นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่าตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ (เอฟเอโอ : FAO) ได้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือด้านดิน หรือ Global Soil Partnership (GSP) ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรดิน เพื่อความมั่นคงทางอาหารสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยภายใต้การดำเนินงานของ GSP ได้แบ่งสาขาการดำเนินงานออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ 1. สาขาการจัดการทรัพยากรดิน /2. สาขาการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดิน /3. สาขาการวิจัยเรื่องทรัพยากรดิน /4. สาขาการจัดการข้อมูลและฐานข้อมูลทรัพยากรดิน / และ5. สาขาการสร้างความสอดคล้องของข้อมูล วิธีการ และมาตรฐานการจัดการทรัพยากรดิน โดยได้แบ่งกลุ่มความร่วมมือด้านดินเป็นระดับภูมิภาค รวม 8 ภูมิภาค สำหรับประเทศไทยและสมาชิกอีก 24 ประเทศจัดอยู่ในกลุ่มความร่วมมือด้านดินของภูมิภาคเอเชีย (Asian Soil Partnership : ASP)

นายสุรเดช เตียวตระกูล
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

นายสุรเดช กล่าวเสริมว่า เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2559 ระหว่างการประชุม ASP Workshop “Towards a Regional Implementation Plan for Asia” ที่กรุงเทพฯ ประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือด้านดินของภูมิภาคเอเชีย ได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีกิจกรรมการจัดทำแผนที่คาร์บอนในดินของภูมิภาคเอเซียเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักภายใต้สาขาที่ 4 ที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสถานการณ์ระดับโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญและรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และดินเป็นปัจจัยหลักที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศที่สำคัญ ทั้งนี้การเพิ่มปริมาณการสะสมของคาร์บอนในดินไม่เพียงแต่จะลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกแต่ยังเป็นการเพิ่มกำลังในการผลิตทางการเกษตร โดยคาร์บอนมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพดินและคุณภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนที่คาร์บอนในดินของเอเซียขึ้น ระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน 2560 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทางดินได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์รวมทั้งรวบรวมสถานภาพของข้อมูลคาร์บอนในดินของประเทศสมาชิกนำมาจัดทำให้อยู่ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันเพื่อจะใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำแผนที่คาร์บอนในดินของภูมิภาคเอเชียและของโลกต่อไป

การสะสมคาร์บอนในดินเป็นการเพิ่มกำลังในการผลิตทางการเกษตร
การสะสมคาร์บอนในดินเป็นการเพิ่มกำลังในการผลิตทางการเกษตร

ซึ่งข้อมูลคาร์บอนในดินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทรัพยากรดินในแต่ละภูมิภาคของโลกโดยในส่วนของประเทศไทยจะได้นำประโยชน์จากการจัดทำข้อมูลสถานภาพคาร์บอนในดินของประเทศรวมทั้งข้อมูลของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียมาปรับใช้เพื่อการวางแผนและกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสะสมคาร์บอนในดิน และฟื้นฟูคุณภาพดินทำให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพในการเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียในการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรดิน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated