่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ
่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พบหารือเกษตรกรกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง แนะโอกาสขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกด้วยเอฟทีเอ ใช้ประโยชน์จากที่ประเทศคู่เอฟทีเอของไทย เช่น อาเซียน จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากไทยแล้ว พร้อมนำทีมผู้เชี่ยวชาญการค้าติวเข้มเกษตรกรเรื่องการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้ได้มาตรฐาน ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2562 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ผนึกกำลังกับสภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” รวม 6 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทย เน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและปลอดภัย (Food Health and Safety) และเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลกด้วยเอฟทีเอที่ไทยจัดทำกับประเทศคู่ค้า ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 ได้ลงพื้นที่แล้ว 3 ครั้ง คือ เดือนพฤศจิกายน 2561 ณ จังหวัดอุดรธานี เดือนมกราคม 2562 ณ จังหวัดปราจีนบุรี และเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประสบความสำเร็จได้การตอบรับอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่ ดังนั้นในระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2562 กรมเจรจาฯ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดการสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรครั้งที่ 4 ณ โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ รีสอร์ท จังหวัดสุโขทัย โดยจะมีการเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” ให้กับเกษตรกรใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และนครสวรรค์ เน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่ เช่น ส้ม กาแฟ ชาดอกกาแฟ ละมุด และใบตองตานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอฟทีเอ การใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี และการเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เข้าร่วม
นางอรมน เสริมว่า ในการจัดงานครั้งนี้ ได้แจ้งให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน นำสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ผลิตมาด้วย เนื่องจากกรมฯ ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาเปิดเวทีติวเข้ม วิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าการผลึกกำลังร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติของกรมเจรจาฯ ในปีนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับสินค้าเกษตรของชุมชนให้ได้คุณภาพ และมาตรฐานสากล สามารถขยายช่องทางการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดทำเอฟทีเอแล้ว 12 ฉบับกับ 17 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย เปรู และชิลี โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา เช่น การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 113,934.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้า การค้ากับจีนในปี 2561 มูลค่า 80,136 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากปีก่อนหน้า เป็นต้น

(ขอบคุณภาพ : อินเตอร์เน็ต)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated