กรมการข้าวเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 7พันตันช่วยชาวนาล้านไร่หลังประสบภัยแล้งปี 61
นายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว

นายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในปี 2561/62 ประเทศไทยมีการปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ 22.74 ล้านไร่ หลังจากประสบเหตุฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงอย่างรุนแรง ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2561 ความเสียหายที่เกิดขึ้นคาดการว่าผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิที่เก็บเกี่ยวได้ลดลงเหลือ 6.59 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 0.98 ล้านตันข้าวสาร

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังส่งผลต่อสถานการณ์ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่จะใช้ปลูกในฤดูนาปี 2562 กรมการข้าวจึงร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักเศรษฐกิจการเกษตร กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการรักษาระดับและคุณภาพข้าวหอมมะลิปีการผลิต 2562/63 โดยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิที่ประสบปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง เพื่อรักษาคุณภาพและเอกลักษณ์ของหอมมะลิไทยจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและมีมาตรฐาน ตลอดจนรักษาปริมาณการผลิตเพื่อไม่ให้กระทบต่อการค้าและการตลาดข้าวหอมมะลิ

นายประสงค์ กล่าวต่อว่า กรมการข้าวได้คัดกรองรายชื่อเฉพาะเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ข้าวหอมมะลิ) ปี 2561/62 จากกรมส่งเสริมการเกษตร และมีแปลงปลูกข้าวเสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินเนื่องจากฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง จำนวน 113,482 คน ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และนครราชสีมา เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรกรให้คณะกรรมการจัดทำประชาคมระดับหมู่บ้าน และคณะกรรมการระดับอำเภอตรวจสอบรับรองความถูกต้องของข้อมูล จากนั้นกรมการข้าวจะดำเนินการจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้เตรียมไว้จำนวน 7,000 ตัน มอบให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ

กรมการข้าวเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 7พันตันช่วยชาวนาล้านไร่หลังประสบภัยแล้งปี 61

“เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพที่เตรียมนั้น กรมการข้าวจะจัดสรรให้เกษตรกรโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในอัตราไร่ละ 5 กิโลกรัมตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงที่ประสบภับยพิบัติฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อนำมาใช้เพาะปลูกข้าวในฤดูนาปี ปี 2562/63 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ระหว่างนั้นกรมการข้าวจะติดตามช่วยเหลือเกษตรกรในการให้คำแนะนำ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ลดภาระในการหาซื้อเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และสร้างเสถียรภาพปริมาณการผลิตข้าวหอมะลิซึ่งเป็นข้าวพรีเมียมคุณภาพสูงในตลาดต่างประเทศ” นายประสงค์กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated