“การเกษตรทันสมัย” ในมุมมองของ CEO เครือซีพี-ศุภชัย เจียรวนนท์
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ได้มีปาฐกถาพิเศษในงานประชุมวิชาการระดับชาติปัญญาภิวัฒน์ ครั้งที่ 7 หัวข้อ “Smart Agriculture & Food Management for Sustainability” หรือ การเกษตรทันสมัยและการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน : โดย  คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

“เกษตรก้าวไกล” ขอนำรายละเอียดมาเสนอ ดังนี้

การเกษตรทันสมัย ในมุมมองของคุณศุภชัย เจียรวนนท์
จากยุค 1.0 ถึงยุค 4.0

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรกำลังเข้าสู่ยุคของ Smart  Agriculture ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับโลก

ถ้าย้อนไปจะพบว่าในยุคที่ 1 จะเป็นการผลิตอาหารเพื่อปากท้อง

ยุคที่ 2 เป็นยุคที่มีการใช้พลังงานน้ำมัน เพื่อผลิตเป็นอุตสาหกรรมเบา ซึ่งในส่วนของเครือซี.พี.ก็เริ่มต้นในยุคนี้ในฐานะของนักอุตสาหกรรมเกษตร

ยุคที่ 3 ยุคของอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งยุคนี้ trade มีบทบาทสำคัญกับระบบเศรษฐกิจโลก

ยุคที่ 4 เป็นยุคของนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่า เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก การทำธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลและให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันนวัตกรรมต่างๆใช้เวลาในการพัฒนาเร็วและสั้นลง เพราะการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลทำได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนยังเป็นเรื่องของคน ดังนั้นเพื่อผู้ประกอบการจึงต้องการปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบที่กำลังเป็นที่จับตาคือ startup

ถ้าย้อนไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกคือ สถาบันการเงิน และธุรกิจน้ำมัน แต่ในปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่คือ Apple, Micro soft, Facebook และ Google ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเรื่องของข้อมูล

เคยมีคนพูดว่า Google เป็นองค์กรที่มีข้อมูลมากที่สุด และยังมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะ take over ในส่วนของ Apple ก็เป็นได้ ซึ่งกรณีของบริษัทที่เป็น Big Data ที่กล่าวมาคือ ตัวอย่างของ Startup ที่ประสบผลสำเร็จ และสร้างการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วอายุของคนหนึ่งคน หรือประมาณ 10 กว่าปีเท่านั้น ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ในอดีตอาจต้องใช้เวลาในการสร้างความสำเร็จเป็นสิบๆปี หรือมากกว่า 1 ชั่วอายุคน

นอกจากนี้ปัจจุบันยังเป็นยุคที่ผู้บริโภคสามารถที่จะเข้าถึงสินค้า และบริการที่ต้องการได้มากขึ้น จากการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้น ดังนั้นข้อมูลจึงกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เรียกว่า digitization ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและพัฒนาใหม่ๆต่อเนื่อง

ถึงยุคของ Startup ที่จะต้องมีความรวดเร็จและนวัตกรรมใหม่ๆ
ถึงยุคของ Startup ที่จะต้องมีความรวดเร็จและนวัตกรรมใหม่ๆ

Startup มีพฤติกรรมที่ความเร็วกลายเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ โดยองค์กรเหล่านี้จะมีการวางแผนทางธุรกิจรายสัปดาห์ เพื่อนำข้อมูลความต้องการ อุปสรรคปัญหาหรือเสียงสะท้อนของผู้บริโภคนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาสินค้าที่ตรงความต้องการของผู้บริโภครายเกือบจะทันทีที่ได้รับข้อมูล ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนนาน และยังมีปัญหาความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารเนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่ มีขั้นตอนการทำงานและการพิจารณาหลายขั้นตอน เป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาช้า และขาดประสิทธิภาพ

Startup จะมีข้อมูลแบบวันต่อวัน ซึ่งร้าน 7-11 ถือว่ามีลักษณะที่ใกล้เคียงที่สุดในเครือซี.พี. แต่ก็ยังไม่ใช่โลกยุคดิจิทัล เพราะยังไม่สามารถเชื่อมโยงตลาดใหญ่ทั่วประเทศ หรือระดับโลกได้

ความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะต้องหายไป เช่น Nokia ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งไม่เพียงผลิตสินค้า แต่ยังเน้นลงทุนเรื่องของนวัตกรรมด้วย

ในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่การเป็น Thailand 4.0 ก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนานวัตกรรม และการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นเราจะถูกประเทศมาเลเซีย และเวียดนามทิ้งห่างออกไปอีก

ปัจจุบันประเทศจีนวางแผนการพัฒนาประเทศ และการก้าวไปสู่ Hub ของภูมิภาค โดยมีการจัดทำแผน economic zoning ในลักษณะของ one map one road เพื่อหาทางทะลายไซโลระดับประเทศ และเกื้อกูลระดับภูมิภาค

ประเทศกรีก สเปน และอาจรวมถึงอิตาลี คือ ตัวอย่างของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งเสี่ยงที่จะล้มละลาย เพราะปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวมีทางเลือกและการแข่งขันที่รุนแรง

ประเทศไทย มีภาคการเกษตรเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในส่วนของข้อดีคือ ความได้เปรียบในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ายกเว้นปศุสัตว์ที่มีการพัฒนานานแล้ว ในส่วนของพืชทั้งที่เป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆ แต่สินค้าเกษตรไทยหลายชนิดมีผลผลิตเฉลี่ยต่ำ และต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น จึงควรนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยในการทำงานเช่นเดียวกับที่ปศุสัตว์ทำเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ตอบสนองกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

การพัฒนาภาคการเกษตรนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมันเป็นประเทศแรกที่นำระบบสหกรณ์มาใช้ในการสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ในส่วนของประเทศไทยนั้นเกษตรกรถือเป็นนักธุรกิจหน่วยที่เล็กที่สุด ซึ่งต้องเผชิญปัญหามากมายทั้งขาดองค์ความรู้ ขาดเทคโนโลยี ขาดการบริหารจัดการ ขาดความรู้เรื่องตลาด ทำให้ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่สามารถคัดสินค้าหรือวางแผนการผลิตได้ ส่วนใหญ่ผลิตตามข้อมูล หรือโครงการของรัฐ

นอกจากนี้เกษตรกรไทยยังไม่สามารถถึงแหล่งทุน หรือสถาบันการเงิน และยังต้องเสี่ยงกับภัยธรรมชาติต่างๆทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด รวมทั้งปัญหาราคาตลาดที่ผันผวน และความไม่แน่นอนทางการเมือง ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรไทยเป็นหนี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรไม่ใช่ราคาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต แต่เนื่องจากรัฐบาลเกือบทุกชุดไม่ต้องการให้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และค่าครองชีพของประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่สามารถขยับขึ้นได้ และถูกคุมราคา

การเปลี่ยนผ่านจากยุค 1.0 ไปสู่ยุค 4.0 ในส่วนของยุโรปใช้ระบบสหกรณ์ เพื่อสนับสนุน การสร้างเครือข่ายและความเข้มแข็ง ขณะที่อเมริกาใช้ระบบ contract farming ซึ่งเป็นระบบที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ภาคเกษตรกรรรมของอเมริกาจึงเป็นลักษณะของฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่จำนวนมาก และใช้เครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่วนรายย่อยที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมต่างๆ

ในส่วนของประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรจากยุค 1.0 ไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันคิด   เพราะระบบสหกรณ์มีปัญหา และขาดความชัดเจนในส่วนของบทบาท ขณะที่ contract farming ถูกมองว่าน่ากลัว ไม่น่าไว้ใจ

เบื้องต้นคิดว่า model ที่จะพัฒนาเกษตรกรไทยไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมจะต้องมีความหลากหลาย จึงเป็นที่มาของระบบสหกรณ์แบบใหม่ หรือ social enterprise (SE) ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเป็น partner ship กับเกษตรกร   โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในส่วนของภาคเกษตรก็จะมีคนรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรน้อยลง

ถ้าต้องการให้คนรุ่นใหม่กลับเข้าสู่ภาคเกษตร ควรจะมีกองทุนที่ช่วยส่งเสริมและปรับปรุงการผลิต โดยมีภาครัฐและเอกชนทำหน้าที่เป็น partner แนะนำและร่วมวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่แค่การทำกิจกรรม CSR แต่ต้องดูเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมกับผู้บริโภคเรื่องราคาที่ยุติธรรมด้วย

R & D เป็นเรื่องสำคัญ และถูกนำมาใช้ในการทำ branding เช่น ภาคเหนือเกษตรกรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน   ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงชัน พื้นที่ราบมีน้อย ทำให้ในอดีตบางพื้นที่ของภาคเหนือปลูกฝิ่นเป็นหลัก   ต่อมาก็เปลี่ยนมาปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อยแค่มีฝนตกเพียง 1 ฝนก็สามารถปลูกได้แล้ว ทั้งที่การปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูงไม่คุ้มเพราะผลผลิตเฉลี่ยเพียง 400-500 กก./ไร่ และมีค่าขนส่งที่ค่อยข้างแพง ขณะที่การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราบให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,200-1,500 กก./ไร่

ทั้งนี้กาแฟ และชา น่าจะเป็นพืชทางเลือกของเกษตรกรในภาคเหนือ เหมือนที่ดอยช้างดำเนินการ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ NGO ในพื้นที่และรัฐบาลแคนาดา โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่อง Land use เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องหารือร่วมกัน เพราะถ้ายอมให้ทำกินก็เสี่ยงที่จะเป็นสนับสนุนให้เกิดการบุกรุกเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ทำกินก็ยังมีปัญหาการบุกรุกเกิดขึ้น ทางออกเบื้องต้นอาจออกเอกสารสิทธิให้ทำกินในรูปแบบของชุมชน ไม่ใช่ให้รายบุคคล เพื่อลดปัญหาการขายต่อ

ตัวอย่างที่เครือซีพี ดำเนินการที่บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยการส่งเสริมการปลูกกาแฟแทนข้าวโพด โดยการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว พบว่า สามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดบนที่สูงจากเดิม 100%   เหลือเพียง 30% ด้วยวิธีการดึงเกษตรกรลงมาทำกินบริเวณกระทงเขา พร้อมกับการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตการปลูกข้าวโพดพื้นราบที่ถูกต้อง ซึ่งช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งที่พื้นที่ปลูกลดลง และเมื่อเกษตรกรให้ความร่วมมือทางกองทุนจะเข้าไปดำเนินการสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้ทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการปลูกกาแฟ และไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สูงแทน ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ 5-10  ปี ป่าจึงจะกลับมา อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำแบบมหภาคได้ เพราะติดเงื่อนไขเรื่องข้อกฎหมาย   จึงสามารถทำได้เป็นบางพื้นที่เล็กๆขนาด 300-500 ไร่เท่านั้น ส่วนการจะแก้ไขปัญหามหภาคในพื้นที่ จ.น่าน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหารือแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดของกฎหมายปัจจุบันก่อน

เครือซีพี มีนโยบายเรื่องความยั่งยืน โดยยึดหลักการปราชญ์ 3 ประโยชน์เป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน และตั้งเป้าที่จะให้ทุกบริษัทในเครือร่วมกันดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ ผ่านกระบวนการทำ work shop โดยผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง เพราะต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งองค์กร และนวัตกรรมจะเป็นกลไกที่ผลักดันไปสู่ความยั่งยืนนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเข้าใจ

เมื่อปี 2559 CPF โดนเรื่องของการใช้แรงงานทาสจากกรณีการส่งกุ้งไปจำหน่าย ทั้งที่ความจริงกุ้งของ CPF เป็นกุ้งน้ำจืดที่เลี้ยงในบ่อ แต่เนื่องจากอาหารสัตว์บางส่วนมีการใช้ปลาป่น ซึ่งมีปัญหาเรื่องแรงงงานชาวโรญิงยา จึงถูกกล่าวหาเรื่องแรงงานทาส เบื้องต้นหยุดการซื้อปลาป่นที่ตัดมาจากเรือประมงแล้ว

พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานวิจัยศึกษาวัตถุดิบที่จะมาทดแทนปลาป่น และเน้นต้องเป็นวัตถุดิบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ BKP ประกาศรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง   เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาครวมสินค้าเกษตรไทย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมาก

ถึงแม้ CPF จะไม่รับซื้อปลาป่นจากเรือประมงแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังมีอยู่ ล่าสุดทาง NGO ได้หารือกับเราในเรื่องนี้ และเครือซี.พี. รับทำหน้าที่ประสานกับทางกระทรวงเกษตรฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เบื้องต้นทราบว่าทางกระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการลดขนาดเรือ และอวนที่อนุญาตให้ใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสากล

การขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหารือและร่วมกันดำเนินการ ซีพี เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เราพร้อมเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

คณะผู้บริหารเครือซีพีและคณะผู้บริหารสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้จัดงานครั้งนี้ ถ่ายภาพร่วมกัน
คณะผู้บริหารเครือซีพีและคณะผู้บริหารสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้จัดงานครั้งนี้ ถ่ายภาพร่วมกัน

ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า การเล่น wave ในสนามฟุตบอลขนาดความจุ 70,000 คนนั้น ใช้คนเริ่มต้นลุกขึ้นเล่น wave เพียง 7 คนเท่านั้นก็สามารถทำให้เกิดความร่วมมือของคนทั้งสนามได้ ซึ่งในชั่วชีวิตของคนเรานั้น เชื่อกันว่าเราจะได้พบปะผู้คนโดยเฉลี่ย 80,000 คน ดังนั้นหากเราทุกคนตั้งใจและช่วยกัน ส่งต่อความคิดดีๆไปสู่ผู้คนที่อยู่ใกล้ๆตัวเราแค่เพียงคนละ 100 คน ก็จะเกิดพลังงานการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

ยกตัวอย่างถ้าทุกท่านในห้องประชุมนี้ทั้ง 200 คน สามารถส่งต่อความคิดดีๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสู่คนใกล้ตัวคนละ 100 คน (200X100 = 20,000 คน) จากนั้น 20,000 คนก็ส่งต่อไปอีกคนละ 100 คน (20,000 X 100 = 2,000,000 คน) แล้วคน 2 ล้านคนนั้นก็ส่งต่อไปอีกคนละ 100 คน (2,000,000 X 100 = 200,000,000  คน) และคน 200 ล้านคนนั้นส่งต่อไปอีก 100 คน (200,000,000 X 100 = 2,000,000,000 คน) นั้นหมายความเพียงการส่งต่อความคิดดีๆแค่ 4 วงก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่แล้ว

เพราะทุกคนเป็นกลไกลสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated