“ใครๆก็ปลูกได้” ศรแดงเปิดตัว Go Glow-ผักพื้นบ้าน 35ชนิด...พิชิตใจมือใหม่
คณะผู้บริหารศรแดงนำโดย มร.เบริ์ท แวน เดอร์ เฟลท์ช (คนที่ 3 จากซ้าย) นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล (คนที่ 2 จากขวา) ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติร่วมกันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ฉลองครอบรอบ 35 ปี

ศรแดง 35ปี พลิกวงการเมล็ดพันธุ์ผัก เปิดตัว Go Grow ซองผักรูปแบบใหม่ มีคู่มือปลูก เน้นขายคนเมือง-เกษตรกรรายย่อย-เกษตรมือใหม่ หวังรายได้ทะลุ 1,150 ล้านบาท พร้อมลุยตลาดออนไลน์-พัฒนาพันธุ์ผักพื้นบ้าน ทนแล้ง ทานโรค ไม่พึ่งพา จีเอ็มโอ

ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พอล เม้งเฟล อุปฑูตเนเธอร์แลนด์ (ยืนช้าย)
ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พอล เม้งเฟล อุปฑูตเนเธอร์แลนด์ (ยืนช้าย)

นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักอันดับ 1 ภายใต้แบรนด์ “เมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง” ซึ่งในปี 2560 นี้ บริษัทครบรอบ 35 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเกษตรกรในทุกระดับ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย บริษัทมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาด้านการปลูกผัก แก้ปัญหา และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย และด้วยเมล็ดพันธุ์ที่บริษัททุ่มเทวิจัย และการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด และได้ผลผลิตต่อไร่ดี มีความทนทานต่อสภาวะอากาศ โรคและแมลงต่างๆได้ จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดงครองใจเกษตรกรไทยตลอด 35 ปี

ได้รับความสนใจมาก
ได้รับความสนใจมาก

และในโอกาสครบรอบ 35ปี บริษัทได้เฉลิมฉลองภายใต้สโลแกนว่า “เพาะด้วยใจ…ให้ยั่งยืน” หรือ (Growing opportunity) และได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Go Grow ซองเมล็ดพันธุ์ผักรูปแบบใหม่ พร้อมเปิดตัวเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านไทย จำนวน 35 ชนิด โดยหวังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาศัยในเมือง และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้สินค้าบรรจุซองเพิ่มเป็น 20% มูลค่า 230 ล้านบาท โดยที่กลุ่มสินค้าเพื่อการค้าคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ 80% มูลค่า 920 ล้านบาท โดยรายได้รวมทั้งปีจะเติบโตเป็น 1,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท

“การเติบโตของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ผักของประเทศไทย ในรอบปีที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดถึง 2,100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้วตลาดขยายตัวมากกว่า 15% (เฉลี่ยเติบโต 3% ต่อปี) เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคผักของตลาด ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้มั่นใจว่าในปี 2560 บริษัทจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำยอดขายอันดับ 1 ในตลาดเมล็ดพันธุ์ผักเหมือนที่ผ่านมาได้”

กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในปี 2559 ที่ผ่านมา คือ “บริษัทได้ทำการรับมือปัญหาภัยแล้งที่เป็นผลกระทบใหญ่ต่อการชะลอการปลูกของเกษตรกร ด้วยการออกแคมเปญ พืชน้ำน้อย จากร้อยสู่ล้าน  หรือ (Grow with the Drought ) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกผักบางชนิดที่ใช้ปริมาณน้ำน้อยทดแทนและเป็นทางเลือกเพิ่มรายได้ ซึ่งถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จในแคมเปญนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ยอดขายปี 2559 สูงกว่าปี 2558 ถึง 13%  และสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 5% จึงทำให้ยอดขายในปี 2559 สูงสุดในประวัติการณ์

สำหรับปี 2560  บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีดฯ มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เข้มข้นตรงเป้าหมาย เริ่มต้นจากการแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรกรปลูกผักมืออาชีพ หรือเพื่อการค้า (Professional Farming) 2.กลุ่มเกษตรกรขนาดย่อม (Home Farming) และ3.กลุ่มปลูกผักรับประทานในครัวเรือน (Home Gardening) ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายส่วนใหญ่สูงถึง 85% ในกลุ่มปลูกเพื่อการค้า โดยมีสินค้าหลัก คือ กลุ่มแพ็กเกจแบบกระป๋องและแบบถุงใหญ่ และมียอดขาย 15% ในกลุ่มซองเล็ก ซึ่งมียอดขายมาจากเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มปลูกผักรับประทานในครัวเรือนรวมกัน ซึ่งใน 2 กลุ่มหลังนี้ บริษัทได้ตัดสินใจทำการตลาดอย่างจริงจังในปี 2560 เนื่องจากมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มสินค้าที่เป็นรายย่อยอย่างต่อเนื่อง มากถึง 10% เมื่อเทียบกับปี 2558-2559  ด้วยการออกสินค้าใหม่ที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์ Go Grow

ซองเมล็ดพันธุ์ผักรูปแบบใหม่
ซองเมล็ดพันธุ์ผักรูปแบบใหม่

กลุ่มผลิตภัณฑ์ Go Grow เป็นการพลิกประวัติศาสตร์ผลิตภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย โดยศรแดงเป็นรายแรกที่ออกผลิตภัณฑ์ที่มีคู่มือวิธีการปลูก การให้ปุ๋ย และการป้องกันโรคและแมลงแบบเข้าใจง่ายๆ แนะนำอยู่ข้างซอง ซึ่งจะทำให้ปลูกง่ายเหมาะกับเกษตรกรมือใหม่ ตามแนวคิดที่ว่า “ใครๆ ก็ปลูกได้”  พร้อมดีไซน์ซองผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ มีอลูมิเนียมฟรอยด์ด้านใน ซึ่งเป็นตัวป้องกัน UV จากภายนอก ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเมล็ดพันธุ์ได้ ทำให้เมล็ดพันธุ์คงความสมบูรณ์ได้ยาวนานกว่าเดิม ตอบโจทย์กลุ่มเกษตรรายย่อย และกลุ่มปลูกรับประทานในครัวเรือน”

จากการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะต้องปรับราคาขายจากซองละ 20 บาทเป็นซองละ 25 บาท และได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ ทั้ง www.lazada.com , www.Talad.com และ ร้านโกลเด้นเพลส

แปลงสาธิตปลูกผักพื้นบ้าน
แปลงสาธิตปลูกผักพื้นบ้าน

นอกจากนี้ บริษัทมีความตั้งใจที่จะตอบแทนคนไทย ด้วยการช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์ผักพื้นบ้านที่เป็นผักท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ให้คนไทยได้มีโอกาสปลูกรับประทานจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และมาตรฐานที่เชื่อถือได้ บริษัทจึงเปิดตัวแนะนำผลิตภัณฑ์ผักพื้นบ้านจำนวน 35 ชนิด เป็นการฉลองครบรอบ 35 ปีในปีนี้

(รายละเอียด ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/ydYAqH)

ตัวอย่างผักพื้นบ้านที่นำมาโชว์ พร้อมกับซองผักรูปแบบใหม่
ตัวอย่างผักพื้นบ้านที่นำมาโชว์ พร้อมกับซองผักรูปแบบใหม่

ทางด้าน มร.เบริ์ท แวน เดอร์ เฟลท์ช ประธานกรรมการบริการกลุ่มบริษัทอีสท์ เวสท์ ซีดฯ ได้กล่าวย้ำถึงพันธกิจสำคัญของบริษัทตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา คือการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรรายย่อย ที่เป็นผู้ผลิตอาหารมากถึง 85% แต่ผลผลิตที่ได้ไม่สามารถวางขายในห้างสรรพสินค้าเหมือนผู้ผลิตรายใหญ่ บริษัทจึงมีความตั้งใจที่จะส่งมอบเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุด ทนทานต่อสภาพอากาศ โรค และแมลง รวมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรเหล่านี้

“ในโอกาสบริษัทครบรอบ 35 ปี นี้ เราตั้งใจจะเป็นบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนที่มีความสำคัญบริษัทหนึ่งในโลกที่จะมีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าทางสังคม และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดให้กับเกษตรกรรายย่อยตลอดไป

เกี่ยวกับการครองใจเกษตรกรเป็นบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอันดับ 1 ของประเทศไทย คุณวิชัย ได้กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทที่ยึดมั่นในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทตั้งอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ชื่อว่า “ศูนย์วิจัยไซมอน กรูท” ซึ่งได้ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งบริษัท หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟาร์มเลิศพันธุ์” โดยใช้เงินลงทุนทางด้านงานวิจัยและพัฒนาประมาณ 11-15% ของรายได้ทุกปี

“การวิจัยและพัฒนามีประโยชน์ในการช่วยสนับสนุนการผสมพันธุ์ผักทางธรรมชาติ เช่น การใช้เครื่องหมายโมเลกุล (Molecular Marker) และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) เพื่อช่วยให้นักพัฒนาสายพันธุ์ผักคัดเลือกสายพันธุ์ได้ตรงตามลักษณะที่ต้องการ ซึ่งที่ผ่านมามีคำถามว่าเราจำเป็นต้องพึ่งพาการตัดเเต่งพันธุกรรม (GMOs) หรือไม่ ก็ตอบได้เลยว่าเทคโนโลยีของเราก้าวไกลเกินกว่าที่จะมองในจุดนั้นแล้ว” คุณวิชัย กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated