ไปดูจุดที่จะก่อสร้างปตร.แม่น้ำตรัง เผยแก้ท่วมซ้ำซาก เก็บน้ำไว้ใช้ และรุกน้ำเค็ม
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน ลงพื้นที่ศึกษาจุดที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง

“ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำตรัง จังหวัดตรัง ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำตรัง ที่ไหลล้นเข้าท่วมในเขตอำเภอเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างมาก”

นี่คือส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้สรุปให้ สื่อมวลชนได้รับทราบ ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำตรัง ในระหว่างการจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรดูงานการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆนี้ ณ จุดที่จะสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.)แม่น้ำตรัง
ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว และนำมาซึ่งความเดือดร้อน ในฐานะที่กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเพื่อดำเนินการแก้ไข จึงได้มีการศึกษาและวางแผนการแก้ไขปัญหาภารใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตรัง-ปะเหลียน โดยดำเนินการขุดลอกและขยายลำน้ำเดิม ขุดช่องลัด ขุดคลองผันน้ำ “แต่ปรากฏว่า ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ไปดูจุดก่อสร้างปตร.แม่น้ำตรัง เผยแก้ท่วมซ้ำซาก เก็บน้ำไว้ใช้ และรุกน้ำเค็ม
จับมือกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและชาวบ้านยินดีเสียสละพื้นที่ เพราะต้องคอยแก้ปัญหาน้ำท่วมทุกปี

ซึ่งต่อมาโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น และขุดคลองสายใหม่ เพื่อบรรเทาอุทกภัย กรมชลประทาน โดยสำนักงานบริหารโครงการ ได้จัดทำรายงานวางโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม อุปโภคบริโภค และบรรเทาอุทกภัยได้เป็นอย่างดี “แต่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำตรังมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จึงจำเป็นต้องสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง เพื่อควบคุมปริมาณการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง”

คาด ศึกษา EIA แล้วเสร็จ ส.ค.62 เริ่มก่อสร้างปี 64

รองอธิบายกรมชลประทานอธิบายต่อไปว่า กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย อาทิ บริษัท ซิกมา ไฮโดร คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นต้น ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง

ไปดูจุดก่อสร้างปตร.แม่น้ำตรัง เผยแก้ท่วมซ้ำซาก เก็บน้ำไว้ใช้ และรุกน้ำเค็ม
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ อธิบายเกี่ยวกับการศึกษาจุดที่จะก่อสร้างประตู่ระบายน้ำแม่น้ำตรัง

สำหรับเหตุผลความจำเป็นในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก เข้าข่ายการจัดทำรายงาน EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยในโครงการนี้นั้นจะศึกษา EIA ทั้งพื้นที่รับผลกระทบ ทั้งพื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง,พื้นที่แนวคลองผันน้ำหนองตรุด-คลองช้าง พื้นที่แนวปรับปรุงแม่น้ำตรังบริเวณคอขวด และพื้นที่ช่องลัดน้ำแม่น้ำตรัง รวมถึงพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รับประโยชน์ ประกอบด้วยพื้นที่รับประโยชน์คลองระบายน้ำหลากหนองตรุด-คลองช้าง 10,000 ไร่,พื้นที่รับประโยชน์ด้านเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง 7,600 ไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ด้านการบรรเทาอุทกภัย 59,573 ไร่

แผนที่ แสดงจุดที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำ แม่น้ำตรัง
แผนที่ แสดงจุดที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำ แม่น้ำตรัง

การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประตูระบายน้ำแห่งนี้ ตามกำหนดดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2562 นี้ หลังจากนั้นต้องนำเข้าสู่ขบวนการพิจารณา โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานหลักการพิจารณา ซึ่งหากผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้วจะเข้าสู่การกำหนดการก่อสร้าง หากไม่มีปัญหาคาดว่าสามารถก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำตรังได้ในประมาณปี 2564 นี้” รองอธิบดีกรมชลประธาน กล่าว

อนึ่ง สำหรับการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำตรังนี้ ทางกรมชลประทานได้มีการกำหนด การชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน ทั้งบริเวณก่อสร้าง ปตร. รวมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดภายในโครงการ ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 88 แปลง ของประชาชน จำนวน 46 ราย ซึ่งทุกรายพร้อมต่างยินดีและพร้อมเสียสละ เพื่อนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาและสร้างคุณภาพชีวิตของชาวจังหวัดตรังให้ดีขึ้น ด้วยไม่ต้องประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงหน้าฝน

มาพบกับชาวบ้านในจุดที่จะทำการขุดขยายแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำ
มาพบกับชาวบ้านในจุดที่จะทำการขุดขยายแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำ
ประโยชน์ที่เกิด สร้างสุขให้กับคนตรัง

สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้น รองอธิบดีกรมชลประทานอธิบายว่า ประตูระบายแม่น้ำตรังจะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองตรังได้มากกว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ในช่วงฤดูน้ำหลาก และทดน้ำเข้าคลองผันน้ำในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ อีกทั้ง ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้วางแผนขุดลอก/ปรับปรุงแม่น้ำตรังร่วมกับการขุดช่องลัดแม่น้ำตรัง เนื่องจากพบว่าแม่น้ำตรังบริเวณช่วงสุดท้ายจุดบรรจบกับคลองผันน้ำมีลักษณะคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ดังนั้น เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น จะต้องดำเนินการขุดขยายแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำร่วมกับการขุดช่องลัดแม่น้ำตรัง ด้วยการขุด ใน 4 ช่องทาง ได้แก่

  • ช่องลัดที่ 1 (ขุดใหม่) บริเวณพื้นที่ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมืองตรัง ระยะทางประมาณ 245 เมตร
  • ช่องลัดที่ 2 (ขุดใหม่) บริเวณพื้นที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 563 เมตร
  • ช่องลัดที่ 3 (แนวคลองเดิม) บริเวณพื้นที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 350 เมตร
  • ช่องลัดที่ 4 (แนวคลองเดิม) บริเวณพื้นที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 874 เมตร รวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
    ไปดูจุดก่อสร้างปตร.แม่น้ำตรัง เผยแก้ท่วมซ้ำซาก เก็บน้ำไว้ใช้ และรุกน้ำเค็ม
    สภาพแม่น้ำตรังในปัจจุบัน ในจุดที่จะทำการศึกษาเพื่อการการก่อสร้างประตูระบายน้ำ…

    “ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถย่นระยะทางการระบายน้ำได้มากกว่า 6 กิโลเมตร ช่วยบรรเทาและลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองตรังได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในฤดูแล้ง รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการช่วยผลักดันน้ำเค็มในฤดูแล้ง” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในที่สุด

 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated