รูปภาพแม่น้ำปิง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 60

           สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง เดินหน้าสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง

  นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (1 มิ.ย. 60) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 41,182 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 8,420 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 17,362 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 (ปี 2559  มีน้ำใช้การได้ 9,022 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 34,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,995 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 2,915 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ .4,299 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 1,384 ล้าน ลบ.ม.) 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,800 ล้านลูกบาศก์เมตร

รูปภาพแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 60
รูปภาพแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 60

 สำหรับสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก อาทิ แม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 2.20 เมตร ,สถานี P.7A อ.เมืองกำแพงเพชร ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.34 เมตร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 2.98 เมตร แม่น้ำวัง ที่สถานี W.1C อ.เมืองลำปาง ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 4.47 เมตร แม่น้ำยม ที่สถานี Y.1C อ.เมือง จ.แพร่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 7.36 เมตร ,และสถานี Y.4 อ.เมือง จ.สุโขทัย ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.13 เมตร แม่น้ำน่าน ที่สถานี N.1 อ.เมืองน่าน ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 8.53 เมตร และสถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.10 เมตร ปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยาจ.นครสวรรค์ โดยที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 5.64 เมตร กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 719 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ส่วนที่สถานี C.29 อ.บางไทร ซึ่งเป็นจุดวัดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 864 ลบ.ม./วินาที(รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที)

สภาพแม่น้ำน่าน วันที่ 2มิถุนายน2560 บริเวณอำเภอเมือง พิษณุโลก
สภาพแม่น้ำน่าน วันที่ 2มิถุนายน2560 บริเวณอำเภอเมือง พิษณุโลก

ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ นั้น ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมรวม 6 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ชลบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา สรุปได้ดังนี้ ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ยังคงมีน้ำค้างทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งไม่ได้ทำการเกษตร ในเขตอ.คีรีมาศ ระดับน้ำลดลงเหลือ 0.30-0.50 เมตร กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่อง สูบน้ำ 2 เครื่อง เพื่อสูบระบายน้ำลงสู่แม่น้ำยม พร้อมกันนี้ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจพื้นที่ที่เกิดปัญหาคุณภาพน้ำเน่าเสียเพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วต่อไป

  จังหวัดพิษณุโลก ยังคงมีน้ำท่วมขับในที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ กรมชลประทานได้ประสานกับกฟผ.ลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. ลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนเหลือวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำในแม่น่านลดต่ำลง ส่งผลให้น้ำที่ระบายจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านไหลได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมกับปิดการรับน้ำจากแม่น้ำน่าน และเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมที่รับน้ำบางส่วนจากพื้นที่อ.คีรีมาศ .สุโขทัย ลงสู่คลอง DR-15.8 และคลอง DR-2.8 ก่อนที่จะระบายลงสู่แม่น้ำน่านตามลำดับต่อไป นอกจากนี้ ยังได้นำรถไฮโดรลิคเสริมคันกั้นน้ำจุดสุ่มเสี่ยง 4 คัน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง ปัจจุบันพื้นที่น้ำท่วมขังลดลงเหลือประมาณ 8,000 ไร่

สภาพแม่น้ำยมปัจจุบันบริเวณอำเภอสามง่าม
สภาพแม่น้ำยมปัจจุบันบริเวณอำเภอสามง่าม

  จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณต.บางเคียน อ.ชุมแสง 1,500 ไร่ ระดับน้ำท่วมขังประมาณ 0.30-0.50 เมตร กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางหว้า เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรแล้ว

  จังหวัดลพบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ จำนวน 13,980 ไร่ กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง สูบระบายน้ำลงคลองชัยนาท-ป่าสัก

  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งบางบาล พื้นที่ประมาณ 28,000 ไร่ กรมชลประทาน ได้สนับสนุนส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว 13 เครื่อง

  จังหวัดสุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร โครงการชลประทานสุพรรณบุรี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง พร้อมกับเดินเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งอยู่ที่ปตร.สองพี่น้องอีก 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดแล้ว

รูปภาพแม่น้ำปิง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 60
รูปภาพแม่น้ำปิง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 60

  จังหวัดชลบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ในเขตอ.พนัสนิคม ระดับน้ำสูง 0.10-0.30 เมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากลุ่มน้ำคลองหลวงและน้ำที่มาจากอ.บ้านบึง โครงการชลประทานชลบุรี ได้ส่งเครื่องสูบน้ำ 8 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำ โดยนำไปติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำคลองพานทอง 4 เครื่อง และประตูระบายน้ำปลายคลองชลประทานพานทอง อีก 4 เครื่อง พร้อมกับใช้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า(บางแสม) เร่งสูบระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง

  ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้เจ้าหน้าที่ชลประทานทุกโครงการฯทั่วประเทศ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำท่า น้ำในเขื่อน และน้ำในแม่น้ำสายหลักอย่างใกล้ชิด พร้อมกับจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ รวมไปถึงการตรวจสอบสภาพความพร้อมของอาคารชลประทาน คลองระบายน้ำต่างๆ ให้มีความพร้อมที่จะสามารถระบายน้ำในช่วงที่เกิดฝนตกหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากเกษตรกรหรือประชาชนในพื้นที่ที่ถูกน้ำขังประสบกับปัญหาการระบายน้ำ สามารถประสานงานหรือขอความช่วยเหลือไปยังโครงการชลประทานหรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ที่อยู่ใกล้กับภูมิลำเนาของท่านได้ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ชลประทานยินดีที่จะดำเนินการช่วยเหลือท่านด้วยความเต็มใจ ตามนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเข้าไปช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มความสามารถ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated