“รัฐบาล...ยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรตลอดมา” นายกประยุทธ์ พูดในวันเกษตรกรปี 60
วันเกษตรกร” ประจำปี 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญ ผ่านทางรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

หมายเหตุ-เกษตรก้าวไกล : เนื่องในวันพืชมงคล หรือ “วันเกษตรกร” ประจำปี 2560  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญ ผ่านทางรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2560 เวลา 20.15 น. โดยคัดมาเฉพาะที่เกี่ยวกับพี่น้องเกษตรกรโดยตรง ดังนี้

วันพืชมงคล หรือ “วันเกษตรกร” ประจำปี 2560
วันพืชมงคล หรือ “วันเกษตรกร” ประจำปี 2560

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

วันนี้เป็นวันพืชมงคล (12 พฤษภาคม 2560) ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกร ผู้ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็น “เสาหลัก” ที่ช่วยค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงได้ยกวันนี้ให้เป็น “วันเกษตรกร” สำหรับพิธีแรกนาขวัญที่ได้จัดขึ้นเมื่อเช้านี้ ถือว่าเป็นประเพณีโบราณของไทยมีทั้งการทำพิธีพุทธ ซึ่งก็คือพระราชพิธีพืชมงคล ในการทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ปราศจากโรคภัยและเจริญเติบโตได้ดี และพิธีพราหมณ์ ก็คือพิธีที่เราเรียกกันว่าพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เป็นการเริ่มไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว เพื่อให้เป็นอาณัติสัญญาณว่าฤดูเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว และเราก็ถือว่าเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยอันเป็นมงคลในช่วงการเพาะปลูกของปีที่กำลังมาถึง

ในการนี้กรมการข้าวที่เป็นผู้ดำเนินการปลูกข้าว ณ แปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาในฤดูนาปี 2559 ได้ขอพระราชทานพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน ทั้งข้าวนาสวนและข้าวไร่ จำนวน 11 พันธุ์ เพื่อใช้ในพระราชพิธี โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำมาใช้ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,865 กิโลกรัม และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” ที่ได้บรรจุในซองแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชน และกับชาวนาทั่วประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป

รัฐบาลนี้ มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะสนับสนุนและยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรตลอดมา ในโอกาสนี้พวกเราขอส่งแรงใจให้พี่น้องเกษตรกร สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะเริ่มขึ้น โดยผมและรัฐบาลจะดำเนินการมาตรการเพื่อดูแลและสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มความสามารถเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านความเป็นอยู่ และรายได้ของพี่น้องเกษตรกรทุกท่านด้วยนะครับ

ผมขอเรียนว่าการแก้ปัญหาในภาคเกษตรและการช่วยเหลือพี่น้องชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และเกษตรกรด้านอื่น ๆ นั้น ไม่ใช่เพียงพูดว่าเป็นไปตามความรู้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลก็จะสำเร็จ นั่นเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของเกษตรกรไทย อันนี้ไม่มีใครที่จะมาเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราก็ต้องถือว่าวันนี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่เราจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันนั้น สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ และความต้องการสินค้าเกษตร ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ในสังคมโลกในวันนี้ แต่ละพื้นที่มีสภาพแตกต่างกันทำให้เราต้องวิเคราะห์ให้ดีว่า พื้นที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกควรมีลักษณะอย่างไร ทั้งที่มีอยู่ในเขตหรือนอกเขตชลประทาน มีการกักเก็บน้ำมาอย่างต่อเนื่องเพียงพอหรือไม่ แม้แต่ระบบส่งน้ำ กระจายน้ำที่อาจจะยังไม่เพียงพอและยังเข้าถึงพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึงมากบ้าง น้อยบ้าง มีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเข้าช่วยในการผลิตหรือไม่ ได้มีการใช้เทคโนโลยี และความรู้ด้านต่าง ๆ มาพัฒนา มาใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วหรือยัง ปัจจัยเหล่านี้นะครับ ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และความสามารถในการเข้าสู่ตลาดของผลผลิต รวมถึงรายได้ของเกษตรกรด้วย อันนี้เป็นกังวล เป็นห่วง

ที่ผ่านมานั้นรัฐบาล ใช้เวลาตลอด 3 ปี ได้มีการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาทุกขั้นตอน เรียกว่าครบวงจร พร้อมกับสื่อสารกับพี่น้องประชาชน เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนามาอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้เพียงแต่บอกว่าท่านจะต้องทำอย่างไร หรือบังคับท่านอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างที่มีการกล่าวอ้างกัน แต่เราจะบอกว่าราคาผลผลิตจะขึ้นจะลง จะต่ำจะสูง ในช่วงใด ราคาเท่าไร เราต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร ช่วงไหนจะกักเก็บน้ำได้มากขึ้น ช่วงไหนจะขาดน้ำ ช่วงไหนจะต้องพบกับปัญหาจากภัยธรรมชาติ และเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร พื้นที่ใดจะประสบปัญหา พื้นที่ใดเหมาะสมควรจะปลูกพืชชนิดใด ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการสร้างการรับรู้แบบครบวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรสามารถปรับตัวได้ เพื่อมีการเตรียมตัวรองรับความเสี่ยง และสามารถรักษารายได้ ให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น

แต่ในการแก้ปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ให้ “ครบวงจร” ด้วยนะครับ ทั้งต้นทางกลางทางและปลายทาง ของแต่ละกระบวนการ ทั้งการปลูก การแปรรูป การนำออกขาย และการพัฒนาเป็นนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าต้องสัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำอย่างแนบแน่น เพราะเป็นปัจจัยหลักที่มีความเชื่อมโยงกับการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตของเรามาอย่างยาวนาน มีปัญหามากมาย แต่ก็ยังมีพี่น้องเกษตรกรบางท่าน ที่อาจจะยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยังคงคุ้นชินกับการทำแบบเดิมๆ สิ่งเดิมๆ ก็อาจได้รับจากการชี้นำเดิมๆ ด้วยนะครับ ที่ยังไม่ได้ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ อาจจะไม่ได้ดู ไม่ได้ระวัง ตั้งแต่ต้นทางของการทำเกษตรกรรม ก็คงเคยชินทำกันไปแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการจ้าง เพราะว่าแรงงานทำไร่นาปัจจุบันนั้น ลูกหลานก็ไม่ค่อยทำ เขามาทำงานในเมืองใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ อะไรบ้างก็ไม่เป็นไร ก็คงเหลือแต่พ่อแม่ หรือผู้มีอายุ ทำไร่ทำนาอยู่ในปัจจุบันอยู่อีกเป็นจำนวนมากอาจจะปรับตัวไม่ทัน เดิมอาจเป็นเจ้าของที่ดินนำไปใช้ในการเพาะปลูก แต่อาจจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรมอะไรบ้างเลย ใช้แรงงานทั้งหมด ก็ทำให้ไม่มีการรักษาผืนดินที่ดีขึ้น ผลผลิตก็ออกมาน้อยหรือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็เสียหายมาก มีการใช้สารเคมีทำให้ดินเสีย ดินเสื่อม เหล่านี้นะครับนำไปสู่การมีหนี้สิน แล้วก็ทำให้เกิดภาระผูกพัน กลายมาเป็นจากเจ้าของนา เจ้าของไร่ เป็นต้องเช่าที่ดินจากนายทุนแทน เมื่อรายได้ไม่เพียงพอ ไม่พอใช้ ก็ต้องกู้ยืมเพิ่ม พอกพูนบนหนี้สินเดิม ทั้งหนี้ในระบบ นอกระบบ จนไม่สามารถจะปลดตัวเองจากพันธะสัญญากับเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของโรงสีได้ก็จะวนเวียนไปมาแบบนี้ ผมพูดเพราะอยากให้เห็นภาพ อยากให้มองให้ครบ ทำให้เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยน ปรับตัว ฟังให้รอบด้าน ทั้งนี้ เพื่อจะนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ ก็ไม่ยากจนเกินไปถ้าทุกคนได้ติดตาม ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงของตัวเองเปลี่ยนเร็ว มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเร็วขึ้น นะครับ

นโยบยยกระดับมาตราฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน
นโยบยยกระดับมาตราฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ

วันนี้ เราทราบดีนะครับว่าหลายประเทศมีการลงทุนปลูกข้าวกันเอง ทั้งในประเทศและในพื้นที่ต่างประเทศแล้ว หลายประเทศวันนี้ก็จะหาซื้อข้าวคุณภาพที่มีราคาถูกเพื่อการบริโภค ซึ่งก็เริ่มมีออกมาแข่งกันมากขึ้นในตลาด ราคาแตกต่างกันมาก ระบบการซื้อขายข้าวในตลาดล่วงหน้าก็อาจทำให้เกิดการเก็งกำไร เกิดความกังวลในปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่จะต้องส่งผลกระทบต่อราคาและผลผลิตข้าวราคาข้าวในตลาดล่วงหน้าจึงผันผวนมากกว่า ขณะเดียวกันระบบพ่อค้าคนกลาง ที่อาจจะมีการตัดราคาซื้อบวกราคาขาย ที่บางครั้งไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่เหล่านี้เป็นปัญหาทับซ้อนของพี่น้องชาวเกษตรกรมายาวนาน รัฐบาลนี้พยายามมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการที่จะแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ในระยะสั้นที่สุด และสามารถปรับตัวได้ สร้างรายได้ให้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ลองคิดดูว่าทำไมรัฐบาลนี้จะต้องมาทำน้ำประปา ที่ยังขาดอยู่อีก 7 พันกว่าหมู่บ้าน ทำไมจะต้องมาซ่อมที่เก็บน้ำเกือบ 2 หมื่นแห่ง ทั้ง ๆ ที่ได้โอนให้องค์กรส่วนท้องถิ่นไปดูแลแล้ว ก็ไม่ได้โทษองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลต้องกำกับดูแล ติดตาม ดูแลเรื่องงบประมาณ ดูแลเรื่องวิธีการทำได้หรือไม่ได้ ไม่ได้จะทำอย่างไร วันนี้ก็พยายามติดตามในเรื่องนี้อยู่ด้วย ที่ผ่านมานั้นอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ขณะเดียวกันเราก็คงต้องเร่งการก่อสร้างระบบขนส่งน้ำที่ไม่สมบูรณ์ หรือไปสร้างในที่ไม่ควรจะสร้าง ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพียงพอ ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน ก็เพราะน้ำนั้นเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการทำเกษตรกรรมทุกชนิดนั่นเองนะครับ

รัฐบาลนี้ได้นำปัญหาต่าง ๆ มาพิจารณาทั้งหมด และทยอยดำเนินการไปในทุกมิติ ทั้งซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุด สร้างเพิ่มในส่วนที่ไม่เพียงพอ ผมอยากให้ไปดูว่าหลาย ๆ อย่าง มีความก้าวหน้าไปมากพอสมควร รัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร โดยให้ทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร นายทุนพ่อค้าคนกลาง โรงงาน รวมถึงนักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วม แล้วก็พยายามที่จะเข้าใจปัญหาร่วมกัน ช่วยกันพูดคุยหารือถึงสิ่งที่ต้องแก้ไข แล้วก็แก้ไขไปด้วยกัน เข้ามาช่วยกันทำงาน ติเพื่อก่อ ไม่อยากให้พูดแค่ว่าเป็นห่วงเป็นใยเกษตรกร แล้วก็พูดแต่เพียงว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็อยากให้ทุกคนได้ช่วยกันมาระดมความคิดเห็น แล้วหาวิถีทางตัดสินใจให้ได้ว่า อะไรที่เราจะทำร่วมกันได้บ้าง ช่วยกันสนับสนุน เป็นกำลังใจกัน มากกว่าติเพียงอย่างเดียว ปัญหาไม่ใช่แก้ได้ง่าย ๆ แต่เราก็พยายามอย่างเต็มที่แล้ว จะเห็นได้ว่าเราพยายามมามากมาย

การจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เราจะต้องดำเนินการแบบครบวงจร อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ต้องใส่ “ใจ” ลงไปในการเพาะปลูก เริ่มจากการปรับปรุงพันธุ์ การรักษาและพัฒนาดิน การใช้ปุ๋ยที่ไม่ทำลายคุณภาพของดิน หรือใช้แล้วก็ต้องมีวิธีพลิกฟื้นผืนดิน เพื่อให้เราสามารถใช้ผืนดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดีขึ้นกว่าเดิม ต้องรู้จักให้และรู้จักรับจากผืนดินที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของเราทุกคน สร้างให้ผลผลิตมีคุณภาพ สร้างชื่อ สร้างความน่าเชื่อถือ นำนวัตกรรมมาปรับใช้ และหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้ที่ยั่งยืน ที่ผ่านมานั้น หลายพื้นที่ จากการสำรวจมีการใช้ทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง มีการเร่งปลูกข้าว เร่งปลูกพืชคุณภาพต่ำ เน้นให้ได้ปริมาณมากเอาไว้ ปลูกหลาย ๆ ครั้ง เพื่อจะนำออกมาขายให้ได้มากที่สุด คุณภาพก็ไม่ดี ขายก็ลำบาก ราคาก็ต่ำ ทำให้มีปัญหาต้องหาที่เก็บไว้อีก เมื่อจะออกนำมาขายภาครัฐ รัฐก็ระบายออกได้ยาก หรือขายเองก็ราคาต่ำมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกอย่างเกิดความเสียหาย เราต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมให้กลับมาให้ได้โดยเร็ว ถ้าหากว่าเราทำให้เสียหายเช่นนี้อีกต่อไป เราจะแก้ปัญหาอีกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็นปัญหาแล้ว เราก็ต้องพยายามแก้ไขกันต่อไปอย่างเต็มที่ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และการปรับเปลี่ยนเพิ่มคุณภาพของการเพาะปลูกในระยะยาวอีกด้วย

วันนี้ ผมขอยกตัวอย่างความพยายามของภาครัฐที่จะดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของความก้าวหน้าของนโยบายที่จะส่งเสริมภาคเกษตรอย่างยั่งยืน สำหรับการปลูกข้าว โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน

สำหรับข้าว จะมีการดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่

(1) โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ (2) การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และ (3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี งบประมาณรวม 25,871.14 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้มีการเร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่โดยเพิ่มพื้นที่เป็น 750 แปลง เนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 0.75 ล้านไร่ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีใน 21 จังหวัด รวมพื้นที่ 300,000 ไร่ และขยายพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายใน 3 ปี ครอบคลุมเกษตรกรจำนวนกว่า 66,000 ราย ในปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้ส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ มีเกษตรแปลงใหญ่ที่ปลูกข้าวรวม 425 แปลง เนื้อที่กว่า 1 ล้านไร่ ส่วนการปลูกข้าวอินทรีย์ มีแหล่งผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองแล้วใน 47 จังหวัด จำนวน 5,362 แปลง พื้นที่รวมกว่า 60,000 ไร่

นอกจากนั้น รัฐบาลยังดำเนินการแบบบูรณาการในการรณรงค์เพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงข้าว โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเทคโนโลยีจากบัญชีนวัตกรรมไทยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เป็นฐานข้อมูลในลำดับแรก โดยยึดความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งจัดหาตลาดรองรับผลผลิตจากพื้นที่แปลงใหญ่ ที่ให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างรากฐานให้ชุมชน และพี่น้องเกษตรกร ในการเพิ่มรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการน้อมนำเอาหนึ่งใน “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักดำเนินงานของภาครัฐ จากพระราชดำรัสว่า “การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสร้างความเจริญในระดับสูงขึ้นได้ต่อไป” ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นหัวใจในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเพิ่มช่องทางการตลาดสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และยกระดับรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเพิ่มช่องทางการตลาดสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ยกระดับรายได้ และสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้พาณิชย์จังหวัดผลักดันเกษตรกรผลิตสินค้าอินทรีย์สู่มาตรฐาน สากล ปัจจุบันเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดต่าง ๆ กว่า 30 จังหวัด โดยในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกประมาณ 2,400 ล้านบาท (หรือร้อยละ 60) และคาดว่าในปี 2560 นี้ ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ สามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับก่อนหน้า สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว พืชผัก ผลไม้ เหล่านี้เป็นต้น มีเกษตรกรหลายรายได้พัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์จนได้รับมาตรฐานสากลแล้วนะครับ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์อีกจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในระดับที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน สากล ทั้งนี้ ก็เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้น จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการแปรรูป การสร้างตราสินค้า การขอรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เชื่อมโยงสู่ตลาดโลก ในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีโครงการอบรมฝึกปฏิบัติเชิงลึกในสวนเกษตรอินทรีย์ สำหรับพาณิชย์จังหวัดที่มีเกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ในโครงการ Organic Training Program ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พาณิชย์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านส่งเสริม และพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ ได้มีความรู้และศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มช่องทางการตลาดการสร้างเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์และผู้ประกอบการสามารถถ่ายทอดและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดของตนได้ ทั้งในด้านการวางแผน การตลาด การบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ที่เรียกว่า Story ของสินค้านะครับ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การขอตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับสากล และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติอีกด้วย การอบรมฝึกปฏิบัติเรื่องเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ซึ่งในเรื่องนี้ ครั้งนี้กำหนดเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2560 จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกร ที่ทำเกษตรอินทรีย์กับพาณิชย์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ โดยมีการฝึกปฏิบัติในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียง และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล (IFOAM Accredited) อาทิ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนบ้านหัวอ่าว สามพรานโมเดลนะครับ จังหวัดนครปฐม และไร่ปลูกรัก จังหวัดราชบุรี เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งด้านการวางแผนการตลาด ช่องทางการตลาด ตลาดดิจิตอล การสร้างเครือข่ายเกษตรกร และผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ ผมขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่สนใจ ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พาณิชย์จังหวัดนะครับ สร้างเครือข่ายกันออกไป เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

ความพยายามทั้งหมดทั้งมวลของรัฐบาล ที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งที่เป็นเงินงบประมาณและวงเงินสินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธกส. ธนาคารออมสิน ก็เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรด้วย ในการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องอย่างเป็นระบบและยั่งยืน วันนี้ที่ผมอยากทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน อยากพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากผมเห็นว่ามีกลุ่ม หลาย ๆ กลุ่มนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมือง กลุ่มอดีตนักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ หลาย ๆ คน หลาย ๆ ฝ่าย ก็มาชี้แจงแถลงกัน ในสภาต่าง ๆ อาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง ว่า คสช. รัฐบาล ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ผมอยากให้ประชาชนลองฟังดูแล้วพิจารณาให้ถ่องแท้ ทุกคนต่างมีหน้าที่ แล้วก็แม่น้ำ 5 สาย ล้วนทำงาน ร่วมมือกันมาโดยตลอด ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าคงต้องทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น วันนี้เราถึงมี ปยป. ขึ้นมาทำงานเพื่อจะบูรณาการ ทั้งแม่น้ำ 5 สาย ไปด้วยกันนะครับ ผมไม่ได้ตำหนิใครเลย ทุกคนทำหน้าที่ได้ดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว ที่ผ่านมานั้นต้องรับรู้ว่ารัฐบาล คสช. ทำอะไรไปแล้วบ้าง ผลผลิตเกษตรทั้ง 6 ชนิด พืชหลัก รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่ละกิจกรรม อย่ามาพูดรวมกันอย่างเดียวว่าเกษตรกร ไม่ดีเลย ไม่มีรายได้ที่เพียงพอ รัฐบาลไม่ช่วยเหลือ เราทำทุกอย่างทั้งข้าว ทั้งยาง ทั้งมัน ข้าวโพด ปาล์ม อ้อย นะครับ แล้วที่เกี่ยวข้องที่สุดก็คือ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน อย่าลืมนะครับ ทุกอย่างต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นเราก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ จะเกิดความขัดแย้งกันอย่างไม่สิ้นสุด ด้วยความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันนะครับ.

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่เป็นฉบับเต็มๆ อ่านได้ที่  https://goo.gl/84oB8v)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated