สภาพความชื้นในอากาศสูง และมีฝนตกชุกระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกเบญจมาศเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบจุด จะพบระยะที่เบญจมาศติดดอก อาการเริ่มแรกบนใบพบแผลเล็กค่อนข้างกลมสีน้ำตาลเข้ม ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้น และบนแผลมีเม็ดเล็กสีน้ำตาลเข้ม อาการของโรคมักเกิดกับใบล่างก่อน หากระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายติดกัน ทำให้ใบไหม้ ร่วงหล่น และลุกลามถึงใบยอดจนใบไหม้ทั้งต้น

ดอกเบญจมาศ
ดอกเบญจมาศ

นอกจากนี้ ให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บใบเป็นโรคที่ร่วงหล่นไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากโรคยังคงระบาดให้พ่นด้วยสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรพิโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน

สวนเบญจมาศ
สวนเบญจมาศ

หลังจากหมดฤดูปลูกแล้ว เกษตรกรควรทำความสะอาดและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกโดยเก็บเศษซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นตัดแต่งใบแก่ออกเพื่อให้ต้นโปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับแปลงที่เกิดโรคระบาด งดการให้น้ำแบบพ่นฝอย ควรให้น้ำในระบบน้ำหยด และพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน ในส่วนของฤดูปลูกถัดไป ให้ใช้กิ่งพันธุ์ที่ปลอดโรค ควรปลูกให้มีระยะปลูกที่เหมาะสม หลีกเลี่ยง ปลูกต้นเบญจมาศชิดกันเกินไป เพื่อลดการระบาดของโรค

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated