(จังหวัดแพร่) นักวิชาการของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ แนะนำวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงเพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงจากภาวะอากาศแปรปรวน เน้นดูแลสุขภาพสัตว์และโรงเรือน

 น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านสัตวแพทย์บริการวิชาการ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาลทำให้อากาศแปรปรวน ทั้งอากาศร้อนจัดสลับกับมีฝนฟ้าคะนองทั่วประเทศไทย บางพื้นที่ต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อน และอากาศเย็นในวันเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้อัตราการกินอาหารและประสิทธิภาพการผลิตลดลง จึงมีคำแนะนำในการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรเพื่อเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

การเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแวป เกษตรกรต้องควบคุมการทำงานของพัดลมและเยื่อกระดาษหน้าโรงเรือนให้เหมาะสม อย่าให้ร้อน เย็น หรือชื้นเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อสัตว์ทำให้เกิดความเครียด ควรปรับสภาพภายในโรงเรือนให้สัตว์อยู่สบาย รวมทั้งควรเตรียมเครื่องสำรองไฟและน้ำมันเชื้อเพลิงให้พร้อมสำหรับกรณีไฟดับ เพื่อให้พัดลมทำงานได้ตามปกติ และต้องซ่อมแซมหลังคาให้ดีเพื่อป้องกันน้ำฝนที่จะเข้าไปในโรงเรือนได้ ควรปรับปรุงและเสริมความแข็งแรงบริเวณชายคาเพื่อไม่ให้ลมพัดเสียหาย และต้องจัดเก็บอาหารสัตว์ให้มิดชิด ส่วนการดูแลสัตว์ในโรงเรือนแบบเปิด ต้องระมัดระวังน้ำฝนที่จะสาดเข้าไปในคอกเลี้ยงที่จะเป็นการเพิ่มความชื้นในโรงเรือน ด้วยการทำกันสาดหรือปิดผ้าใบเพื่อป้องกันฝนรอบโรงเรือน อาจต้องเพิ่มพัดลมให้สัตว์โดยเฉพาะกรณีที่อากาศร้อนจัดก่อนเกิดฝนตกเพื่อช่วยระบายอากาศและความร้อนแก่สัตว์ ช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือน ต้องเตรียมน้ำสำหรับสัตว์ให้เพียงพอ และจัดเตรียมกล่องและไฟกกสำหรับลูกสุกรเพื่อป้องกันความหนาวเย็นในขณะฝนตก

ดูแลสัตว์ในฟาร์มเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากอากาศที่แปรปรวนทำให้สัตว์ปรับตัวได้ยาก
ดูแลสัตว์ในฟาร์มเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากอากาศที่แปรปรวนทำให้สัตว์ปรับตัวได้ยาก

“การดูแลสัตว์ในฟาร์มเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากอากาศที่แปรปรวนทำให้สัตว์ปรับตัวได้ยาก จึงต้องหมั่นตรวจสอบสุขภาพสัตว์เป็นประจำ คอยสังเกตการกินได้ของสัตว์ซึ่งช่วยบ่งชี้สุขภาพสัตว์ได้ หากการกินลดลงต้องปรับให้อาหารเท่าที่สัตว์กินได้ อาจแบ่งมื้ออาหารเป็นหลายมื้อและหลีกเลี่ยงการให้อาหารในช่วงที่อากาศร้อนจัด หากอากาศเปลี่ยนแปลงมากควรผสมวิตามินละลายน้ำให้สัตว์กิน 3-5 วันติดต่อกัน เพื่อลดความเครียดและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับตัวสัตว์” น.สพ.ดำเนิน กล่าว

ด้าน น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการด้านมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีก กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ในช่วงอากาศแปรปรวนเช่นนี้ นอกจากต้องดูแลทั้งเรื่องความร้อน ฝน และความชื้นที่จะสูงขึ้นซึ่งกระทบต่อตัวสัตว์โดยตรงแล้ว เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับปริมาณก๊าซแอมโมเนียที่เกิดขึ้นในโรงเรือนจะกระทบต่อทางเดินหายใจของไก่ ในโรงเรือนไก่เนื้อหากมีแกลบที่เปียกน้ำต้องนำออกทันทีเพื่อไม่ให้หมักหมมและเปลี่ยนแกลบใหม่ทันที และต้องหมั่นกลับแกลบถี่ขึ้นประมาณ 3 วันต่อครั้ง ส่วนไก่ไข่ต้องนำมูลไก่ออกจากโรงเรือนบ่อยครั้งขึ้น และต้องมีการระบายอากาศที่ดีด้วยการควบคุมความเร็วลมให้เหมาะสม ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่แบบเปิดต้องเพิ่มพัดลมด้วย และต้องจัดเตรียมน้ำและอาหารให้เพียงพอกับไก่ อาจเพิ่มวิตามินละลายน้ำเช่นเดียวกับสุกร

นอกจากนี้ เกษตรกรควรสำรวจพื้นที่รอบฟาร์มและทำการตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้หักโค่นมาโดนหลังคาโรงเรือนหรือสายไฟ หากโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เป็นโรงเรือนเก่าและไม่แข็งแรง ต้องหาไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันการพังเสียหายจากลมที่พัดแรง หากโรงเรือนพังจากพายุฝนต้องรีบย้ายสัตว์เข้าเลี้ยงในโรงเรือนหลังอื่นที่ไม่เสียหายโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้./

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated