นายสัตวแพทย์ธนิตย์ อเนกวิทย์ (คนที่ 3) รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมตรวจสอบร้านผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว
นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ (ยืนจับเมล็ดข้าว) รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมตรวจสอบร้านผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว

ผมขึ้นต้นด้วยบทเพลงลูกทุ่งยอดฮิตในอดีต เพลงนี้ชื่อ “รักกับพี่ดีแน่” ขับร้องโดย ดำ แดนสุพรรณ นักร้องลูกทุ่งเสียงดีชาวอู่ทอง ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งโดย กานท์ การุณวงศ์ เมื่อปี 2511 แต่ยังใช้ได้ดีกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

ใช่ว่าอยู่ๆ ผมจะนึกถึงเพลงนี้ขึ้นมาได้ หากแต่นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นผู้เริ่มต้นขึ้นมาในระหว่างบรรยายเรื่อง นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนของคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายด้านการเกษตรและระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรฯ…ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานตาม พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของกรมการข้าว ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก

คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ” ข้างต้น เรียกให้เข้าใจง่ายๆก็คือ “สารวัตรข้าว” คำว่าสารวัตรข้าวมีบทบทหน้าที่เหมือนสารวัตรตำรวจหรือไม่ ให้ตามผมมาจะเล่าสู่กันฟังครับ

การบรรยายวันนี้ รองปลัดกระทรวงเกษตรไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมาก เป็นกันเอง เรียบง่าย เน้นความรู้ความเข้าใจเป็นด้านหลัก

ปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงมีความสอดคล้องต้องกันที่จะต้องควบคุมปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในด้านมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของกระบวนการผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวในตลาดเมล็ดพันธุ์ให้เกิดขึ้น” รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

นายสัตวแพทย์ธนิตย์ อเนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ่ายภาพร่วมกับผู้เข้าอบรม
นายสัตวแพทย์ธนิตย์ อเนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ่ายภาพร่วมกับผู้เข้าอบรม

หลังจากนั้น ได้นำ “สารวัตรข้าว” ตลอดจนสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจร้านผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวในทันที

แต่ช้าก่อน… “สารวัตรข้าว มีบทบาทหน้าที่และภารกิจอย่างไร” ทางคุณประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว หรือ “ผู้อำนวยการสารวัตรข้าว” ซึ่งเป็นแม่งานใหญ่ในครั้งนี้ ได้อธิบายให้ฟังว่า ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่จะให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึง

“จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ข้าว ดำเนินการตรวจติดตาม ควบคุม กำกับ ดูแล และตรวจสอบสถานประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้งสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้ากว่า 500 แห่ง และร้านขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมกว่า 18,000 แห่ง ให้ดำเนินกิจการสอดคล้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ”

“สารวัตรข้าวมีบทบาทหน้าที่คล้ายตำรวจ แม้ไม่สามารถจับกุมได้ แต่สามารถส่งเรื่องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ ตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดได้” ผู้อำนวยการสารวัตรข้าว กล่าว

ตรวจสอบเข้มข้นถึงในโกดังที่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย
ตรวจสอบเข้มข้นถึงในโกดังที่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย

จุดแรก ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบคือ ที่บริษัท คูโบต้าทั่งทองพิจิตร จำกัด โดยจุดนี้ทาง นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรนำทีมไปด้วยตนเอง จะว่าไปตรวจสอบก็ไม่เชิง แต่เป็นเหมือนโมเดลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเสียมากกว่า ว่าการตรวจสอบต้องมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้าง

ไปถึงก็มี คุณบุญเลิศ ทั่งทอง และคุณนิกร ทั่งทอง ทายาทเจ้าของคูโบต้าทั่งทองเป็นผู้ให้การต้อนรับ ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าธุรกิจหลักของบริษัท คือเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรกลเกษตรของสยามคูโบต้า ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือเกษตรกรชาวนา ต่อมาได้เห็นว่าการผลิตข้าวจำเป็นที่จะต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่ดี

“เราต้องการให้ชาวนาเพิ่มผลผลิตด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี เราจึงได้ขยายธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นมารองรับ โดยมีเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายทั้งหมด 10 สายพันธุ์”

เมล็ดพันธุ์ข้าวของที่นี้ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ช้างทองพันธุ์ดี”  ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จมียอดขายเติบโตขึ้นทุกปี

คุณนิกร และคุณนก ทั่งทอง...สองผู้บริหาร "ช้างทองพันธุ์ดี"
คุณนิกร และคุณนก ทั่งทอง…สองผู้บริหาร “ช้างทองพันธุ์ดี”

หลังจากที่คุณนิกร ได้นำเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตหรือการคัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวว่ามีคุณภาพอย่างไร ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยอย่างไร เสร็จสรรพก็ถึงคราวที่สารวัตรข้าวทำหน้าที่บ้าง

เริ่มจากการขอตรวจสอบใบอนุญาตค้าขายเมล็ดพันธุ์ข้าว ดูว่าหมดอายุหรือยัง ออกให้ถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งใบประกอบการค้าของกระทรวงพาณิชย์ และใบรับรองมาตรฐาน Q seed ซึ่งปรากฏว่ามีอย่างถูกต้องทุกประการ

เซ็นรับรองว่าผ่านการตรวจสอบเรื่องเมล็ดข้าววัชพืชแล้ว
เซ็นรับรองว่าผ่านการตรวจสอบเรื่องเมล็ดข้าววัชพืชแล้ว

จากนั้นสารวัตรข้าวได้ทำการเจาะสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรจุอยู่ในกระสอบพร้อมจำหน่าย นำตัวอย่างมากระสอบละนิดหน่อย ทำการชั่งให้ได้ 500 กรัม และนำไปสีกับโรงสีขนาดเล็กที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือตรวจสอบ เมื่อสีเสร็จก็นำมาแผ่กระจายเพื่อตรวจหาข้าวแดงหรือข้าววัชพืช ปรากฏว่าพบข้าวแดง 1 เมล็ด ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือก 500 กรัม จะมีข้าวแดงได้ไม่เกิน 10 เมล็ด หรือ 1 กิโลกรัม ไม่เกิน 20 เมล็ดนั่นเอง

ตราสัญลักษณ์ Q seed
ตราสัญลักษณ์ Q seed

“ร้านนี้ถือว่าเข้าเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด” สารวัตรข้าวบอกถึงผลการตรวจสอบและบอกต่อว่า “แต่ยังไม่จบแค่นี้….เราจะต้องนำไปเข้าห้องแล็ปเพื่อตรวจสอบว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นปนหรือไม่ ซึ่งจะต้องไม่เกิน 20 เมล็ดของน้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 500 กรัม รวมทั้งจะต้องไปตรวจสอบความงอก ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80”

ผ่านการตรวจสอบในจุดแรกไปด้วยความราบรื่น…ทั้งสารวัตรข้าว ทั้งสื่อมวลชน รวมทั้งเจ้าของร้านขายเมล็ดพันธุ์ข้าว ต่างเข้าใจตรงกันก็อำลาจาก

คุณประสงค์ ทองพันธ์ (คนซ้าย) ผู้อำนวยการสารวัตรข้าว ระหว่างตรวจสอบร้านผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว...
คุณประสงค์ ทองพันธ์ (คนซ้าย) ผู้อำนวยการสารวัตรข้าว ระหว่างตรวจสอบร้านผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว…สังเกตดูเจ้าของร้าน (คนขวา) สีหน้าไม่ค่อยดีนักในตอนแรก

จุดที่สอง เป็นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ชื่อร้าน “วังเป็ดเกษตรยนต์” ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตรา “ฟาร์มเมอร์ ไรซ์ โกลด์” เจ้าของชื่อคุณเชาว์ ยาประเสริฐ…พอไปถึงเจ้าของร้านตกใจเล็กน้อย เพราะคิดว่าตนเองทำอะไรผิดหรือไม่ เพราะจู่ๆก็มีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อสี้น้ำตาลมีโลโก้ “สารวัตรข้าว” ที่แขนขวามาแสดงตัว

สังเกตดูที่แขนเสื้อมีโลโก้ "สารวัตรข้าว"
สังเกตดูที่แขนเสื้อมีโลโก้ “สารวัตรข้าว”

“สวัสดีครับ กระผมนายประสงค์ ทองพันธ์  ขอนำทีมสารวัตรข้าวเข้าทำการตรวจสอบร้านค้าของท่าน พร้อมกับนำสื่อมวลชนมารายงานข่าวด้วยครับ” ผู้อำนวยการสารวัตรข้าว พูดพลางก็ชักบัตรแสดงตัว ทำเอาเจ้าของร้านค่อยใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะว่าร้านนี้มาตรวจสอบโดยมิได้แจ้งล่วงหน้า ซึ่งเป็นเหมือนสถานการณ์จริง

เริ่มต้นการตรวจสอบจากการถามหาใบอนุญาต ซึ่งที่ร้านนี้ติดโชว์ไว้ข้างผนังห้อง (ต้องแสดงใบอนุญาตในที่เปิดเผย เห็นได้ง่ายภายในอาคาร) แต่ก็ขอให้นำลงมาดูว่าหมดอายุหรือยัง และไม่เพียงแต่ควบคุมให้เป็นไปตามข้อกำหนด แต่ยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนำสัญลักษณ์ตัว Q seed มาติดไว้ให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า พอผ่านขั้นตอนนี้ก็ขอสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวเหมือนกับจุดแรก ซึ่งก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และขอเข้าไปดูสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งวางเรียงรายพร้อมจำหน่ายนับพันกระสอบ โดยที่ข้างกระสอบก็มีการติดฉลากติดยี่ห้อ รวมทั้งรายละเอียดต่างๆอย่างชัดเจน (ฉลากภาษาไทย ที่ภาชนะบรรจุ ต้องมีข้อความต่างๆครบถ้วน)

“ที่นี่เราเข้มงวดเรื่องมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามเกณฑ์กำหนดทุกอย่าง ซึ่งก็มีสารวัตรข้าวมาตรวจสอบหลายครั้งแล้ว” เจ้าของร้านบอกกับสื่อมวลชน

สังกตดูว่า ติดใบอนุญาตต่างๆไว้ที่ผนังห้องอย่างเห็นได้ชัด
สังกตดูว่า ติดใบอนุญาตต่างๆไว้ที่ผนังห้องอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อตรวจสอบเสร็จ ก็ถ่ายรูปยิ้มแย้มแจ่มใส
เมื่อตรวจสอบเสร็จ ก็ถ่ายรูปยิ้มแย้มแจ่มใส

จุดที่สาม เป็นร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ผลิต แต่เป็นตัวแทนจำหน่ายของหลายแบรนด์ เจ้าของร้านชื่อคุณนพรัตน์ มงคลไตรภพ เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ โดยทำงานคู่กับคุณชาญ เพิ่มพล ซึ่งเป็นคุณพ่อ ได้เล่าให้ฟังว่า เปิดร้านขายเมล็ดพันธุ์ข้าวมาหลายปีแล้ว ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานประกอบการค้าทุกประการ เช่น มีป้ายร้านค้า มีใบอนุญาตต่างๆ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมายอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ไปได้ดีมากๆ เพิ่งมาปีหลังๆที่ซบเซาลงบ้าง เพราะราคาข้าวตกต่ำ จึงทำให้เกษตรกรชาวนาทำเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกเอง

“แต่อย่างไรก็ดีผมก็คิดว่าชาวนาก็ต้องปลูกข้าวและการปลูกข้าวจะทำแบบเดิมๆไม่ได้ หากเข้าสู่ระบบการค้า จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งก็หวังว่าอนาคตข้าวไทยจะกลับมาได้รับความนิยมเช่นเดิม” เจ้าของร้านที่เป็นคนหนุ่มให้ความเห็นกับผมก่อนที่จะขึ้นรถ

ระหว่างตรวสอบร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว
ระหว่างตรวสอบร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว

ระหว่างการเดินทางกลับ ผมได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจากคุณประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการ “สารวัตรข้าว” ซึ่งขอตัวมาขึ้นรถสื่อมวลชนในคันที่ผมนั่ง และมีคุณทรรศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว นั่งอยู่ก่อนแล้ว ก็ทำให้ได้รับทราบว่า สารวัตรข้าวจะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำตามศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 3 คนต่อศูนย์ รวมทั้งหมดประมาณ 180 คน ซึ่งอาจจะมีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่ในการทำงานจะสนธิกำลังกัน โดยเฉพาะการตรวจสอบร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆทางร้านอาจคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในพื้นที่นั้นๆ จึงต้องใช้สารวัตรข้าวจากพื้นที่อื่นๆมาร่วมกันตรวจสอบ

“ภารกิจของเราชัดเจนมาก…หัวใจของเราคือเกษตรกรชาวนา เราต้องการให้เขาได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ถ้าการผลิตข้าวมีมาตรฐานตั้งแต่เริ่มต้นคือพันธุ์ข้าวดี ถูกต้องตามสายพันธุ์ ก็จะได้คุณภาพข้าวดี” ผู้อำนวยการสารวัตรข้าว กล่าวย้ำ

ในขณะที่คุณทรรศนะ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่าคนไทยทำนามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เรามีการพัฒนาพันธุ์ข้าวเรื่อยมา โดยเฉพาะงานวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ๆของเราก้าวหน้ากว่าใครในภูมิภาคนี้ แต่ทำไมชาวนาของเราจึงยังยากจน ภารกิจหน้าที่ของเราจึงท้าทายและยิ่งใหญ่มาก

“ทำอย่างไรให้ชาวนาของเรารวย หรืออย่างน้อยๆก็ให้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้าง” สิ้นเสียงนี้ทุกคนในรถพยักหน้า….ผมและเพื่อนๆสื่อมวลชนเกษตรฯ ที่วันนี้มาด้วยกันนับสิบชีวิตก็มีความคิดเห็นไม่ต่างกันเลยครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated