เรื่องโดย : วาสนา เพิ่มสมบูรณ์

คุณชดาภา วรอมราคุณ หรือ “คุณโบ” วัย 35 ปี เป็นแม่ค้ารับซื้อข้าวโพดหวานหรือข้าวโพดฟักสด ที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของ จ.ชลบุรี เธอเริ่มจากการเป็นเกษตรกร และกิจการเล็กๆ จนสามารถส่งเสริมให้ลูกไร่ปลูกข้าวโพดถึง 100 ราย (ใช้พันธุ์ข้าวโพดหวาน ของบริษัทแปซิฟิคเมล็ดพันธุ์) มีปริมาณการซื้อขายถึงวันละ 3 ตัน (3,000 กิโลกรัม) เธอทำได้อย่างไร?…

”เกษตรก้าวไกล” จะอาสาพาไปพูดคุยถึงไร่ข้าวโพดที่ จ.ชลบุรี ณ บัดนี้

ประวัติชีวิต

โบเป็นคน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เรียนจบ ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลับมาช่วยกิจการที่บ้าน ทำเกษตรปลูกไม้ยูคาลิปตัส ปลูกอ้อย เลี้ยงโคนม ที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และมีโรงงานทำข้าวโพดกระป๋อง แต่ปัจจุบันเลิกผลิตข้าวโพดแล้ว ตอนนั้น (ปี 2548) โบเข้าไปซื้อเปลือกข้าวโพดมาให้โค นมได้รู้จักกับพี่สมชาย วรนาม (สามี) พี่เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมอยู่แผนกจัดซื้อในโรงงาน ช่วงนั้นที่บ้านเลิกทำอ้อย หันมาปลูกยางพารา 70 ไร่

ช่วงที่ปลูกยางปีแรกต้องการหาพืชมาปลูกระหว่างกลางร่องยาง เห็นว่าข้าวโพดฝักสดน่าจะดี จึงได้ติดต่อกับโรงงานข้าวโพดที่พี่สมชายทำงานอยู่เพื่อปลูกข้าวโพดส่งโรงงาน พี่สมชายมาช่วยแนะนำส่งเสริมเราเริ่มสนิทกัน โบเริ่มรู้จักกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดส่งโรงงานหลายกลุ่ม พวกเขาเจอปัญหาคล้ายคล้ายกัน คือ เรื่องเงิน ข้าวโพดที่ส่งเข้าโรงงานจะไม่ได้เงินสดเลย ใช้เวลา 20 ถึง 30 วันกว่าเงินจะเข้าบัญชี

จุดหันเห

เกษตรกรต้องการใช้เงินเพื่อไปลงทุนต่อ โบก็เป็นเหมือนคนกลางระหว่างโรงงานกับเกษตรกร รับรู้ถึงความเดือดร้อน ความต้องการของกลุ่มเกษตรกรพี่สมชายแนะนำให้ไปเปิดโควตาในโรงงาน รับซื้อข้าวโพดเข้าโรงงาน ตอนนั้นโบเริ่มลงเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรใน จ.นครสวรรค์ รับซื้อโดยจ่ายเงินสดหน้าไร่ บวกกำไรค่าจัดการประมาณ 1 บาทต่อกิโลกรัม ทำได้ประมาณ 3-4 เดือนเริ่มไม่ไหว ขาดทุน ช่วงนั้นน้ำมันแพงมากลิตรละ 40 กว่าบาท โรงงานตัดคุณภาพข้าวโพด น้ำหนักหายจากการระเหยเพราะใช้เวลา 1-2 วันจอดรอคิวที่โรงงาน โบจึงเริ่มเอาข้าวโพดเข้าตลาดผักสดตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ส่งให้แม่ค้าบ้างขายเองบ้าง คุ้มกว่าเข้าโรงงาน

ปอกเปลือกชีวิต “แม่ค้ารับซื้อข้าวโพดหวาน” บริหารลูกไร่ 100 รายอย่างไรให้อยู่ได้?
คุณโบว์ และคุณสมชาย…สองสามี ภรรยาผู้ซื้อข้าวโพดหวาน

บ้านโดนยึด

ช่วงนั้นขาดทุนเยอะ โบเลยหยุดส่งโรงงาน เอาเข้าตลาดอย่างเดียว ก็เจอปัญหา เรื่องฝัก ขนาดฝักเล็กไป ขายไม่หมด บางวันก็แทบขาดทุนกับฝักที่เหลือ เลยเอามาปอกขายใส่ถุง ถุงละ 20 บาทตามตลาดนัดแถวบ้าน ตลาดสดบ้าง ช่วงนั้นอะไรที่พอจะได้เงินต้องทำหมด เพราะไม่มีเงิน ล้มลุกคลุกคลาน

ชีวิตช่วงหลังแย่มากไม่มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ทุกอย่างกำลังจะโดนยึด มีแต่ใบทวงถามหนี้ บ้านก็โดนขายทอดตลาด ทำเรื่องประนอมหนี้ และหลังจากที่เริ่ม ปอกขายถุงละ 20 บาท รู้สึกตื่นเต้นคือได้กำไรดีกว่าที่ขายในตลาดแบบส่งแม่ค้าอีก ขายน้อยกว่าแต่ได้กำไรมากกว่า ตอนนั้นไม่ได้ลงเมล็ดพันธุ์ที่นครสวรรค์แล้ว ทุนไม่มี พอรู้ว่าทำแบบนี้ดี ก็เลยวิ่งซื้อข้าวโพดเบอร์เล็ก เบอร์เหมาที่ตลาดไท มาปอกขาย เป็นช่วงที่พี่สมชายออกจากโรงงานมาช่วยโบ (ปี 2550) เข้าตลาดไท ตลาดสี่มุม เริ่มรู้จักช่องทางรู้จักแม่ค้า

ปอกเปลือกชีวิต “แม่ค้ารับซื้อข้าวโพดหวาน” บริหารลูกไร่ 100 รายอย่างไรให้อยู่ได้?
กำลังขนข้าวโพดขึ้นรถ

จุดเริ่มต้มข้าวโพดขาย

ตอนนั้นมีติดต่อวิ่งส่งข้าวโพดให้แม่ค้าขายส่งในชลบุรีบ้างเป็นครั้งคราว เพราะจะต้องไปซื้อข้าวโพดมาปอกอยู่แล้ว แต่ก็เจอปัญหาอีกเพราะปอกขายช่วงแรกก็ดี ลูกค้าซื้อดี แต่พอขายซ้ำๆ บ่อยๆ ก็ขายยากขึ้น มีแม่ค้าด้วยกัน แนะนำให้ต้มขาย ก็เริ่มต้มขาย ครั้งแรกที่ต้ม ต้มแค่ 50 กิโลกรัม ตื่นเต้นดีใจมากที่ได้กำไรมากกว่าปอก หลังจากนั้นก็เริ่มต้มขายอย่างเดียว ตอนนั้นไม่มีข้าวโพดของตัวเอง ต้องซื้อจากพ่อค้าคนกลาง โดนเขาบวกกำไรเยอะ มีของเก่าปนมาให้บ้าง ก็คิดกันว่าน่าจะลงเมล็ดพันธุ์เองแต่ก็ไม่รู้จักใคร

ประตูแห่งโอกาส

พอดีมีสวนข้าวโพดโทรมาให้ไปซื้อที่ข้าวโพดที่ไม่มีใครซื้อ โบก็เข้าไปที่สวนเขา คุยกัน ตกลงราคา แล้วชวนเขาปลูกข้าวโพดให้ เริ่มมีลูกไร่รายแรกที่อำเภอพนัสนิคม ปัจจุบันเจ้าของสวนนี้เขาจัดการดูแลไร่จัดคิวปลูก ดูแลส่งเสริมลูกไร่ของโบ อยู่ในเขตหนองเหียง อ.พนัสนิคม ประมาณ 60 ถึง 80 ราย อยู่ในความรับผิดชอบของเราที่ต้องให้เขาทำตรงนี้ เพราะโบดูแลไม่ไหว กระจายงานให้ทำง่ายขึ้น การจัดการสะดวกขึ้น โบให้ค่าตอบแทนเขาตามจำนวนน้ำหนักของข้าวโพดที่โบซื้อ จากพื้นที่รับผิดชอบของเขา 50 สตางค์ต่อ 1 กิโลกรัม เงินที่จ่ายตรงนี้เป็นส่วนของโบที่จ่ายเองไม่ได้หักจากสวน เช่น ข้าวโพดราคา 8 บาท จ่ายสวน 8 บาท บวกให้คนดูแล 50 สตางค์ หน้าที่ตรงนี้ เขาทำมา 8 ปีแล้ว เราทำงานควบคู่กันในส่วนของการตลาด

ปอกเปลือกชีวิต “แม่ค้ารับซื้อข้าวโพดหวาน” บริหารลูกไร่ 100 รายอย่างไรให้อยู่ได้?
ลูกไร่ยิ้มแย้มแจ่มใส่ทุกคน

รับซื้อข้าวโพดเต็มตัว

พอเริ่มขายก็เริ่มมีลูกค้าสนใจข้าวโพดของโบ เพราะข้าวโพดสดใหม่ทุกวันมีมาติดต่อซื้อไปต้มขายมีมาเรื่อยๆ ปัจจุบันมีประมาณ 10 รายที่อยู่ด้วยกันมาหลายปี เป็นลูกค้าประจำไม่ทิ้งกัน ตลาดที่ต้องขายปัจจุบันมี 3-4 ตลาดต่อวัน จะใช้ข้าวโพดฝักสดที่ต้องต้มขายเองประมาณ 500 ถึง 700 กิโลกรัมต่อวัน ใช้ข้าวโพดที่ส่งลูกค้าต้มประมาณ 2 ตันถึง 2.5 ตันต่อวัน รวมใช้ข้าวโพดวันละประมาณ 3 ตันหรือ 3,000 กิโลกรัม แบ่งเป็นข้าวโพดหวาน 1.5 ตันถึง 2 ตัน ข้าวโพดข้าวเหนียว 500 กิโล ถึง 1 ตันต่อวัน โดยจะตัดข้าวโพดตามยอดส่งของลูกค้าเท่านั้น เน้นคุณภาพที่สดใหม่ทุกวัน

สำหรับสมาชิกที่เป็นลูกไร่ เริ่มจาก 1 ราย แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากคำแนะนำ คำบอกต่อของลูกไร่ด้วยกันเอง อาจมีญาติพี่น้องเพื่อนสนิทของพวกเขา ในปีแรกน่าจะมีประมาณ 20 ราย อุปสรรคปัญหาที่เจอเป็นเรื่องคุณภาพของข้าวโพดลูกไร่ใหม่ๆ ทำข้าวโพดไม่สวย ติดหนอน ฝักไม่ใหญ่ เก็บผลผลิตไม่เป็น เก็บอ่อนไปบ้าง บอกช้าไปบ้าง ข้าวโพดแก่ไป

ปัจจุบันมีลูกไร่ประมาณ 100 ราย อยู่ใน จ.ชลบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา

ราคารับซื้อข้าวโพด

ลักษณะการดำเนินงาน มีการวางแผน จัดคิวปลูก ตกลงรายละเอียดกับลูกไร่ เช่น ข้าวโพดที่ปลูกให้กับโบต้องขายให้โบคนเดียว ไม่แอบไปขายเอง ไม่ขายให้กับแม่ค้าคนอื่น ในเรื่องของราคา ซื้อราคาขึ้นลงตามตลาด อิงราคาขายของตลาดไท เช่น ตลาดไท ขาย 8 บาท โบก็ซื้อ 8 บาท ราคาตรงนี้ไม่แน่นอนถ้าสวนเสียหายเยอะ ได้ข้าวโพดไม่เต็มที่ ก็จะช่วยไปอีก 1 บาท ต้องดูสภาพข้าวโพดและสถานการณ์ตลาดในตอนนั้น ต้องดูเรื่องคุณภาพข้าวโพดที่อ่อน หนอน ไม่ซื้อเพราะขายไม่ได้

ราคาแบ่งเป็น 2 ราคา คือ ซื้อตามเบอร์ มีเบอร์ใหญ่ (ไซด์ฝัก 3 ฝักต่อ 1 กิโล) และเบอร์เล็ก (ไซด์ 4-5 ผักต่อกิโล) เล็กกว่านี้ไม่เอา ลูกไร่ทั่วไปที่อยู่กับโบ ส่วนใหญ่จะเข้าใจเรื่องนี้ เพราะเขามีอาชีพเกษตรกรเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

คุณสมบัติของลูกไร่

คุณสมบัติของสมาชิกไม่มีอะไรมาก เน้นความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ การทำงานของโบ เน้นแบบง่ายๆสบายๆ พูดคุยถามปัญหา ช่วยแก้ปัญหา เล่าสู่กันฟัง เจอข้าวโพดแปลงไหนสวยๆ ก็จะถามว่า เขาทำแบบไหน เก็บข้อมูลแล้วก็มาเล่ามาคุยกันในแปลงต่อๆ มาของวันใหม่ ทำวนไปเรื่อยๆทุกวัน แล้วก็ยึดหลักที่ว่าลูกไร่อยู่ได้เราอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ ซื้อราคาดีส่งไม่แพง ใจเขาใจเรา บางวันก็แทบไม่ได้กำไรส่งช่วงข้าวโพดล้นตลาด แต่ก็อยู่ได้เพราะมีกำไรจากการต้มขาย

ปอกเปลือกชีวิต “แม่ค้ารับซื้อข้าวโพดหวาน” บริหารลูกไร่ 100 รายอย่างไรให้อยู่ได้?
ลูกไร่คนสำคัญที่ช่วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้น

ลูกไร่เต็มพิกัดแล้ว แต่…

สมาชิกลูกไร่ตอนนี้เต็มมาก ขยายเพิ่มยาก เพราะจำนวนข้าวโพดที่ปลูกได้ผลผลิตมากกว่าที่ขายในแต่ละวัน เป็นเหตุให้ต้องจัดคิวปลูกเพื่อป้องกันข้าวโพดล้น และจะได้มีข้าวโพดจากสวนของเราเองใช้ทุกวัน กำลังคิดหาวิธีให้สมาชิกในกลุ่มไม่ต้องรอคิวปลูก เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ตอนนี้กำลังทำสินค้าตัวใหม่ คือน้ำนมข้าวโพดอยู่ในช่วงทดลองทำ ถ้าทำได้ แล้วติดตลาด โบก็จะมีที่ไปของข้าวโพดเพิ่มขึ้น แล้วก็ที่คิดไว้ต้นปีหน้าจะเปิดแผงขายของเป็นร้านขายส่งเมล็ดข้าวโพดเป็นหลัก มีมันเทศ ฟักทอง ถั่วลิสง ฯลฯ เป็นตัวเสริม จากที่สวนข้าวโพดปลูกแต่ข้าวโพดอย่างเดียวต่อไป จะมีการหมุนเวียนพืชให้ปลูก ตามที่เราขาย ถ้าเป็นไปตามที่คิดไว้ ทุกอย่างเข้าระบบ ก็สามารถเพิ่มสมาชิกได้

ให้ความจริงใจ

ส่วนตัวโบทำอะไรเปิดเผย รักษาคำพูด ลูกไร่ทุกคนจะรู้ตรงนี้ ก่อนจะทำอะไรทุกขั้นตอนจะถามความเห็นกันก่อน รักษาความรู้สึกของลูกไร่ ในหลายๆ เรื่อง เช่น จะบอกราคาก่อนตัดข้าวโพด ไม่ลงราคากลางสวน ช่วงที่ข้าวโพดราคาไม่ดี จะพยุงราคาสวนที่อยู่ในละแวกเดียวกันให้ได้ราคาดีเหมือนกันทุกสวนใจเขาใจเรา คนเรารู้สึกไม่ต่างกัน จะไม่ทำให้ลูกไร่เสียความรู้สึก ให้ความจริงใจ ทำเหมือนทุกคนเป็นคนในครอบครัวเรา

หัวใจของการรับซื้อ = สดใหม่ทุกวันคัดสรรทุกขั้นตอน  หัวใจของการส่งเสริม = ซื้อสัตย์จริงใจเปิดเผย

ปอกเปลือกชีวิต “แม่ค้ารับซื้อข้าวโพดหวาน” บริหารลูกไร่ 100 รายอย่างไรให้อยู่ได้?
ส่วนหนึ่งของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานที่คุณโบว์ให้การส่งเสริม

ข้อคิดในการทำธุรกิจ

ต้องอดทนอย่ายอมแพ้ ต้องเจอปัญหาตลอดทาง มีปัญหาต้องแก้ให้ได้พยายามหาทางออกที่ไม่กระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยึดหลักใจเขาใจเรา ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน ตลอดเส้นทางต้องรักษาน้ำใจกันและกัน ต้องใช้คำว่าอภัยและยอมให้ถูกเวลา เพื่อรักษามิตรภาพของกันและกันไว้ พันธมิตรคือสิ่งสำคัญที่ต้องมีเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ หาวิธีทำให้คู่แข่งมาเป็นพันธมิตรให้ได้ ปัญหาของสมาชิกในกลุ่ม เปรียบเสมือนปัญหาของเราทุกคน ต้องอยู่ได้ไปด้วยกัน

หมายเหตุ : ใครที่อ่านแล้วอยากมีอาชีพแบบคุณโบ คือรับซื้อข้าวโพดและต้มข้าวโพดขาย ลองพูดคุยขอคำแนะนำได้ที่โทร. 080 0998910

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated