ธ.ก.ส.ช่วยได้...ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคแมลง-เปิดให้ประกันภัยข้าวและพืชผลต่างๆ
ธ.ก.ส.ช่วยเกษตรกรลดความเสียหายจากภัยต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคแมลง ฯลฯ (ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค ธนศักดิ์ เหล่าสมบัติ)

อาชีพการเกษตร โดยเฉพาะทำนา มีความเสี่ยงสูงเพราะต้องพึ่งพาฝนฟ้าอากาศเป็นหลัก ในวันนี้ สบายใจหายห่วงได้ เพราะรัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการประกันผลพืชผล เพื่อคุ้มครองภัย กรณีเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่นกับอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ศัตรูพืชหรือโรคระบาด เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันในราคาไม่แพง  แต่ได้รับความคุ้มครองสูงสุดถึง 1,111 บาทต่อไร่  แถมเกษตรกรสามารถทำประกันภัยได้ไม่จำกัดจำนวนไร่   เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ได้เงินชัวร์ เพราะใช้วิธีการประเมินความเสียหายตามข้อกำหนดของรัฐบาล

คุณสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย และคุณเกตโกมล ไพรทวีพงศ์ ...สองผู้บริหาร ธ.ก.ส. ขณะชี้แจงเกี่ยวกับโครงการประกันภัยพืชผลเมื่อเร็วๆนี้
(จากซ้าย) คุณสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย และคุณเกตโกมล ไพรทวีพงศ์ …สองผู้บริหาร ธ.ก.ส. ขณะชี้แจงเกี่ยวกับโครงการประกันภัยพืชผลเมื่อเร็วๆนี้

ธ.ก.ส. ตั้งใจทำงานช่วยเหลือเกษตรกร

คุณสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  กล่าวว่า  ปัจจุบันผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศและการกระจายตัวของปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลง ทุกภูมิภาคของโลกได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล  ประเทศไทยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นกัน ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก การประกันภัยพืชผลถือเป็นแนวทางหนึ่งที่นานาประเทศใช้บรรเทาความเดือนร้อนจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติให้แก่เกษตรกร

ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับส่วนงานของภาครัฐดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลจัดทำโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรบริหารจัดการความเสี่ยงจากความเสียหายที่จะได้รับด้วยการทำประกันภัยพืชผล เกษตรกรสามารถนำเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไปลงทุนทำการเกษตรในรอบการเพาะปลูกใหม่ได้ สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ ธ.ก.ส.ในการดำเนินงานโครงการประกันภัยพืชผลเพื่อขยายพื้นที่การประกันภัย รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลให้แพร่หลายครอบคลุมยิ่งขึ้น  และส่งเสริมให้เกษตรกรมีระบบบริหารความเสี่ยงด้านการผลิตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 – ปัจจุบัน

ในการดำเนินงานโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 มีผลการดำเนินการ จำนวน 1.512 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 100.8 ของพื้นที่เป้าหมาย จำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 92,054 ราย จำนวน 172,729 แปลง ต่อเบี้ยประกันภัยรวม 614,34 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 11,946 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.98 ของเกษตรกรผู้เอาประกันภัยทั้งหมด จำนวนพื้นที่ที่ได้รับค่าสินไหมทดแทน 128,130.15 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.47 ของพื้นที่เอาประกัน ซึ่งเกษตรกรสามารถนำเงินค่าสินไหมทดแทนและเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปใช้ในการผลิตรอบใหม่ได้ (ค่าสินไหมทดแทน 1,111 บาท/ไร่ และเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 1,113 บาท/ไร่ ) ถือเป็นการลดความเสี่ยงด้านการผลิตได้ทางหนึ่ง

ข้อมูลการจ่ายสินไหม/คืน ประกันภัยข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2558
ข้อมูลการจ่ายสินไหม/คืน ประกันภัยข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2558

เพิ่มจำนวนพืชในโครงการประกันภัยพืชผล

ข่าวดี…จากการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการปฎิรูปการประกันภัยพืชผล ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ส.ศ.ก.) ได้เสนอข้อมูลการรับประกันภัยพืชอื่น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพด และมันสำปะหลัง  ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้นำเสนอ การประกันภัยลำไย ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเป็นอันดับ 1 ของผลไม้ส่งออกไทย

แผนที่แสดงระดับพื้นที่ความเสี่ยงในการเพาะปลูกพืช
แผนที่แสดงระดับพื้นที่ความเสี่ยงในการเพาะปลูกพืช

 

จ่ายค่าเบี้ยประกันตามทำเลความเสี่ยง

ธ.ก.ส.ได้จัดทำแผนที่แสดงระดับพื้นที่ความเสี่ยงในการเพาะปลูกพืชเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  1. พื้นที่สีแดง ที่มีความเสี่ยงเจอภัยธรรมชาติสูง กำหนดให้เกษตรกรจ่ายเบี้ยในอัตรา 100 บาท/ไร่ มี 17 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี กทม. กำแพงเพชร ลพบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา ยโสธร บึงกาฬ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก นครสวรรค์ สงขลา นครศรีธรรมราช สุโขทัย อ่างทอง
  2. พื้นที่สีเหลือง จ่ายเบี้ย 90 บาท/ไร่ มี 14 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท กาฬสินธุ์ พัทลุง นครปฐม อุบลราชธานี ชลบุรี อุทัยธานี ตาก หนองคาย พิจิตร ขอนแก่น มหาสารคาม อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี
  3. พื้นที่สีเขียวเข้ม จ่ายเบี้ย 80 บาท/ไร่ มี 14 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี น่าน เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู  ปัตตานี อำนาจเจริญ สุราษฎร์ธานี  มุกดาหาร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี สุรินทร์ สระบุรี นครพนม
  4. พื้นที่สีเขียว จ่ายเบี้ย 70 บาท/ไร่ มี 13 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดแพร่ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี พะเยา อุดรธานี แม่ฮ่องสอน นครนายก เลย สกลนคร สระแก้ว นราธิวาส
  5. พื้นที่สีเขียวอ่อน จ่ายเบี้ย 60 บาท/ไร่ มี 19 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุทรสงคราม ระนอง สมุทรสาคร ตรัง จันทบุรี ลำปาง ระยอง สมุทรปราการ ยะลา สตูล ชุมพร เชียงใหม่ ลำพูน ราชบุรี ตราด เชียงราย

สนใจประกันภัยพืชผล…ซื้อได้ไม่ยาก

เมื่อเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ (ผู้เอาประกันภัย) โดยซื้อเบี้ยประกันภัยกับ ธ.ก.ส. (รัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร) ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย ซึ่งปัจจุบันบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย บมจ.ทิพยประกันภัย  บมจ.พูนประกันภัย บมจ.นวกิจประกันภัย บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ บมจ.วิริยะประกันภัย

เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 จะได้รับความคุ้มครอง ในกรณีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวเย็น หรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ เกษตรกรจะได้รับความคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ หากเกิดความเสียหายจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด เกษตรกรจะได้รับความคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่

คุณเกตโกมล ไพรทวีพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เกษตรกรที่มีสิทธิ์ซื้อประกันภัยได้ ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2558/2559 แล้ว และเพาะปลูกข้าวนาปีในปีนี้ (ปีการผลิต 2559/2560) เพียงนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และสำเนาสมุดคู่บัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. ไปแจ้งความประสงค์ซื้อประกันภัยข้าวนาปี ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา ทั่วประเทศ เมื่อชำระเงินค่าเบี้ยแล้ว  ทาง ธ.ก.ส. จะออกใบรับรองการประกันภัยให้เกษตรกรเก็บไว้เป็นหลักฐาน เกษตรกรต้องแจ้งปรับข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ( ทบก.) ปี 2558/2559 ของตัวเองที่สำนักงานเกษตรอำเภอตามระยะเวลาขั้นตอนการขึ้นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตรโดยเร็ว

งบรัฐบาลช่วยเหลือชาวนา ฤดูการผลิตปี 2559/60 ผ่านระบบ ธกส.
งบรัฐบาลช่วยเหลือชาวนา ฤดูการผลิตปี 2559/60

เปิดมติครม.จ่าย 2,071.13 ล้านบาท ประกันภัยข้าวนาปี 2559 

หลังจากที่เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งและราคาพืชผลตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559-2560 ผ่าน ระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 วงเงิน 2,071.13 ล้านบาท ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.เมื่อมาขอสินเชื่อจะให้ทำประกันภัยนาข้าวไปด้วยโดยเกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกัน 100 บาท แต่ทาง ธ.ก.ส.สนับสนุนจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ 40 บาท และรัฐบาลสนับสนุนให้ 60 บาท มีเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.ได้รับประโยชน์จำนวน 1.5 ล้านราย ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.สามารถซื้อประกันภัยได้โดยออกค่าเบี้ยประกันเอง 40 บาท และรัฐบาลออกให้ 60 บาท

การทำนาเริ่มมีความเสี่ยง แต่มีระบบประกันภัยก็สบายใจหายห่วงมากขึ้นครับ
การทำนาเริ่มมีความเสี่ยง แต่มีระบบประกันภัยก็สบายใจหายห่วงมากขึ้นครับ (ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค ธนศักดิ์ เหล่าสมบัติ)

โครงการประกันภัยพืชผลในครั้งนี้ จัดทำใน ระบบใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบของการทำประกันภัย พืชผลสำหรับเกษตรกรในระยะยาว กำหนดให้เกษตรกรที่กู้เงินกับ ธ.ก.ส.ทุกรายประมาณ 1.5 ล้านราย พื้นที่ทำนาข้าว 30 ล้านไร่ ต้องทำประกันภัยนาข้าวควบคู่ไปด้วย และให้ ธ.ก.ส.ช่วยออกค่าเบี้ยประกันให้ลูกค้าด้วยในอัตราไร่ละ 40 บาท จำนวน 30 ล้านไร่ คิดเป็นเงิน 1,200 ล้านบาท ส่วนที่เกินรัฐบาลจะดูแลให้ ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ตั้งคณะกรรมการร่วมมาขับเคลื่อนโครงการให้มีความรัดกุมมากขึ้น เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.-15 ส.ค.2559 ยกเว้นภาคใต้ที่เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.-15 ธ.ค.2559  โดยรัฐบาลคาดหวังว่า โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคง มีหลักประกัน หลังทำประกันภัยนาข้าวแล้ว และรัฐบาลตั้งใจจะขยายผลการประกันภัยไปยังพืชผลทุกชนิดของประเทศไทยในอนาคต

เรื่องโดย : สาวบางเขน (สอบถามรายละเอียดการประกันภัยพืชผลเพิ่มเติมได้จาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ธ.ก.ส. หรือสำนักงานสาขาทั่วประเทศ)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated