เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล

การปลูกไม้มีค่าคึกคักทันตาเห็นหลังจากที่รัฐบาลปลดล็อคให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินของตนเอง จากเดิมที่ผิดกฎหมาย และยิ่งคึกคักเพิ่มขึ้นเมื่อธนาคาร ธ.ก.ส.เข้ามารับช่วงเรื่องการใช้ไม้มีค่าเป็นหลักทรัพย์ สามารถตีราคาเป็นมูลค่าเพิ่มจากที่ดิน…

จับมือกันปลูกไม้มีค่า...
จับมือกันปลูกไม้มีค่า…

ณ บริเวณ หมู่ 7 ตำบลจำปาหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เช้าวันนี้คึกคักมาเป็นพิเศษ เพราะได้มีพิธีการปลูกต้นไม้ขึ้นในชุมชม โดยมี นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธี ภายใต้ชื่อโครงการปลูกไม้มีค่าเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน “พอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยน้อมนำการปลูกป่า ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง องค์การบริหารส่วนตำบลจำปาหล่อ บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในนามของธนาคารต้นไม้ภาคกลาง…

ต้นนี้ผู้ว่าฯ อ่างทอง ปลูกเอง
ต้นนี้ผู้ว่าฯ อ่างทอง ปลูกเอง

การปลูกไม้มีค่าวันนี้ (30 พฤษภาคม 2562) ได้ปลูกขึ้นบนที่ดินของ นายธนิสร นิรันดร ชาวบ้านหมู่ 7 บนเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา โดย นายศิวกร นิรันดร (น้องชายนายธนิสร) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำปาหล่อ เปิดเผยว่า เดิมทีเดียว อบต.จำปาหล่อ มีนโยบายปลูกต้นไม่ในที่ดินสาธารณะอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เห็นว่าต้นไม้มีการเจริญเติบโตดี จึงเกิดความคิดว่าน่าจะขยายผลไปสู่ที่ดินของชาวบ้านในชุมชน จึงได้จัดทำโครงการขึ้นและมีชาวบ้านเข้าร่วมตอนนี้จำนวน 8 ราย รวมเนื้อที่ 53 ไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกไม้มีค่าให้ได้ จำนวน 9,999 ต้น

“ที่ปลูกไม้มีค่าวันนี้เป็นการปลูกบนที่ดินของพี่ชาย เรามีเป้าหมายว่าจะทำแปลงนี้ให้เป็นแปลงตัวอย่างของชุมชน ซึ่งหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ต้นไม้เหล่านี้จะเติบโตขึ้นมีมูลค่าต้นละ 2,000 บาท มันก็จะมีเงินเก็บไว้ให้ลูกหลาน แทนที่จะส่งมอบที่ดินว่างเปล่าให้พวกเขา และเกิดเป็นอาชีพแปรรูปไม้มีค่าในชุมชน หรืออย่างน้อยมันก็เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนเราน่าอยู่…” นายยก อบต.จำปาหล่อ กล่าว

ปลูกไม้มีค่าได้รับความสนใจมาก
ปลูกไม้มีค่าได้รับความสนใจมาก

ทางด้าน นายธนิสร นิรันดร เจ้าของแปลงปลูกไม้มีค่ากล่าวว่า เดิมพื้นที่ดินตรงนี้ทำนามาก่อน แต่มีปัญหาน้ำท่วมไม่ถึง จึงเปลี่ยนมาปลูกกล้วยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากระบบชลประทานเข้าไม่ถึง ทำให้น้ำไม่พอเพียง จึงหันมาปลูกไม้มีค่าในวันนี้ เพราะจากข้อมูลที่ศึกษาพบว่าไม่ต้องใช้น้ำมาก ยกเว้นในช่วงปีแรกตนเองจะนำถังน้ำและสายยางมาวางไว้ตามจุดต่างๆ จะต้องรดน้ำทุกวัน และการปลูกจะสลับระหว่างต้นไม้ใบใหญ่กับต้นไม้ใบเล็ก เพื่อให้แสงแดดส่องถึงโคนต้นทุกต้น โดยปลูกห่างต่อต้น 3×3 เมตร รวมต้นไม้ที่ปลูก 750 ต้น และระหว่างที่ต้นไม้ยังไม่โตจะปลูกพืชผักอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

นายกรสมรรถ เลาพิการนนท์ ผู้บริหาร ธ.ก.ส. อ่างทอง (คนขวา) ...ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ ข่าวเด็ด 77 จังหวัด
นายกรสมรรถ เลาพิการนนท์ ผู้บริหาร ธ.ก.ส. อ่างทอง (คนขวา) พร้อมสนับสนุนชุมชน…ขอบคุณภาพนี้ จากเว็บไซต์ ข่าวเด็ด 77 จังหวัด

ส่วน นายกรสมรรถ เลาพิการนนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้แก่ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เกี่ยวกับไม้หวงห้าม และกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกกฎกระทรวงให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันได้

การปลูกไม้มีค่าได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
การปลูกไม้มีค่าได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

“กิจกรรมครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในตำบลจำปาหล่อ ร่วมกันปลูกต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ยางนา พยุง ตะเคียนทอง ต้นแดง ประดู่ป่า พะยอม ฯลฯ ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับชุมชน ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย พลังงาน เพิ่มพื้นที่ป่ารักษาระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมให้สมดุล ลดภาวะโลกร้อน เป็นทรัพย์สินเป็นเงินออม เป็นมรดกให้ลูกหลาน รวมทั้งสามารถนำมาเป็นหลักประกันทรัพย์ สิน สำหรับกู้เงินกับสถาบันการเงิน ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้”

พร้อมใจกับปลูกไม้มีค่าเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพ...
พร้อมใจกับปลูกไม้มีค่าเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพ…

นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธกส.จังหวัดอ่างทอง1 ยังกล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. จะให้การส่งเสริมปลูกไม้มีค่าตั้งแต่การอบรมปลูกไม้มีค่า รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องการเพาะขยายพันธุ์ไม้มีค่า ทั้งนี้เพื่อสร้างให้เกิดอาชีพใหม่ๆ และยังรวมไปถึงการนำไม้มีค่าไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายของ ธ.ก.ส. ที่มุ่งหวังให้เกษตรกรและชุมชนมีความมั่งคงในอาชีพต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated