เปิดสูตร! กรมวิชาการเกษตร…ป้องกันโรค “ปื้นเหลืองในกล้วยไม้”
กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้เฝ้าระวังการระบาดของโรคใบปื้นเหลือง

ระยะนี้จะมีแดดออกสลับกับมีฝนตก และมีลมกระโชกแรงบางช่วงในสภาพอากาศเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้เฝ้าระวังการระบาดของโรคใบปื้นเหลือง จะพบการเข้าทำลายในทุกระยะการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ มักจะพบอาการของโรคที่เกิดบริเวณใบล่างโคนต้นก่อนแล้วลุกลามสู่ใบยอด ด้านหน้าใบเป็นจุดกลมสีเหลือง ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นปื้นสีเหลืองตามแนวยาวของใบ พลิกดูด้านใต้หลังใบพบกลุ่มผงสีดำของเชื้อราคล้ายขี้ดินสอขึ้นอยู่เต็มไปหมด ถ้าอาการรุนแรงใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแห้ง และหลุดร่วงจากต้นได้ ทำให้ต้นกล้วยไม้ทิ้งใบหมด โดยจะสามารถพบการระบาดของโรคปื้นเหลืองได้ตลอดทั้งปี

การระบาดของโรคใบปื้นเหลืองในกล้วยไม้
การระบาดของโรคใบปื้นเหลืองในกล้วยไม้

เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ควรหมั่นสังเกตการระบาดของโรคปื้นเหลือง หากพบการระบาดของโรค ให้เกษตรกรเก็บใบที่เป็นโรคและใบที่ร่วงไปเผาทำลายนอกแปลง และพ่นด้วยสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรพิเนบ 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน โดยไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเกิน 3 ครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค และควรพ่นให้ทั่วโดยเฉพาะด้านหลังใบที่มีกลุ่มผงสีดำของเชื้อรา

ลักษณะของโรคใบปื้นเหลืองในกล้วยไม้
ลักษณะของโรคใบปื้นเหลืองในกล้วยไม้
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated