ประชุมประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยมี นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธาน
ประชุมประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยมี นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธาน

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า เครือข่ายแปลงใหญ่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพื่อให้เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทั่วประเทศมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเครือข่ายแปลงใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ขึ้น 3 ระดับ คือระดับจังหวัด 77 คณะ ระดับเขต 9 คณะ และระดับประเทศ 1 คณะ

โดยคณะกรรมการระดับประเทศประกอบด้วยประธาน คณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับเขต 9 เขต รวม 9 คน คณะกรรมการฯ แต่ละระดับมีหน้าที่ 1) จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนและวางแผนการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่  2) ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่  และ3) รายงานผลการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเครือข่ายแปลงใหญ่ คือ การประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับต่างๆ ซึ่งเป็นเวทีในการติดตามความก้าวหน้า รับทราบและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานขับเคลื่อนเครือข่ายแปลงใหญ่ ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ และการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

นอกจากนั้นคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับจังหวัดยังร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมีส่วนร่วมในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (SC) เพื่อทบทวนปรับปรุงและจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการเพื่อการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่

สิ่งที่คณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ทุกระดับจะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุปฏิญญาการขับเคลื่อนการพัฒนาแปลงใหญ่ ได้แก่ การถอดองค์ความรู้แปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้เกษตรกรแปลงใหญ่อื่นๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ การจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการแปลงใหญ่ระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับประเทศ โดยเกษตรกรริเริ่มก่อตั้งเองตามชนิดสินค้าและสภาพพื้นที่ การพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานในพื้นที่ห่างไกล  สำรวจแปลงใหญ่ที่ยังขาดแหล่งน้ำ แล้วประสานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการเขียนโครงการเพื่อเสนอขอการสนับสนุนจากกรมชลประธาน พัฒนาแปลงใหญ่ให้เข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตจากแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าก่อนจำหน่าย

คณะกรรมการระดับประเทศประกอบด้วยประธาน คณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับเขต 9 เขต รวม 9 คน
คณะกรรมการระดับประเทศประกอบด้วยประธาน คณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับเขต 9 เขต รวม 9 คน

นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าแปลงใหญ่ โดยใช้ตลาดเป็นตัวนำ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ เช่น นำสินค้าต่างๆ จากแปลงใหญ่อื่นๆ เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ที่กำลังซื้อสูง เช่น ตลาดเครือข่ายของ ธ.ก.ส. /ศกต.

การประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ในระดับต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ การบริหารจัดการธุรกิจ และการบริหารจัดการกลุ่ม/องค์กร และการมีส่วนร่วมในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จทำให้ปรับปรุงและจัดทำแผนแผนปฏิบัติการบูรณาการเพื่อการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated