ระยะนี้จะเข้าสู่ช่วงที่มะม่วงเริ่มติดผล กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง ให้สังเกตการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ จะพบแมลงวันผลไม้ตัวเมียวางไข่ โดยใช้อวัยวะแทงเข้าไปในผลมะม่วง ตัวหนอนจะฟักจากไข่และอาศัยชอนไชอยู่ภายในผล ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้นดิน เมื่อหนอนโตขึ้นจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน จากนั้นกลายเป็นแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัย มักพบแมลงวันผลไม้วางไข่ในผลไม้สุกที่มีเปลือกบาง ซึ่งจะสังเกตได้ยากในระยะเริ่มแรก อาจพบรอยช้ำใต้ผิวเปลือก ส่วนผลที่หนอนเจาะเป็นรูจะมีน้ำไหลเยิ้ม ผลเละ เน่าเสีย และร่วงหล่น ผลที่ถูกทำลายมักมีโรคและแมลงชนิดอื่นๆ เข้าทำลายซ้ำ

มะม่วงกำลังออกดอกสวยงาม
มะม่วงกำลังออกดอกสวยงาม

เกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเก็บผลที่เน่าเสียออกจากแปลงไปทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาลหรือถุงกระดาษที่ภายในเคลือบด้วยกระดาษคาร์บอน ในระยะที่มะม่วงเริ่มติดผลประมาณ 60 วัน และใช้กับดักที่ภายในแขวนก้อนสำลีชุบสารเมทธิลยูจินอลผสมสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี ในอัตรา 4 :1 นำไปแขวนไว้ในทรงพุ่มที่ระดับความสูง 1-1.5 เมตร จำนวน 1 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่ ให้หมั่นสังเกตปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นตัวชี้วัดปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก

ช่อดอกดำ
ช่อดอกดำ

หากพบระบาดมาก ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และพ่นด้วยเหยื่อพิษที่ประกอบด้วยยีสต์โปรตีน อัตรา 200 มิลลิลิตร ผสมกับสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร โดยพ่นในเวลาเช้าตรู่ก่อนเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน พ่นแบบเป็นจุด ต้นละ 1-4 จุด ทุก 7 วัน

ส่วน โรคแอนแทรคโนส อาการที่ใบอ่อน มีจุดแผลสีน้ำตาลเข้ม หากรุนแรง แผลจะขยายตัวติดต่อกันทั้งใบ ใบเหี่ยวแห้งบิดเบี้ยว เสียรูปทรง ยอดอ่อนเหี่ยวและดำ อาการที่ก้านช่อดอก พบจุดแผลหรือขีดสีน้ำตาลแดงเล็ก ต่อมาแผลขยายใหญ่ ทำให้ช่อดอกเหี่ยวแห้งหลุดร่วงก่อนติดผล อาการที่ผลอ่อน จะเห็นจุดแผลสีน้ำตาลดำ ผลที่ถูกทำลายกลายเป็นสีดำและหลุดร่วงก่อนกำหนด อาการที่ผลแก่หรือผลสุกหลังเก็บเกี่ยว เกิดจุดกลมสีดำขนาดไม่แน่นอน ต่อมาแผลขยายลุกลามเป็นแผลยุบตัวลึกลงไปในเนื้อผล ทำให้เน่าทั้งผล และอาจพบเมือกสีส้มอยู่ที่บริเวณแผลได้

anthracnose ผลมะม่วง
anthracnose ผลมะม่วง

สำหรับในแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสเป็นประจำ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราส 45% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นในช่วงที่มะม่วงแตกใบอ่อน เริ่มแทงช่อดอก ดอกบาน และหลังติดผลใหม่ๆ ให้พ่นสารสลับชนิดกันทุก 7-10 วัน เพื่อป้องกันเชื้อต้านทานสารเคมี และในระหว่างที่มะม่วงติดผล ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจอาการเกิดโรค กำจัดวัชพืชรอบโคนต้น ตัดแต่งทรงพุ่ม และเก็บส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งควรควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป กรณีที่มีสภาพอากาศร้อนและชื้นจากฝนตกชุกติดต่อกัน หลังสภาพอากาศปกติแล้วควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทดูดซึม เพื่อป้องกันการระบาดของโรคและให้หยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated