มันมาแล้ว! 2 ด้วงงวงกล้วย...แนะวิธีปราบให้อยู่หมัด
กล้วยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเวลานี้...การดูแลจัดการถือว่าสำคัญที่สุด โดยเฉพาะหน้าฝน...

มันมากับฝนอีกแล้ว…กรมวิชาการเกษตรแนะ ในช่วงฝนตกและอากาศร้อนชื้นแบบนี้ เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยเฝ้าระวังด้วงงวง 2 ชนิด คือ ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย และด้วงงวงเจาะต้นกล้วย

  • สังเกตอย่างไรว่าด้วงมาแล้ว

ด้วงทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นกล้วย ทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม และทุกกล้วยมีสิทธิ์ทั้งหมด ให้สังเกตการเข้าทำลายของด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย จะพบตัวหนอนเจาะชอนไชกัดกินทำลายระบบส่งน้ำและอาหารของเหง้ากล้วยที่อยู่ในระดับพื้นดินโคนต้นไปเลี้ยงลำต้นขาดตอนชะงักไป ไม่สามารถมองเห็นร่องรอยการทำลายของหนอนได้ชัด หากรุนแรงมาก หนอน 5 ตัวต่อ 1 เหง้ากล้วยจะสามารถทำให้ต้นกล้วยตายได้ กรณีมีแมลงติดมากับหน่อกล้วยปลูกใหม่ หน่อใหม่จะตายก่อนจะให้เครือ ในส่วนของด้วงงวงเจาะต้นกล้วย ตัวเต็มวัยจะวางไข่บริเวณกาบกล้วยส่วนลำต้นเหนือพื้นดินขึ้นไปถึงกลางต้น หนอนจะเจาะกัดกินเข้าไปทีละน้อยจนถึงไส้กลางต้น จะเห็นรอบต้นมีรูพรุนทั่วไป ทำให้ต้นกล้วยตาย หากเข้าทำลายในระยะใกล้ออกปลีถึงตกเครือ เครือจะหักพับกลางต้นหรือเหี่ยวเฉายืนต้นตาย

จะกล้วยหอม หรือกล้วยน้ำว้า ก็มีสิทธิ์ถูกด้วงงวงกล้วยเข้าทำลายได้
จะกล้วยน้ำว้า หรือกล้วยหอม จะเหง้ากล้วยหรือต้นกล้วยก็มีสิทธิ์ถูกด้วงงวงกล้วยเข้าทำลายได้
กล้วยกำลังออกปลีสวยๆ
กล้วยกำลังออกปลีสวยๆ
  • ปราบด้วงอย่างไรให้อยู่หมัด

เกษตรกรควรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นกล้วยในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ สำหรับต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กวางกระจายหงายรอยตัดขึ้นให้แห้งเร็ว ไม่เป็นที่หลบอาศัย และแหล่งอาหารของตัวเต็มวัย อีกทั้งในการปลูกกล้วยใหม่ควรเลือกหน่อกล้วยปราศจากแมลง หากไม่แน่ใจให้จุ่มด้วยสารคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีขุดหน่อกล้วยหรือตัดต้นแล้ว ให้นำออกจากแปลงปลูกในทันที และใช้ดินกลบหลุมที่ขุดด้วยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการทิ้งไว้ข้ามคืนคาหลุมหรือในแปลง เพื่อป้องกันตัวเต็มวัยวางไข่ในต้นหรือเหง้าเดิมตรงรอบแผล

ตรงโคนกล้วยคือจุดที่จะวางกับดักด้วงงวง
ตรงโคนกล้วยคือจุดที่จะวางกับดักด้วงงวงกล้วย

นอกจากนี้ ให้เกษตรกรใช้กับดักในการป้องกันและลดความความเสียหาย โดยใช้ต้นที่ตัดเครือแล้วมาหั่นเป็นท่อนยาว 30 เซนติเมตรผ่าครึ่งตามยาว และนำมาวางคว่ำรอยผ่าหันลงดินบริเวณใกล้โคนต้น ให้วางท่อนกล้วยกับดักในสวน จำนวน 1 ท่อนต่อระยะห่าง 10 เมตร เพื่อล่อตัวเต็มวัยให้เข้ามาวางไข่ในกับดัก หมั่นจับตัวเต็มวัยในกับดักมาทำลาย และควรเปลี่ยนท่อนกับดักบ่อยๆ เพราะท่อนกล้วยเก่าจะเหี่ยวมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งให้ใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยราดโคนต้นกล้วยสูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร และราดรอบโคนต้นรัศมี 30 เซนติเมตร วิธีนี้จะช่วยป้องกันการเข้าวางไข่ กำจัดหนอน และตัวเต็มวัยที่หลบซ่อนโคนต้นกล้วยได้

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : สิงหาคม 2559)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated