หนิง-ชิราภรณ์ ชาติชนะ
หนิง-ชิราภรณ์ ชาติชนะ

เรื่อง/ภาพ :กองบรรณาธิการไม่ลองไม่รู้

“ชิราภรณ์ ชาติชนะ เกษตรกรหญิงแกร่งชาวหนองบุญมาก จ.นครราชสีมา เปลี่ยนพื้นที่ไร่มันสำปะหลัง 9 ไร่ หันมาปลูกกล้วยหอมคาเวนดิชแบบเกษตรปลอดภัย ได้ผลผลิตดกดี ตัดกล้วยขายแค่ 2 ไร่ รับตังค์แล้วกว่าแสนบาท!!?”

โดยคุณหนิง-ชิราภรณ์ เล่าว่า เธอและสามี (คุณเอกชัย ชาติชนะ) ต่างชอบหาความรู้หาพืชใหม่ๆ มาทดลองปลูกเพิ่มทางเลือกให้กับชีวิต กอปรกับในหมู่บ้านมีการสนับสนุนการปลูกกล้วยหอมคาเวนดิชพอดี ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันปลูก ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับกล้วยหอมสายพันธุ์นี้ ซึ่งไม่เพียงเป็นพืชเศรษฐกิจกระแสแรงแซงกล้วยชนิดอื่นๆ ในท้องตลาด แต่เมื่อทดลองปลูกด้วยตัวเองแล้วกลับได้ผลเกินคาด

คุณหนิง ยังเผยถึงเหตุผลในการตัดสินใจปลูกกล้วยคาเวนดิชว่า จากเดิมทีอาชีพหลักของคนในละแวกรวมถึงบ้านของตนเองด้วย จะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังกันมานาน แต่พืชไร่ราคาไม่ดี อย่างมันฯ ราคาแค่ 1.20-1.50 บาท/กก. และถ้าเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่า 25-30% ราคาก็จะตกกว่านี้อีก ซึ่งที่ผ่านมาในการปลูกมันฯ พื้นที่ 9 ไร่ เมื่อขายผลผลิตแล้วหักต้นทุนค่าแรง ค่ารถ ค่าปุ๋ยต่างๆ จะเหลือกำไรเฉลี่ยไม่ถึง 5,000 บาท/ไร่ เปรียบเทียบกับการปลูกกล้วยหอมคาเวนดิช โดยมีทางเฮียอ้วน (คุณพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง โทร.081-696- 1852) เข้ามาส่งเสริมปลูก ประกันราคาขั้นต่ำ 6 บาท/กก. เบื้องต้น รายได้ต่างกันมาก

สวนกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช
สวนกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช

หมายเหตุ : ผลผลิต 1 ไร่ = 320 ต้น (320 เครือ) 1 เครือ= 25-30 กิโลกรัม (วิธีคำนวณ : จำนวนต้น/เครือ (320) x น้ำหนัก (25) x ราคาประกัน (6) = รายรับ ซึ่งหากคำนวณคร่าวๆ จะขายได้ 40,000 บาท/ไร่

“ในหมู่บ้านเรารวมกลุ่มกัน ปรึกษาและหาข้อมูลร่วมกันก่อนที่จะตัดสินใจปลูกกล้วยคาเวนดิช เพราะก่อนหน้านี้เกษตรกรอย่างพวกเราโดนหลอกกันมามาก มีคนเข้ามาสนับสนุนปลูกโน่นนี่อยู่ตลอด แต่สุดท้ายไม่มีตลาดรับซื้อ คือเขาแค่หวังขายพันธุ์ พอมากล้วยคาเวนดิชเราจึงต้องศึกษากันให้ดี อย่างตอนนี้ก็มีเพียง 11 รายในหมู่บ้านที่พร้อมจะลองเสี่ยงปลูกดู ซึ่งตัวเองเป็น 1 ใน 11 คน เพราะอยากลองดูให้คนอื่นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงหรือเปล่า ” คุณหนิง กล่าว

การจัดการสวนกล้วยหอมเขียว

วิธีการปลูกและดูแล เลือกใช้หน่อพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อ (พื้นที่ 9 ไร่/หน่อพันธุ์ 3,280 หน่อ/หน่อละ 35 บาท) เตรียมพื้นที่ ไถพรวนดิน ไถแปล ทำร่องปลูกขนาดกว้าง 3 เมตร x ความยาวตามพื้นที่/เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 2.50 เมตร จากนั้นใส่ปุ๋ยรองพื้นและรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกขี้วัวผสมขี้ไก่

การให้น้ำ ใช้ระบบน้ำหยดที่มาจากแปลงมันสำปะหลังเดิมปรับปรุงใช้ต่อ การให้น้ำจะวันละ 1 ครั้ง (ครั้งละ 1 ชม./20 ร่อง) เพราะดินที่นี่เป็นดินดำมีความอุดมสมบูรณ์และอุ้มน้ำดี ส่วน การให้ปุ๋ย ช่วง 1-3 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 เดือนที่ 4-6 ใช้สูตร 15-15-15 เดือนที่ 7 ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เดือนที่ 8 ขึ้นไปใช้สูตร 15-7-35 หรือใช้สูตร 0-0-60 ผสม 15-15-15 (อัตราการใส่ 25 กก./ไร่ เดือนละ 1 ครั้ง)

การไว้หน่อ ในเดือนที่ 6 ไว้หน่อตรงข้ามกับเครือกล้วยชุดเก่าที่ออก เริ่ม การเด็ดเกสรและตัดปลี (เดือนที่6-7) หลังจากกล้วยแทงปลีปล่อยให้ออกหวีครบ (มาตรฐานเกรดส่งออกไว้ประมาณ 7 หวี/เครือ) จากนั้นเด็ดเกสรใช้กระดาษทิชชูซับน้ำยางไม่ให้หยดโดนผิวและใช้แผ่นโฟมคั่นระหว่างหวี และตัดปลี (รองน้ำยางเก็บไว้ทำยากำจัดเชื้อรา) มีการฉีดน้ำยาชีวภาพเคลือบผิว+ฮอร์โมนเสริมเพื่อให้กล้วยผลยาว อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 อาทิตย์ จากนั้นตัดปลี 15 วันคลุมถุงกันแมลง

การป้องกันโรค-แมลง ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ก็มีปัญหาเชื้อรา ให้นำน้ำยางกล้วย 1 ส่วน ผสมกับเครื่องดื่มชูกำลัง (M150)1 ส่วน (อัตราส่วน 20 ซีซี : น้ำ 5 ลิตร) และทำช่วงเช้าก่อนแดดออกดีที่สุด หรือหากไม่มีเวลาฉีดช่วงเย็นก็ได้เพื่อช่วยป้องกัน

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ชุดแรกจะเก็บเมื่ออายุ 9-10 เดือน ผลผลิตหน่อชุดที่ 2 จะห่างจากรอบแรกประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี จะเก็บผลผลิตได้เงินทั้งหมด 7 ครั้ง รวมแล้วหากใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 9-10 ไร่ ย่อมได้จับเงินหลักล้านแน่นอน (ยังไม่หักต้นทุน) โดยในระยะเวลา 11 เดือน มีการทยอยตัดผลผลิตไปแล้วในพื้นที่ 2 ไร่ ทำให้มีรายรับแล้ว 100,000 กว่าบาท (ปัจจุบันราคา 9-12 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับความสวยของผลผลิต) หลังเก็บผลผลิตเสร็จต้องมีการตัดใบกล้วยทิ้ง จากนั้นเว้นไปอีก 1 เดือนจึงค่อยตัดต้นแม่ ส่วนผลผลิต (หวี) จะถูกส่งเข้ารถห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิทันทีหลังเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเก็บเกี่ยวผลผลิต

“อย่างตอนนี้ปัญหาที่ชาวบ้านเจอในการปลูกกล้วยพันธุ์นี้ คือเขาลงทุนสูง ต้องดูแลเอาใจใส่ น้ำต้องพร้อม และที่สำคัญเรื่องการบ่มเพราะต้องบ่มเย็นในอุณหภูมิ 12-16 องศาเซลเซียสผิวถึงจะเหลือง แต่ชาวบ้านไม่มีทุนห้องเย็น เราก็ต้องใช้ภูมิปัญญาบ่มร้อน อย่างที่บ้านจะใช้วิธีเอากล้วยใส่โอ่งแล้วจุดธูป 1 กำ ลงไปปักไว้ในโอ่งแล้วใช้ผ้าคลุม คือบ่มให้สุกได้แต่ผิวจะไม่เหลืองนะก็ต้องเรียนรู้กันไป ซึ่งในอนาคตหากคนคุ้นกับกล้วยพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นก็น่าจะทำให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยให้เกษตรกรอย่างเราๆ ลืมตาอ้าปาก หมดหนี้สินได้” คุณหนิง กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  1/1 หมู่ 3 ต.หนองไม้ไผ่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา 30410 โทร. 098-242-9335

สัมมานาเชิงวิชาการ "จับตา คาเวนดิช "กล้วยหอมเขียวปลูกในไทย... สดใสในตลาดโลก
สัมมานาเชิงวิชาการ “จับตา คาเวนดิช “กล้วยหอมเขียวปลูกในไทย… สดใสในตลาดโลก

ด่วน!!!สัมมนากล้วยหอมเขียวคาเวนดิช : ท่านที่สนใจปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวชดิช…สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนา 26 สิงหาคมนี้….รายละเอียดดูจากภาพโฆษณา หรือ โทร. 086 6782971, 089 7835887, 081 5546816

(ขอบคุณ : ภาพ/ข่าว จากนิตยสารไม่ลองไม่รู้ และสำนักพิมพ์นาคา โดย คุณอภิชาติ ศรีสอาด)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated