เกษตรกรชาวสวนยาง พลิกวิกฤติเป็นโอกาสใช้ความรู้ทางบัญชีปรับวิถีทำการเกษตร
ความรู้ทางบัญชีปรับวิถีทำการเกษตร

ในภาวะที่ระบบผลผลิตการเกษตรประสบปัญหาด้านราคาที่ตกต่ำ ซึ่งเกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แต่เกษตรกรชาวสวนยางจากพัทลุงและสุราษฎร์ธานี กลับพลิกฟื้นวิกฤติที่เกิดขึ้น ให้กลายเป็นโอกาส ด้วยหลักแนวคิดในเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวทางทำการเกษตรและพัฒนาลดต้นทุน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะที่ราคาผลผลิตตกต่ำ ด้วยการจดบันทึกและใช้ข้อมูลทางบัญชีมาคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ จนทำให้สามารถหาปัจจัยในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้เสริม เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดและเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตแบบพอเพียงให้แก่ชุมชน

เกษตรกรชาวสวนยาง พลิกวิกฤติเป็นโอกาสใช้ความรู้ทางบัญชีปรับวิถีทำการเกษตร
คุณอารีย์ เรืองพุทธ

คุณอารีย์ เรืองพุทธ เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง โดยปัจจุบันได้รับคัดเลือกให้เป็นครูบัญชีอาสา และเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับประเทศ ประจำปี 2562 เปิดเผยว่า ทำสวนยางพาราอยู่ 16 ไร่ แต่ด้วยภาวะราคายางตกต่ำจึงต้องหาแนวทางเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ประกอบกับในปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมีแปลงต้นแบบซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่ตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ ทำให้ได้รับความรู้ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ประกอบกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์พัทลุง ได้คัดเลือกเกษตรกรในโครงการให้เป็นครูบัญชีอาสาเพื่อเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดความรู้เรื่องบัญชีให้กับชาวบ้าน จึงมีโอกาสเข้าร่วมอบรมหลักสูตรครูบัญชีอาสา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนเองรู้จักใช้ข้อมูลทางบัญชี มาคิดวิเคราะห์ วางแผนการใช้ข้อมูลและประกอบอาชีพ จนทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เกษตรกรชาวสวนยาง พลิกวิกฤติเป็นโอกาสใช้ความรู้ทางบัญชีปรับวิถีทำการเกษตร

หลังจากได้รับการอบรม ได้นำองค์ความรู้ทั้งด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และด้านบัญชีมาปรับใช้ควบคู่ไปกับการทำสวนยางพารา ปลูกพืชผสมผสาน เลี้ยงปลา ปลูกผักกินเองส่วนที่เหลือนำไปขายสร้างรายได้เสริม รวมไปถึงผลิตปุ๋ยใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้รู้รายรับรายจ่าย ผลความสำเร็จจากการทำบัญชีจึงคิดต่อยอดให้คนในหมู่บ้านมีรายได้ ด้วยการรวมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลิตพริกแกงจากผลผลิตที่ปลูกและร่วมกันผลิตผักปลอดสารพิษจำหน่าย ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จุนเจือครอบครัว แก้ปัญหาขาดแคลนรายได้จากผลกระทบราคายางพาราตกต่ำได้ อีกทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนทุกวัน โดยกิจกรรมทั้งหมดมีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปวางแผนในการทำการเกษตร โดยใช้ข้อมูลทางบัญชี

คุณอารีย์ กล่าวอีกว่า จากที่เคยได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่องหลายปี เมื่อมีการนำข้อมูลจากบัญชีมาปรับใช้ ทำให้รู้ว่าสิ่งใดจำเป็นและไม่จำเป็นในการทำเกษตรและการดำรงชีวิต จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้มาก ซึ่งในฐานะที่เป็นครูบัญชีอาสา ได้พยายามสร้างความเข้าใจและหาวิธีแนะนำเกษตรกรให้มีการทำบัญชีแบบเข้าใจได้ง่าย ไม่สอนแบบวิชาการมากเกินไป และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีการบันทึกทำบัญชีอย่างสม่ำเสมอ

เกษตรกรชาวสวนยาง พลิกวิกฤติเป็นโอกาสใช้ความรู้ทางบัญชีปรับวิถีทำการเกษตร
อมรรัตน์ ศรีนาค

ด้านเกษตรกรอีกหนึ่งราย อมรรัตน์ ศรีนาค เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับประเทศ ประจำปี 2562 เปิดเผยว่า เดิมมีอาชีพทำสวนยางพาราจำนวน 25 ไร่ แต่ภายหลังจากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ราคายางพาราตกต่ำ จึงลดพื้นที่สวนยางพาราด้วยการโค่นต้นยางพาราที่มีอายุมากให้เหลือสวนยางพาราเพียง 12 ไร่ เพื่อให้ยังคงมีรายได้คงค่าใช้จ่าย และปรับพื้นที่ ที่โค่นต้นยางพาราต้นเก่าไปเพื่อปลูกยางพารารุ่นใหม่ขึ้นทดแทน พร้อมกับน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ปลูกผักหมุนเวียนในสวนยางพาราใหม่ เพื่อให้มีรายได้ทุกวัน เน้นพืชผักสมุนไพรที่นิยมบริโภค เป็นที่ต้องการของตลาดในท้องถิ่น อาทิ ตะไคร้ พริก ขิง ข่า ผักบุ้ง กระเจี๊ยบ มะเขือ เป็นต้น และนำระบบบัญชีที่ได้รับการสอนแนะมาจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาช่วยวิเคราะห์ต้นทุน รายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้ว่าสิ่งใดควรลด ละ เลิกและควรหาอะไรเข้ามาทดแทนเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง นอกจากนี้ ยังสร้างฐานการเรียนรู้ทั้งด้านการเกษตรและด้านบัญชีที่บริเวณบ้าน เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนและบุคลทั่วไป เมื่อคนในชุมชนเริ่มสนใจและทำตาม จึงชักชวนให้ร่วมกันตั้งกลุ่มสมุนไพรบ้านเชิงสมอขึ้น เพื่อผลิตพริกแกงและผลิตผักปลอดสารพิษจำหน่าย สร้างมาตรฐานการผลิตร่วมกันเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและสามารถต่อรองราคาได้โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

เกษตรกรชาวสวนยาง พลิกวิกฤติเป็นโอกาสใช้ความรู้ทางบัญชีปรับวิถีทำการเกษตร

“จากการที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำเกษตรควบคู่กับการนำระบบบัญชีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ทำให้สามารถกู้วิกฤติในช่วงยางพาราตกต่ำได้เป็นอย่างดี โดยหาวิธีลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง เช่น ทำปุ๋ยจากวัสดุที่มีในท้องถิ่นไว้ใช้เอง นอกจากนี้ ยังมีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากการรอขายยางพาราเพียงอย่างเดียวเข้ามาทดแทน สามารถกำหนดได้ว่า ในแต่ละวันต้องการรายได้เท่าไหร่ เช่น อยากได้ 1 พันบาท ก็ไปเก็บตะไคร้ นำต้นไปทำพริกแกง หรือขายต้นสด ส่วนใบนำไปทำน้ำตะไคร้ขาย โดยมีการจดต้นทุน ลงบัญชี ทำให้รู้ต้นทุน รู้รายได้ที่แท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการเรียนรู้ที่เราได้ทำบัญชีครัวเรือนทั้งสิ้น เป้าหมายต่อจากนี้ จะร่วมกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุราษฎร์ธานี ถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ได้รู้จักการนำบัญชีครัวเรือนมาปรับใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้

นับเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่นำองค์ความรู้ทางบัญชีมาปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตและทำการเกษตร และยังเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างปรับตัวฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน โดยเป็นครูบัญชีอาสาต้นแบบที่พัฒนาชุมชน พลิกวิกฤติสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated