เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 “เกษตรก้าวไกล” ลงพื้นที่ไปกับ “ดีแทค” ร่วมกับสื่อมวลชนจากส่วนกลางเกือบ 20 ชีวิต เป้าหมายอยู่ที่ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เพื่อไปดู “นวัตกรรมตะบันน้ำ” วิธีการแก้ปัญหาการจัดการน้ำบนพื้นที่สูง ภายใต้โครงการ “พลิกไทย ด้วยมือคุณ” ซึ่งจัดโดยสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.) ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ตามข่าวที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ https://goo.gl/SQGiR6 และหลังจากข่าวเผยแพร่ออกไปได้มีการสอบถามถึงรายละเอียดการประดิษฐ์เครื่องตะบันน้ำ เพราะเหตุนี้ “เกษตรก้าวไกล” จึงได้ติดต่อไปยัง นายจีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.) เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง

ภาพแสดงระบบเครื่องตะบันน้ำ
ภาพแสดงระบบเครื่องตะบันน้ำ

ทางนายก สอพ. จึงได้ส่งภาพวาดแบบจำลองและภาพกราฟฟิกมาให้ดูชม พร้อมอธิบายหลักการทำงานของเครื่องตะบันน้ำว่าเป็นเครื่องส่งน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง โดยอาศัยกลไกจากแรงธรรมชาติไม่ต้องใช้น้ำมันและไฟฟ้าสูบน้ำใด ๆ แต่อาศัยจากกระแสน้ำที่แรงและต้นน้ำจะต้องตั้งอยู่ในที่สูงอย่างต่ำ 1 เมตรขึ้นไป จึงจะสามารถส่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพนี้แสดงให้เห็นจุดต้นน้ำกับจุดที่ติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ ต้องอยู่สูงต่ำ(ต่างระดับ)อย่างน้อย 1 เมตรขึ้นไป
ภาพนี้แสดงให้เห็นจุดต้นน้ำกับจุดที่ติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ ต้องอยู่สูงต่ำ(ต่างระดับ)อย่างน้อย 1 เมตรขึ้นไป

“เครื่องตะบันน้ำถูกพัฒนามานานกว่า 200 ปีแล้ว โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ และมีการส่งต่อนวัตกรรมนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2516 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนพัฒนาเครื่องตะบันน้ำจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่ละเครื่องก็จะมีราคาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 20,000 – 50,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ยาก ทางสมาคมจึงร่วมกับชาวบ้านคิดประดิษฐ์เครื่องตะบันน้ำขึ้นมา เพื่อให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอย่างแท้จริงและสามารถใช้งานได้จริง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปจดสิทธิบัตรคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน และได้ทดลองนำเครื่องตะบันน้ำไปในในแปลงเกษตรของเกษตรกร ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ” นายก สอพ. กล่าว

วิธีการประกอบเครื่องตะบันน้ำ
วิธีการประกอบเครื่องตะบันน้ำ

การประดิษฐ์เครื่องตะบันน้ำ

ด้านผู้ใหญ่อุดม อุทะเสน หนึ่งในทีมงานผู้ผลิตเครื่องตะบันน้ำ ของ สอพ. และนายเกษม สมชาย ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความรู้ในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องตะบันน้ำ กล่าวว่า “ระบบตะบันน้ำ” คือ เครื่องส่งน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง โดยอาศัยกลไกจากแรงธรรมชาติ

“พื้นที่ที่เหมาะกับการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ คือ ลำธารหรือป่าต้นน้ำอย่างเช่นที่เห็นในวันนี้ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่เชิงเขาที่มีกระแสน้ำไหล หรือมีน้ำตก หรือจะทำเป็นฝายกั้นน้ำ รวมทั้งสระน้ำที่ขุดไว้และมีปริมาณสูงกว่าที่จะติดตั้งเครื่องตะบันน้ำก็ได้เหมือนกันครับ”

สิ่งสำคัญที่อยากเน้นย้ำคือ “การทำงานของเครื่องตะบันน้ำที่จะให้ใช้ได้ผลดีต้องนำไปติดตั้งต่ำกว่าจุดที่เป็นจุดต้นน้ำอย่างน้อย 1 เมตร (ต่างระดับ) และท่อส่งน้ำจากต้นน้ำมายังเครื่องต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 15 เมตร แรงดันน้ำถึงจะเพียงพอ และแรงดันน้ำจะดันขึ้นสูงแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับว่าเครื่องที่ติดตั้งอยู่ต่ำแค่ไหน เช่น ต่ำ 1 เมตร จะดันน้ำได้สูง 5 เมตร และต่ำ 2 เมตร จะดันน้ำได้สูง 10 เมตร เป็นต้น”

ขั้นตอนในการประดิษฐ์เครื่องตะบันน้ำ จะต้องมีเครื่องมือ คือเครื่องเชื่อม และเครื่องเจีย ส่วนวัสดุที่ต้องใช้ ประกอบด้วย ถังแก๊สเก่า 2 ใบ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่คล้ายกับถังแก๊ส เช็กวาร์ล 2.5 นิ้ว 1 ตัว เช็กวาล์ว 2 นิ้ว 1 ตัว พร้อมเกลียวนอก 2 ตัว เหล็กฉาก ฯลฯ

“การประกอบเครื่องตะบันน้ำ ต้องเจาะรูบนฝาถังใบแรกเพื่อติดวาล์ว 2.5 นิ้ว ใช้ในการปิด-เปิด ระบบการทำงาน และเจาะรูข้างถังใบเดียวกันใส่วาล์วขนาด 2 นิ้ว เพื่อส่งน้ำไปยังถังใบที่ 2 ซึ่งถังใบที่ 2 นี้ เป็นตัวกำหนดการปิด-เปิด พร้อมกับแอร์โอแอร์ มีระบบลม…” (รายละเอียดเพิ่มเติมวิธีการประดิษฐ์เครื่องตะบันน้ำชมได้ที่ https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/279251992705538/)

สำหรับราคาของเครื่องตะบันน้ำที่ประดิษฐ์ขึ้นมานี้ ต้นทุนประมาณ 6,000 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการศึกษาเรียนรู้ ติดต่อได้ที่ สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.) โทร. 085 2694264

เบื้องหลังความสำเร็จมีผู้ให้การสนับบสนุนด้วยดี
เบื้องหลังความสำเร็จมีผู้ให้การสนับสนุนด้วยดี
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated