หนอนหัวดำมะพร้าวบุกชลบุรี...กรมส่งเสริมฯงัดทุกวิธี-หวังเกษตรกรร่วมมือกัน
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ทำพิธีเผาทำลายหนอนหัวดำมะพร้าว

จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวทั้งสิ้น 46,293 ไร่ จากการสำรวจข้อมูลการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวล่าสุดพบพื้นที่ระบาดรวม 7,071 ไร่ กระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ โดยอำเภอที่มีพื้นที่ระบาดมากได้แก่ อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา อำเภอบ้านบึง และอำเภอเมืองชลบุรี

สภาพสวนมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำเข้าโจมตี
สภาพสวนมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำเข้าโจมตี

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งวิธีดำเนินการแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าวระบาดทำลายผลผลิตที่ดีที่สุด คือการใช้วิธีผสมผสาน ไม่เน้นใช้วิธีใดวิธีหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งวิธีแรกที่เกษตรกรสามารถทำได้ทันทีคือการดูแลรักษาความสะอาดของแปลง หมั่นสำรวจแปลงถ้าพบศัตรูพืชคือหนอนหัวดำมะพร้าวให้รีบตัดทางใบและเผาทำลาย เพื่อตัดแหล่งอาศัยทันที จากนั้นให้ใช้ศัตรูธรรมชาติคือปล่อยแตนเบียนบราคอน เข้าไปควบคุมประชากรหนอนหัวดำ

ปล่อยแตนเบียน
ปล่อยแตนเบียน

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเพาะขยายพันธุ์แตนเบียนบราคอนไว้ใช้ในการควบคุมหนอนหัวดำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจะมีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตแตนเบียนบราคอน สนับสนุนให้กับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน นำไปขยายพันธุ์แตนเบียนบราคอนไว้ใช้เอง โดยการปล่อยแตนเบียนบราคอน อัตรา 200 ตัวจะครอบคลุมพื้นที่ 1 ไร่ ปล่อยทุกๆ 15 วัน แต่หากเกษตรกรสามารถปล่อยแตนเบียนได้มากกว่าอัตราที่กำหนดก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการลดจำนวนประชากรหนอนหัวดำได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนแห่งหนึ่งที่มีการผลิตและขยายพันธุ์แตนเบียนไว้ใช้กันเองมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าเกษตรกรสามารถผลิตแตนเบียนบราคอนไว้ใช้ควบคุมกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ให้การยอมรับในวิธีการใช้ศัตรูธรรมชาติในการควบคุมกำจัดศัตรูพืช

ฉีดสารเคมีเข้าลำต้น (วิธีการนี้ต้องทำตามคำแนะนำของกรมวิชาการเท่านั้น)
ฉีดสารเคมีเข้าลำต้น (วิธีการนี้ต้องทำตามคำแนะนำของกรมวิชาการเท่านั้น)

นอกจากนี้ การใช้สารเคมีก็เป็นหนึ่งในวิธีผสมผสาน ที่จะใช้เป็นวิธีสุดท้าย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระบาดมากๆ หรือไม่สามารถควบคุมด้วยวิธีการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อตัดวงจรการระบาดให้ลดลงอย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีจำเป็นต้องใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่าสารเคมีชนิดใดมีประสิทธิภาพในการทำลายหนอนหัวดำมะพร้าว ทั้งยังไม่มีสารพิษตกค้างทั้งในน้ำหรือเนื้อมะพร้าวจึงปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีรวมถึงผู้บริโภค

“การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวที่ได้ผลที่สุด นอกจากต้องใช้วิธีผสมผสานแล้ว สิ่งสำคัญเหนือสิ่งใดคือการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชน เนื่องจากหากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน หรือไม่ดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่พบการระบาด การแก้ปัญหาก็จะไม่ยั่งยืน และจะย้อนกลับมาสร้างปัญหาอีกในอนาคต” นายประสงค์ กล่าวย้ำ

ช่วยกันผลิตขยายแตนเบียน
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรช่วยกันผลิตขยายแตนเบียน…โดย นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายสามารถ ชื่นวงศา เกษตรจังหวัดชลบุรี ได้มาให้กำลังใจร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มที่

ด้านนายสามารถ ชื่นวงศา เกษตรจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ในระดับจังหวัด อำเภอและตำบล เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เป็นต้นมา โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี ดำเนินโครงการผลิตขยายแตนเบียนบราคอนเพื่อใช้ควบคุมและป้องกันการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว โดยได้บูรณาการโครงการแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   มณฑลทหารบกที่ 14 ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ สถานศึกษา ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากร ในการผลิตขยายแตนเบียนบราคอน จำนวน 9 จุด สามารถผลิตขยายแตนเบียน บราคอน ได้สัปดาห์ละประมาณ 200,000 ตัว ปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว 1,000 ไร่ ทุกสัปดาห์

ตลอดจนมีประชาสัมพันธ์โครงการแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยใช้แตนเบียนบราคอน เพื่อควบคุมและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว โดยจัดงานวันรณรงค์ปล่อยแตนเบียนบราคอนเพื่อควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว จำนวน 3 ครั้ง ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา และอำเภอเมืองชลบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยกันผลิตขยายแตนเบียนบราคอน แล้วนำไปปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว เพื่อควบคุมและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวให้หมดไปจากพื้นที่จังหวัดชลบุรี

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated