เตรียมรับมือ 2 โรคพืชตระกูลแตง (แตงกวา แตงโม เมล่อน ฟักเขียว มะระจีน บวบ ฯลฯ)
เตรียมรับมือ 2 โรคพืชตระกูลแตง

ในเขตภาคกลางระยะนี้จะมีอากาศร้อนช่วงกลางวัน และมีอากาศเย็นในช่วงกลางคืน กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง อาทิ แตงกวา แตงโม เมล่อน ซูกินี ฟักเขียว มะระจีน และบวบ ให้เกษตรกรหมั่นสังเกตอาการของโรคราน้ำค้าง และโรคราแป้ง ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืชตระกูลแตง

โรคราน้ำค้าง

โรคราน้ำค้าง มักพบมีแผลเหลี่ยมเล็กสีเหลืองบนใบ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ กรณีที่มีความชื้นสูงในตอนเช้า จะพบเส้นใยเชื้อราเป็นขุยสีเทาดำตรงแผลใต้ใบ หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมโรคจะระบาดรวดเร็ว ทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น แตงที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก และความหวานลดลง

วิธีแก้ไข หากพบเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน 30%+22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5-7 วัน

ข้อแนะนำ เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพจากแหล่งปลอดโรค และก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม โดยไม่ควรปลูกแน่นจนเกินไป เพราะจะเกิดความชื้นสูง อากาศไม่ถ่ายเท และโรคระบาดได้รวดเร็ว รวมถึงให้กำจัดจับด้วงเต่าแตงที่เป็นพาหนะเชื้อราสาเหตุโรคมาทำลาย หรือพ่นสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

โรคพืชตระกูลแตง-ฟักทองสีเหลือง

โรคราแป้ง

โรคราแป้ง จะพบโรคในช่วงอากาศแห้งและเย็น หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มักพบเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวเป็นหย่อมๆ บนใบส่วนล่างของต้นก่อน กรณีสภาพแวดล้อมเหมาะสม โรคจะกระจายทั่วทั้งใบและลุกลามขึ้นไปยังใบส่วนบนของต้น โดยเห็นเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวปกคลุมใบเกือบทั้งต้น ต่อมาใบจะซีดเหลืองและแห้ง หากรุนแรง จะลุกลามไปยังทุกส่วนของพืช ทำให้ต้นแห้งตายในที่สุด ถ้าแตงเป็นโรคในระยะติดผลอ่อน ผลจะแกร็น บิดเบี้ยว ผิวขรุขระ เป็นตุ่ม หรือมีแผลที่เปลือก

วิธีแก้ไข เกษตรกรต้องหมั่นดูแลและบำรุงรักษาต้นให้มีความแข็งแรง สมบูรณ์ และตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรค ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรพิเนบ 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟลูโอไพแรม+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25% + 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเพนทิโอไพแรด 20% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน

สำหรับพื้นที่ที่พบอาการของทั้ง 2 โรคนี้ หลังเก็บเกี่ยวแตงโมเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรเก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือ และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการสะสมเชื้อราสาเหตุโรค ทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตง และทำให้แปลงปลูกมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อีกทั้งควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชตระกูลแตง

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : กุมภาพันธ์ 2560)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated