กรมปศุสัตว์เดินหน้าทำแผนที่เกษตรกรด้วย อี-สมาร์ทพลัส เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรค ASF เข้มข้นยิ่งขึ้น
E-smart plus

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ ทุกภูมิภาคของไทยเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งเรื่องฝนตกและน้ำท่วมขัง ทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ กรมปศุสัตว์จึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ในสุกรอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ขณะนี้ หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ร่วมมือกับภาคเอกชน และชุมชน ลงพื้นที่สำรวจฟาร์มเกษตรกรรายย่อยโดยใช้ แอพพลิเคชั่น e-Smart Plus (อี-สมาร์ทพลัส) เพื่อจัดทำแผนที่เกษตรกรรายย่อยในประเทศ และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ทันที ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมฯ ได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา ควบคู่กับการยกระดับระบบป้องกันโรคในฟาร์มของเกษตรกร

กรมปศุสัตว์เดินหน้าทำแผนที่เกษตรกรด้วย อี-สมาร์ทพลัส เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรค ASF เข้มข้นยิ่งขึ้น
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต

“กรมปศุสัตว์ ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา นำแอพพลิเคชั่น อี-สมาร์ทพลัสช่วยประเมินความเสี่ยง ไปแล้วกว่า 66,500 ฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 60 ของเป้าหมายและมีตั้งเป้าจะทำแผนที่ให้ครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปีนี้” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

ระบบอีสมาร์ทพลัส ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น เพียงบันทึกข้อมูลในมือถือหรือแท็บเล็ต ก็สามารถทราบผลทันที ช่วยให้การวางแผนเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามาเป็นเครือข่ายในการแจ้งข่าวสารและป้องกันโรค ASF ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานพบโรคดังกล่าวในไทย

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ได้รับความร่วมมือที่ดีจากภาคเอกชน รวมถึงสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในจังหวัดต่างๆ ในการยกระดับการป้องกันฟาร์มให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น แม้ว่าฟาร์มของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมดเป็นฟาร์มระบบปิดและมีการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดอยู่แล้วก็ตาม ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนยังสนับสนุนงบประมาณและกำลังคนช่วยให้การป้องกันโรค ASF ในประเทศไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของเกษตรกรรายย่อย กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือในการปรับปรุงฟาร์ม และกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การปรับปรุงรั้วป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นๆเข้าในฟาร์ม การไม่นำเศษอาหารมาใช้เลี้ยงสุกร การฆ่าเชื้อก่อนนำเครื่องมือหรือยานพาหนะเข้าสู่ฟาร์ม การห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม การไม่เอาสุกรป่วยหรือตายออกนอกฟาร์ม รวมทั้ง ติดตามข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ตลอดจน ไม่ตื่นตระหนก หรือหลงเชื่อข่าวลือต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรในการผลิตสุกรต่อเนื่อง และผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารมากยิ่งขึ้น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated