นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมเดินหน้าเต็มที่ หลังจับมือกับบริษัทเอกชนประกาศจุดรับซื้อในพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ 33 จังหวัด อีกทั้งได้สั่งการและกำชับให้ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ปลัด รองปลัด ผู้ตรวจราชการฯ ลงพื้นที่ตรวจตราการบริหารจัดการในเรื่องปัจจัยการผลิต และจุดรับซื้อ ให้มีความโปร่งใส เพื่อป้องกันมือดีเข้าแทรกแซง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนากับสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายดำเนินโครงการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรตามนโยบายตลาดนำการผลิต

ปัจจุบันมีบริษัทภายใต้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ แจ้งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร อย่างน้อยจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท บีอาร์เอฟ ฟีด (ไทยแลนด์) จำกัด 2. บริษัท ลีพัฒนาอาหารสัตว์ จำกัด 3. บริษัท เบทา โกร จำกัด และ 4. บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น ในส่วนของบริษัท ซีพี จำกัด มีการติดต่อรับซื้อในพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อมูลให้สมาคมทราบ นอกจากนี้มีเอกชนในพื้นที่รับซื้อ 8 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าในท้องถิ่นที่เป็นคู่ค้าเดิมของสหกรณ์ หรือเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งผลการจับคู่กับเอกชนเพื่อรับซื้ออาหารสัตว์พบว่า ส่วนใหญ่มีการจับคู่คู่ค้าเรียบร้อยแล้วและมีบริษัทเอกชนวางแผนเข้ารับซื้อแล้ว

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของบริษัทภายใต้สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยยินดีสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ราคาพิเศษ ผ่านร้านค้าเกษตรสุขใจ และจะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง ด้วยวิธี Train The Trainer ผ่าน Video Conference เบื้องต้นมีบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ แจ้งข้อมูลแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัท ชินเจนทา ซีดส์ จำกัด บริษัท เมล็ดพันธุ์ เอเชีย จำกัด และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด โดยทุกบริษัทสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้ทุกจังหวัด เกษตรกรสามารถเลือกใช้ได้ตามความชอบ

สำหรับผลการรับสมัคร มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 31,460 ราย เป็นสมาชิกสหกรณ์ 4,350 ราย ในจำนวนนี้ประสงค์จะขอกู้เงินจาก ธกส. จำนวน 2,112 ราย โดยมีสหกรณ์จำนวน 274 สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นจุดรวบรวมผลผลิต โดยเป็นสหกรณ์รวบรวมพร้อม ปรับปรุงคุณภาพ 21 สหกรณ์ สหกรณ์เป็นจุดรวบรวมอย่างเดียว 132 สหกรณ์ สหกรณ์ที่พร้อมให้เอกชนเช่า พื้นที่เพื่อเป็นจุดรวบรวม 121 สหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ทั้ง 274 สหกรณ์ได้ส่งรายชื่อให้กับ ธกส. เรียบร้อยแล้วเพื่อประสานในการเป็นจุดจำหน่ายปัจจัยการผลิตพร้อมรับบัตรเกษตรสุขใจ ทั้งนี้ต้องรอผลการรับสมัครจจริงหากมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการจำนวนเพียงพอ สหกรณ์ก็พร้อมจะบริหารปัจจัยการผลิต.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated