคเดอร์ม่า หรือเชื้อบิวเวอเรียให้เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเป็นฮอร์โมนเร่งด่วนหรือฮอร์โมนไข่นี้ จะต้องใช้ตามสูตรที่แนะนำ ห้ามเพิ่มปริมาณ ไม่เช่นนั้นจะมีผลเสียต่อพืชที่ปลูก” สวณีย์ กล่าว

ชาวนาสุพรรณบุรี-สวณีย์ โพธิ์รัง เปิดเคล็ดลับผลิตสารชีวภัณฑ์ ป้องกันแมลงนาข้าวธง..สัญลักษณ์ เตือนการระบาดของโรคแมลง

ท่ามกลางความเขียวขจีของต้นข้าว ที่มุมหนึ่งของแปลงนาแห่งนี้ มีธงที่ปักไว้ กำลังโปกสะพัดพลิ้วไปตามแรงลม….ธงนี้ไม่ได้ปักไว้เท่ห์ๆ หรือไว้ไล่นกกา แต่…

“ธงนี้เราปักไว้เพื่อเป็นแสดงลักษณ์เตือนภัยให้เพื่อนชาวนาในบริเวณนี้เห็นว่า  ระดับการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าวในสถานการณ์ปกติหรือต้องระวัง เราเรียกตรงจุดนี้ว่า เป็นแปลงพยากรณ์” สวณีย์กล่าวในขณะที่ธงเขียวโปกสะพัด

“ระดับการเตือนภัยจะมี 3 ระดับ จะมีด้วยกัน 3 สี คือ เขียว เหลือง และแดง ถ้าเป็นธงสีเขียวขึ้นแบบนี้ แสดงว่า อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่มีการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช แต่อย่างไรก็ตามชาวนาก็ยังจะต้องมีการสำรวจแมลง เฝ้าระวังการระบาด แต่ถ้าเป็นธงสีเหลืองขึ้นให้เห็น แสดงว่าเริ่มมีการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช ชาวนาก็จะเป็นต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ถ้าสีแดงขึ้นละก็รู้กันเลนว่ามีโรคแมลงศัตรูระบาด ต้องดำเนินการรักษาแก้ไขอย่างเร่งด่วนเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น”

ในส่วนของโรคแมลงศัตรูข้าวที่พบว่ามีการระบาดในพื้นที่นั้น Smart Farmer แห่งอำเภอเดิมบางนางบวช ให้ข้อมูลว่า เท่าที่เคยพบได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำ หนอนศัตรูต่าง ๆ โรคไหม้ในข้าว เป็นต้น

สวณีย์ โพธิ์รัง นับเป็น เกษตรกรคือยอดมนุษย์…ที่น่าชื่นชมอีกคนหนึ่งของอำเภอเดิมบางนางบวชแห่งนี้

ชาวนาสุพรรณบุรี-สวณีย์ โพธิ์รัง เปิดเคล็ดลับผลิตสารชีวภัณฑ์ ป้องกันแมลงนาข้าว

ขอบคุณ : คุณสวณีย์ โพธิ์รัง ชาวนาผู้แบ่งปันความรู้ และเพื่อนชาวนา รวมทั้งว่าที่ ร.ต.หญิงพันธุ์เครือ ทิพย์โสด เกษตรตำบลเดิมบาง และนายภควรรณ ชัยรัตน์เมธี เกษตรตำบลหัวเขา สำนักงานเกษตรอำเภอเดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated