พอมะม่วงออกดอก “เพลี้ยจักจั่น” ก็มาทันที...แนะวิธีจัดการให้อยู่หมัด
การจัดการสวนมะม่วงช่วงออกดอกสำคัญมาก

ระยะนี้เข้าสู่ช่วงที่มะม่วงเริ่มออกดอก กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงให้เฝ้าระวังช่วงที่อากาศร้อน ลมกระโชกแรง สลับฝนตกหนัก และหนาวในเวลากลางคืน ให้สังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นมะม่วง มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน โดยระยะที่มะม่วงกำลังออกดอกจะเกิดความเสียหายมากที่สุด เพลี้ยจักจั่นจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ดอกแห้ง ดอกร่วง และติดผลน้อยหรือไม่ติดผล

ขณะที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยงจะถ่ายมูลเป็นน้ำหวานเหนียวๆ ติดตามใบ ช่อดอก ผล และรอบทรงพุ่ม ทำให้ใบเปียก เกิดราดำปกคลุมมาก ส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงของใบ ส่วนใบอ่อน (ใบเพสลาด) จะบิดงอโค้งลง ให้สังเกตด้านใต้ใบมีอาการปลายใบแห้งได้

ระยะที่มะม่วงกำลังออกดอกจะเกิดความเสียหายมากที่สุด
มะม่วงกำลังออกดอกสวยงาม

การจัดการ…หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วง ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มต้นมะม่วงให้โปร่งอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดที่หลบซ่อนต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของเพลี้ยจักจั่นมะม่วง  จากนั้นให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อช่วยให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เกษตรกรควรปรับหัวฉีดให้เป็นแบบละอองฝอย และพ่นให้ทั่วถึงทั้งลำต้นในระยะก่อนที่มะม่วงจะออกดอก 1 ครั้ง มิเช่นนั้น ตัวเต็มวัยจะย้ายไปหลบซ่อนยังบริเวณที่พ่นสารฆ่าแมลงไม่ทั่วถึง ส่วนในระยะที่ช่อดอกบานแล้วไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร และเกษตรกรควรหมั่นตรวจดูตามช่อดอกอยู่เรื่อยๆ ซึ่งหากไม่มีการป้องกันกำจัดแล้ว มะม่วงจะไม่ติดผลเลย

การจัดการแบบภูมิปัญญา…นอกจากนี้ กรมวิชาการได้แนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นมะม่วงแบบผสมผสาน โดยให้เกษตรกรใช้น้ำ ฉีดล้างช่อดอกและใบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาช่อดอกและใบดำจากโรครา หากแรงอัดฉีดของน้ำแรงพอก็ช่วยให้เพลี้ยใน ระยะตัวอ่อนกระเด็นออกจากช่อดอกได้ แต่ให้ระมัดระวังอย่าฉีดน้ำไปกระแทกดอกมะม่วงแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ดอกหรือผลที่เริ่มติดร่วงได้ และให้เกษตรกรใช้กับดักแสงไฟดักจับตัวเต็มวัยเพลี้ยจักจั่นมะม่วงที่บินมาเล่นไฟ เพื่อช่วยลดความความเสียหาย

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : พฤศจิกายน 2559)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated