ห่วงชีวิตสัตว์น้ำ...ม.เกษตรฯ เร่งหาเหตุปลากระเบนตายริมน้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
ปลากระเบนเจ้าพระยาที่นำมาดูแลไว้ที่บ่อเลี้ยงของสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม

จากสถานการณ์และรายงานข่าวการพบการตายของปลากระเบนเจ้าพระยา บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โดยดำริของดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี ได้สั่งการให้คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งดำเนินการให้คำปรึกษาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบและหาข้อเท็จจริงของสาเหตุการตายโดยด่วน โดยทางคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบหมายให้นายวีรกิจ จรเกตุ หัวหน้าสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม สังกัดคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ประสบเหตุ ได้นำทีมร่วมสำรวจคุณภาพน้ำเพื่อหาสาเหตุการตายของปลากระเบนเจ้าพระยาในครั้งนี้แล้ว

สำหรับรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการจากการตรวจวัดคุณภาพผิวน้ำบริเวณแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในช่วงเวลากลางวัน พบว่าปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) มีค่าอยู่เพียง 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน และมีค่าต่ำกว่าค่าที่เคยไว้ได้ในช่วงเดือนเดียวกันในปีที่แล้วมาก ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

ตรวจคุณภาพน้ำหาสาเหตุปลากระเบนตาย
ตรวจคุณภาพน้ำ

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ทางทีมงานได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำการออกเรือเพื่อตามหาปลากระเบนเจ้าพระยาบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ในขณะนี้ได้สำรวจพบปลากระเบนเจ้าพระยาจำนวน 2 ตัว และได้ช่วยกันล้อมมาดูแลไว้ที่บ่อเลี้ยงของสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังพบการเสียชีวิตของปลากระพงที่เลี้ยงในกระชังบริเวณแม่น้ำแม่กลองในบางพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุการตายที่แน่นอนของปลาในบริเวณแม่น้ำแม่กลองได้ ดังนั้นทางคณะประมง จึงได้จัดทีมสำรวจคุณภาพน้ำบริเวณแม่น้ำแม่กลองเพื่อสำรวจหาสาเหตุของการเสียชีวิตที่แน่นอนต่อไป

จุดที่พบปลากระเบนเจ้าพระยาตาย
จุดที่พบปลากระเบนเจ้าพระยาตาย

ล่าสุดในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2559 ทีมงานคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ดร.สุขกฤกษ์ นิมิตรกุล ดร.เยาวลักษณ์ มั่นธรรม และนายวีรกิจ จรเกตุ จะทำการลงพื้นที่ตั้งแต่ปากแม่น้ำ แม่กลองไปจนถึงตัวจังหวัดราชบุรี เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำและดินตะกอน เพื่อยืนยันสาเหตุการตายของปลากระเบนเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “สิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความกังวลและห่วงใยมากที่สุดก็คือ การคงอยู่ของปลากระเบนชนิดนี้ที่นับวันมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง ตลอดจนคุณภาพชีวิตของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆที่ได้รับผลกระทบด้วย ผมจึงมอบหมายให้คณะประมง หาแนวทางเพื่อรักษาจำนวนของปลากระเบนเจ้าพระยาเอาไว้ให้มากที่สุดในโอกาสต่อไป”

สภาพน้ำปัญหาใหญ่ที่น่าจะทำให้ปลากระเบนตาย
สภาพน้ำอาจเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าจะทำให้ปลากระเบนตาย แต่ก็จะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้ง

ข่าวโดย : นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / ประชาสัมพันธ์ มก. / 10 ตุลาคม 2559

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated