อ้อยอินทรีย์ เตรียมตัวอย่างไร? กลุ่มวังขยายมีคำตอบ
อ้อยอินทรีย์ ปลูกอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ภาพ / ข่าว : ศุภชัย เกษตรก้าวไกล

อ้อยอินทรีย์ มิใช่เป็นเรื่องใหม่ มีเกษตรกรหลายร้อยรายทำมาแล้ว โดยได้รับการส่งเสริมเบื้องต้นจากโรงงานผลิตน้ำตาล เนื่องจากผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศหันใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้ต้องผลิตสินค้าออร์แกนิคป้อนตลาดไปส่วนหนึ่ง

สำหรับเกษตรกรมือใหม่หรือต้องการปรับจากการปลูกอ้อยเคมีหันมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อตัวเองพ้นสารพิษ และ สร้างแวดล้อมให้เป็นมิตรที่ถาวร ตลอดทั้งผลิตป้อนตลาดออร์แกนิคที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าด้วย

ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขยาย
ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย

เริ่มต้นทำอย่างไร ..วันนี้ ดร.ณรงค์  ชินบุตร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย แนะนำเบื้องต้น เพื่อก้าวสู่เกษตรอินทรีย์ไปด้วยกัน ว่า เกษตรกร หรือ ผู้สนใจเริ่มแรกต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน โดยเฉพาะให้พื้นที่จังหวัดที่มีการส่งเสริมการปลูกอ้อย กาญจนบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น สามารถสมัครได้เลย เพราะว่ามีสถานที่ที่รับซื้อผลผลิตอยู่แล้ว

การวางแผนการจัดการ ควรทำแนวป้องกันการปนเปื้อน โดยปลูกพืชเป็นแนวกันชนรอบแปลง เพื่อป้องกันลมพัดสารพิษเข้ามา อาทิ ยูคาลิปตัส กระถินเทพา มะม่วง และ ขนุน หรือพืชอื่นๆที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ถั่วมะแฮะ กระเจี๊ยบ กล้วย และมะละกอ เป็นต้น

“เก็บตัวอย่างดินเป็นจุด ๆ กระจายทั่วแปลง นำมาผสมคลุกเคล้ากัน แบ่งตัวอย่างดินประมาณครึ่งกิโลกรัม ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ใส่ถุงที่สะอาดมัดปากถุงเขียนชื่อเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ เพื่อการปรับปรุงดินที่เหมาะสมนั่นเอง”

แปลงปลูกอ้อนอินทรีย์
แปลงปลูกอ้อยอินทรีย์

ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การปรับปรุงบำรุงดินนั้น หากพบว่าสภาพเป็นกรดจัด  pH ต่ำกว่า 5.5 ให้ใส่ปูนโดโลไมท์ ซึ่งดินทราย-ร่วนปนทรายนั้นส่วนใหญ่มีธาตุอาหารพืชแคลเซียมและพืชแมกนีเซียมต่ำ ปูนโดโลไมท์จะช่วยปรับปรุงสภาพกรดในดินและเพิ่มธาตุแคลเซียมแมกนีเซียมอีกด้วย

“เราแนะนำให้ใช้ขี้เถ้าจากโรงงานน้ำตาล ใช้คลุกเคล้ากับดินเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารโพแทสเซียมสำหรับพื้นที่ดินร่วนหรือดินทรายใส่ 2 ตันต่อไร่ สามารถใช้ร่วมกับปูนแล้ว ไถคลุกเคล้ากับดินไปพร้อมกันได้ เกษตรกรที่ได้ ฟิลเตอร์เค้กให้ใส่อย่างน้อย 2 ตันต่อไร่ไถคลุกเคล้ากับดินพร้อมกันในช่วงที่ใส่ขี้เถ้า”

ดร.ณรงค์ บอกว่า หลังจากใส่ปูนแล้วประมาณ 10 วัน จึงปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารไนโตร และ อินทรียวัตถุในดิน เช่น ปอเทือง  ถั่วพร้า โสนหรือพืชตระกูลถั่วอื่นๆ จากนั้นไถกลบในช่วงที่ พืชปุ๋ยสดเริ่มออกดอกหรืออายุประมาณ 50-60 วัน และทิ้งประมาณ 15 วัน จึงปลูกอ้อย

“การปลูกอ้อย หลังจากการไถยกร่องแล้วรองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสูตรอ้อยออร์แกนิค อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่ โรยใต้แถว ท่อนพันธุ์อ้อย”

ดร.ณรงค์ บอกว่า การปลูกอ้อยปลายฝนนั้นควรกดท่อนพันธุ์ให้แน่น และหนาประมาณ 15-20 เซนติเมตร ถ้าปลูกอ้อย ต้นฝนควรกลบดินให้สม่ำเสมอยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร

แปลงปลูกอ้อยอินทรีย์ บ้านแก้งขิงแดง ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม
แปลงปลูกอ้อยอินทรีย์ บ้านแก้งขิงแดง ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม

สำหรับการดูแลรักษานั้น ควรปลูกพืชคลุมดินระหว่างแถวๆเช่นถั่วพร้า เพื่อป้องกันและควบคุมการงอกของวัชพืช และช่วยคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้น โดยหว่าน เมล็ดถั่วพร้าระหว่างร่อง หลังจากปลูกอ้อยเสร็จ

ฉีดพ่นด้วยสารสกัดชีวภาพ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต เสริมความแข็งแรงและเพิ่มความหวานของอ้อยทุกๆ 15 – 20 วัน พร้อมกับกำจัด วัชพืช โดยใช้แรงงานคนหรือ เครื่องทุ่นแรงตามความเหมาะสม ห้ามใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด

“กำจัดแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี เช่น ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมม่า ใช้ในการควบคุมหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย โดยตัวโตเต็มวัยของแตนเบียน จะเข้าไปวางไข่ ในไข่ของหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย จะอาศัยดูดกินของเหลวภายในไข่ที่อาศัยอยู่  เมื่อแตนเบียนเจริญเติบโตเต็มวัยจะเจาะ ออกมาจากไข่หนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป โดยมีอัตราการปล่อยประมาณ 20,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ควรปล่อย 3-5 ครั้ง ประมาณ 10 จุดต่อไร่”

หนอนกออ้อย
หนอนกออ้อย

ดร.ณรงค์ กล่าวว่า แมลงหางหนีบ ใช้กำจัดควบคุมหนอนกออ้อย เพลี้ยอ่อน ตัวอ่อนเพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาวเป็นต้น แมลงหางหนีบมีความสามารถในการเสาะหาแมลงศัตรูพืช ที่อยู่ภายในรอยแตกของลำต้น ใต้ ผิวเปลือก โดยปล่อยในอัตรา 500-1000 ตัวต่อไร่ 1 ถึง 2 ครั้ง

“ในการควบคุมด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นอ้อย เราพบว่าเชื้อรา เมตาไรเซียม ซึ่งเป็นเชื้อราเขียวที่มีประสิทธิภาพในการควบคุม ระยะตัวอ่อน โดยสปอร์ของเชื้อราที่ติดไปกับตัวแมลง เข้าไปขยายจำนวนในเลือด สร้างเส้นใยทำลาย อวัยวะต่างๆ ทำให้แมลงตาย และสามารถติดต่อไปสู่แมลงตัวอื่นๆได้ วิธีการใช้ โรยเชื้อรา ลงในร่องปลูกประมาณ 10 กิโลกรัม ต่อความยาวร่อง 10 เมตร หรือผสมกับรำละเอียด หรือปุ๋ยหมัก แล้วพรวนกลบทันที หรือปล่อยไปพร้อมกับการให้น้ำ”

ดร.ณรงค์ บอกอีกว่า ถ้ามีปุ๋ยคอกเช่น ขี้ไก่ขี้เป็ดขี้วัวขี้ควายที่เลี้ยงแบบปล่อย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ สามารถนำมาใส่แปลงอ้อยอินทรีย์ช่วงเร่งการเจริญเติบโตของอ้อยได้เป็นอย่างดี

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ สูตรอ้อยออร์แกนิค อัตรา 5 ถึง 100 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวอ้อย เป็นปุ๋ยแต่งหน้าอีกครั้ง ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์หรือ สารปรับปรุงดินที่ใช้ในแปลงอ้อยอินทรีย์ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานตรวจประเมิน อนุญาตให้ใช้ได้

“เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติ และขั้นตอนต่างๆในการปลูกอ้อยอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาตรวจสอบดู เป็นหลักฐานประกอบในการประเมิน”

ส่วนการเก็บเกี่ยวนั้น ทางเจ้าหน้าที่ส่งเสริมจะแจ้งเวลาเข้าหีบตามที่โรงงานกำหนด โดยตัดให้ชิดดิน สางใบอ้อยให้สะอาด ส่งเข้าหีบไม่เกิน 48 ชั่วโมง

“หลังจากการตัดแต่งอ้อยแล้ว ให้หว่านฟิลเตอร์เค้กไม่น้อยกว่า 2 ตันต่อไร่ ขี้เถ้า 1-2 ตันต่อไร่ รองพื้นด้วยอินทรีย์วัตถุชีวภาพสูตรออร์แกนิค อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ ระหว่างแถวอ้อย แล้วกลับ ส่วนการปฏิบัติอย่างอื่นทำเช่นเดียวกับ อ้อยปลูก แต่ไม่ต้องใส่ปูน เนื่องจากปูนอยู่ได้ถึง 3 ปีเลยทีเดียว” ดร. ณรงค์ กล่าว

คุณบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย
คุณบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย

คุณบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย กล่าวเสริมว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นในการเตรียมตัวเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจริงๆแล้วต้องผ่านการอบรมอีกครั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมพื้นที่ ดิน ปุ๋ยพืชสด และการป้องกันโรคศัตรูพืช เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ผลผลิตอ้อยหรือน้ำตาลออร์แกนิคป้อนตลาด ไม่เพียงมาฐานการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เท่านั้น แต่ มาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตรด้วย

“ทางกลุ่มฯมีความพร้อมในการพัฒนาการผลิตอ้อยอินทรีย์ฯ ไม่เพียงมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลติดตามและตรวจประเมินแปลงเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนปัจจัยการผลผลิต อาทิ ฟิลเตอร์เค้ก และ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรับรองมาตรฐานอ้อยอินทรีย์ จะเพิ่มค่าอ้อย 100 บาทต่อต้น และกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจะเพิ่มค่าอ้อย 50 บาทต่อตันด้วย” คุณบุญญฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

คุณฉัตรมงคล กล้วยภักดี
คุณฉัตรมงคล กล้วยภักดี เกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ บ้านแก้งขิงแดง ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม

สิ่งดี ๆ ของเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์

คุณฉัตรมงคล กล้วยภักดี เกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ บ้านแก้งขิงแดง ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม บอกว่า ตนมีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 30 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ทำนาเหมือนกับเพื่อนบ้านแถวนี้ แต่เมื่อมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยกันก็ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาส่วนหนึ่ง ประมาณ 15 ไร่ ทำแปลงปลูกอ้อย โดยช่วงแรก ๆ ปลูกอ้อยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องใช้ซื้อเงินซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงดิน และยาเคมีป้องกันโรคภัยศัตรูพืช ไม่เพียงต้นทุนการผลผลิตสูงเท่านั้น แต่ส่งผลให้ร่างกายมีสุขภาพที่แย่ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งสภาพดินและน้ำคุณภาพด้อยไปเรื่อย ๆ

เกษตรกรกำลังช่วยกันตัดอ้อย
เกษตรกรกำลังช่วยกันตัดอ้อย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คุณฉัตรมงคล จึงสมัครเข้าร่วมโครงการอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวังขนาย เมื่อปี 2555 แม้ว่าในช่วงแรกผลผลิตต่ำและสู้อ้อยเคมีไม่ได้ แต่หลังจากผ่านพ้นยังระยะปรับเปลี่ยนไปแล้ว เขาบอกว่าอ้อยอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ไม่ผิดหวังเลย ไม่เพียงได้ผลผลิตสูง 18 ตันต่อไร่เท่านั้น ราคารับซื้อทางโรงงานยังให้สูงกว่าอ้อยทั่วไป  100 บาทต่อตันด้วย

“ผมมีความสุขกว่าเดิมมาก รายได้ก็เพิ่มขึ้น แถมสุขภาพก็ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมในไร่ในแปลงที่แย่กลับดีขึ้นเยอะ มีพื้นที่นาเหลืออีก 15 ไร่ อาจจะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีก แต่ปัญหาอยู่บนพื้นที่ลุ่มมากไป ยังคิดหาหนทางอยู่ ผมชอบปลูกอ้อยอินทรีย์ ทุกๆวันผมอยู่ในแปลงอ้อย ดูแลตัดใบ ตัดหญ้า ให้ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น ทำตามข้อแนะนำของโรงงานเกือบทุกขั้นตอน บอกตรงๆเลยว่า ไม่ผิดหวังเลยจริงๆ แม้ว่าปีนี้ราคารับซื้อ 900 กว่าบาทต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าปีเกือบ ๆ 100 บาท แต่ก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าต้นทุนการผลิตอ้อยอินทรีย์ที่ผมปลูกและทำเองนี่ ต่ำ 400- 500 บาทต่อตัน ยังมีกำไรอีกมากเลย” คุณฉัตรมงคล กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

ขอบคุณภาพ : อินเตอร์เน็ต (ภาพหนอนกออ้อย / เกษตรกรกำลังช่วยกันตัดอ้อย)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated