“อินทผาลัม” จะถลำลึกหรือจะไปโลด?
อินทผาลัม จะถลำลึกหรือไปโลด? ... คำตอบอาจจะยังมาไม่ถึง แต่ความห่วงใยก็เกิดขึ้นแล้ว

หมายเหตุ-เกษตรก้าวไกล :  เนื่องจากเวลานี้ มีโฆษณาเรื่องพันธุ์อินทผาลัมกันมาก และมักมีคำถามจากเกษตรกรเสมอว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจจริงหรือ อนาคตจะยั่งยืนแค่ไหน…”เกษตรก้าวไกล” จึงขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง พร้อมที่จะรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ “คำตอบอาจยังมาไม่ถึง แต่คำห่วงใยก็เกิดขึ้นแล้ว” ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงอื่นใด (สำหรับท่านที่ต้องการแสดงความคิดเห็นส่งมาได้ที่ lungpornku2@gmail.com หรือ id line 0813090599)

คุณศักดา ศรีนิเวศน์ กับ อ.ประทีป กุณาศล ที่สวนอินทผาลัม โครา=
คุณศักดา ศรีนิเวศน์ (ขวาสุด) กับ อ.ประทีป กุณาศล (คนกลาง) เกี่ยวก้อยกันไปดูงานปลูกอินทผาลัม ที่สวนอินทผาลัม โคราช ของคุณประทิน อภิชาติเสนีย์ เมื่อ 4 สิงหาคม 2559

ดีกับคนเริ่มต้น คนตามหลัง(อาจ)หมดตูด”

  1. สถานการณ์การปลูกอินทผาลัมของประเทศไทย คิดว่าที่ปลูกกันนั้นได้ผลดีหรือไม่?

การปลูกและการผลิต ต้องยอมรับว่าเวลานี้มีปลูกกันทุกภาค แต่เท่าที่ติดตามดูผมว่าผลผลิตหลายที่ ยังไม่ดีทีเดียว ถ้าราคาเหลือกิโลกรัมละ 100 – 150 บาท ก็ไม่คุ้มแล้วครับ

เกษตรกรที่ปลูกบอกว่าต้นหนึ่ง 100-200 กิโลกรัมๆ  50 บาทก็อยู่ได้ แต่จริงๆมันไม่ได้อย่างนี้ทุกต้น เพราะความไม่เสถียรในเรื่องรสชาติและความหวานของแต่ละต้นในพันธุ์เดียวกัน

  1. ตลาดอยู่ที่ไหนและความนิยมในหมู่บริโภคคนไทย คิดว่าดีไหม?

เท่าที่ชิมดูผมว่าเป็นของกินของคนมีเงินนะ รสชาติออกฝาดนิดๆ เกือบทุกต้น สำหรับผม แค่กิโลละ 50 บาท ผมว่าซื้อพุทรากินดีกว่า แต่คนอื่นผมไม่ทราบ ผมว่ารสชาติไม่ถูกรสนิยมคนไทยนะ แค่เห่อเพราะของใหม่ ดูทะลายกับลูกมันสวยดี

  1. หากคิดจะปลูกควรเริ่มต้นอย่างไร …เตรียมพร้อมในเรื่องอะไรบ้าง?

แค่ราคาพันธุ์ก็ถอยแล้วครับ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นละ 1,200 บาท จะไหวเรอะ

  1. ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปลูกได้ผลดี เช่น พันธุ์ ควรเป็นพันธุ์อะไร อย่างไร?

พันธุ์ที่ดี พันธุ์เดียวกันแท้ๆ จากเนื้อเยื่อ คุณภาพกับรสชาติยังไม่เหมือนกัน บางต้นก็ฝาดมาก ต้องขุดออกทิ้ง แถมมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถแยกเพศได้ด้วยสายตาเลย เกษตรกรต้องมีต้นตัวผู้เพื่อเก็บเกสรไปผสมให้กับต้นตัวเมีย ไม่เช่นนั้นไม่ได้ลูก ยากครับ เป็นการปลูกพืชที่ต้องการความปราณีตมาก ถ้าราคากิโลกรัมละ 500 บาท ก็พอไหว แต่ถ้าปลูกกันมากๆ คนปลูกทีหลังเสร็จแน่

  1. ปัญหาการปลูกในประเทศไทยที่เกษตรกรควรระวัง?

ปัญหาของอินทผาลัม เหมือนมะพร้าว ศัตรูที่สำคัญคือด้วง ถ้าเข้าทำลายเมื่อไร 1,200 บาท หายวับไปกับตา ยังไม่รวมค่าแรงปลูก ค่าปุ๋ย ฯลฯ

  1. ที่มีการประกาศโฆษณาขายพันธุ์กันตอนนี้ ให้เลือกซื้ออย่างไร?

การขายพันธุ์ แต่ละรายก็บอกว่าเป็นตัวเมียทั้งหมดจากเนื้อเยื่อ แต่คนซื้อไปปลูกอย่าน้อยประมาณ 2-3 ปี จะรู้ผล ถ้าออกมาไม่ดี ก็เจ๊ง เสียเวลาไปเปล่าๆ ธุรกิจนี้ดีกับคนเริ่มต้น กับคนขายพันธุ์ คนตามหลัง(อาจ)หมดตูดได้ครับ

  1. มองระยะยาวอิมทผาลัมประเทศไทย จะมีความยั่งยืนแค่ไหน ไปได้ไกลไหม?

ธุรกิจตัวนี้ ก็เหมือนกล้ายางดีที่คนขายพันธุ์กับคนปลูกแรกๆ คนหลังหมดตัว ถ้าจะทำให้ยั่งยืนต้องปลูกในพื้นที่ๆใหญ่มากๆ ทำให้ผลผลิตออกขายได้ตลอดปี จึงจะครองตลาดได้ ชึ่งอินทผาลัม ก็เหมือนมะพร้าวเวลาช่วงฤดูก็จะมีผลผลิตออกมาก ราคาก็จะตก พอหมดช่วงฤดูก็จะให้ผลผลิตออกน้อยไม่พอกับความต้องการของตลาดราคาก็จะสูง

สวนอินผาลัม โคราช
สวนอินทผาลัม…เริ่มมีให้เห็นในหลายจังหวัด 

ตอนนี้คนปลูกช่วงแรกรวย กิโลกรัมละ 500 บาท ต้นหนึ่งๆผลผลิตอย่างต่ำแค่ 100 กิโลต่อต้นต่อปี ก็ได้ 50,000 บาทแล้ว ถ้าไร่หนึ่งมี 20 ต้น ขายได้ไร่ละล้านบาท ดูตัวเลขแล้วน่าทำนะ ตัวเลขคล้ายๆลองกองสมัยแรกๆจากกิโลกรัมละ 300 บาท เหลือ 3 กิโลกรัม 100 บาท

ถ้าขายสดไม่ได้ จะอบหรือตากแห้งก็ไม่คุ้ม เพราะบ้านเราความชื้นสูง ต้นทุนจะสูงกว่านำเข้า ที่สำคัญคือคุณภาพสู้ที่นำเข้าไม่ได้แน่นอน

ผมว่าอินทผาลัมเป็นผลไม้แฟชั่น ของคนมีสตางค์…ปลูกมะพร้าวดีกว่ามากมาย ขายได้ทุกระยะ ส่งออกก็สดใส ส่วนอินทผาลัมส่งออกจีนไม่ได้ แค่ราคาก็ส่ายหน้าแล้ว แถมรสชาติสู้พุทราจีนไม่ได้ ได้เพียงแค่สีสันเท่านั้น

สรุปว่าเกษตรตามกระแส มีสิทธิ์หมดตัวเหมือนเดิม มันเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ เราเป็นห่วงคนที่ลงทุนตามกระแส รุ่นแรกๆไม่น่าห่วง…ทุกวันนี้ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ไม่ใช่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” …คนขายพันธุ์ไม้รวยกว่าคนปลูกแน่นอนครับ

หมายเหตุ : คุณศักดา ศรีนิเวศน์ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการเกษตรอิสระ และเป็นคอลัมน์นิสต์ “เกษตรต่างแดน” ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และเครือมติชน ติดต่อได้ที่  s_sinives@yahoo.com

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated