“นาโนซิงค์ฯ” ซิ่ง(ใช้)ได้ดีกับสวนสละ...เผยกำจัดเชื้อราชะงัก ที่จันทบุรี
คุณอนุสรณ์ ฐิติคุณรัตน์ หรือ “ลุงตี๋” เกษตรกรเจ้าของสวนสละ บอกว่าพอใจกับผลผลิตที่ได้

วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปั้นนาโนซิงค์ออกไซด์แก้ปัญหาโรคไม้ผล เปิดต้นแบบหมู่บ้านฟิสิกส์นาโนพัฒนาปลูกสละ จ.จันทบุรี ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตที่ยั่งยืน

วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เปิดโครงการ “หมู่บ้านฟิสิกส์นาโนเพื่อการพัฒนาปลูกสละ” ใน ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี นำองค์ความรู้ในการประยุกต์ใช้วัสดุนาโนมาช่วยแก้ไขปัญหาเชื้อราและแบคทีเรียในกระบวนการปลูกสละ ผลไม้เศรษฐกิจของจันทบุรี เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร และมุ่งหวังให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการขยายผลความรู้การแก้ปัญหาให้เกษตรกรในวงกว้างเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

จัดตั้งวิทยาลัยนาโนฯ พระจอมเกล้าฯ

ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “สจล. จัดตั้งวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังขึ้นเพื่อนำเอานวัตกรรมนาโนมาแก้ไขปัญหาภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้ง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ พลังงานทดแทน และสิ่งแวดล้อม พร้อมการออกแบบผลิตภัณฑ์ของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพผลิตผลและสินค้าเกษตรของไทยพอเพียงต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกในต่างประเทศได้ สอดคล้องแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพทางการเกษตรอย่างยั่งยืน นาโนเทคโนโลยีคือคำตอบที่สำคัญ เกษตรกรนำไปใช้ได้ง่ายไม่สลับซับซ้อนราคาไม่แพง ปัจจุบันงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้องในหลายขั้นตอนการผลิตพืชผล ตั้งแต่การเตรียมดินแปลงปลูกไปจนถึงการป้องกันโรคพืช และดูแลผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป”

เกษตรกรสวนสละมั่นใจนาโนซิงค์ออกไซด์ว่าใช้ได้ผลดี
เกษตรกรสวนสละมั่นใจนาโนซิงค์ออกไซด์ว่าใช้ได้ผลดี

หมู่บ้านฟิสิกส์นาโนเพื่อการพัฒนาปลูกสละ

ดร. อดิเรก แรงกสิกรณ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สังกัดวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สจล. กล่าวว่า “โครงการหมู่บ้านฟิสิกส์นาโนเพื่อการพัฒนาปลูกสละ ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือกับทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ThEP) โดยศ.ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เป็นประธานในการเปิดหมู่บ้านฯ ในวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยการดำเนินงานผ่าน ศ.ดร.จิติ หนูแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ดร.อดิเรก แรงกสิกรณ์ ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สจล. ร่วมมือกับ ดร.ชีวะ ทัศนา ภาควิชาพิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และกลุ่มเกษตรกรอำเภอท่าใหม่ ได้มีการเตรียมจัดตั้งหมู่บ้านฯ มาหลายเดือน พร้อมทดลองกับพืชสละในพื้นที่ โดยจัดอบรมวัสดุนาโนและการประยุกต์ใช้งานอนุภาคนาโนซิงค์ออคไซด์ (ZnO) ซึ่งมีสมบัติในการยับยั้งราและฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นวัสดุหลักในแก้ไขปัญหาทางด้านเกษตร และทั้งนี้ศูนย์วิจัยนาโนสเกลฟิสิกส์ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สังกัดวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังได้ดำเนินการจัดตั้งโครงการอบรมให้ความรู้การใช้วัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนวัสดุนาโนตลอดโครงการเพื่อจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านนาโนเทคโนโลยีสำหรับแก้ปัญหาโรคที่เกิดกับพืช รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่วิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยเพื่อการเกษตรสู่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ปัจจุบันเราได้จัดโครงการฝึกอบรมมาแล้วหลายหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมถึงได้มีการนำไปเผยแพร่วัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ในหน่วยงานราชการ เช่น โครงการชั่งหัวมัน มูลนิธิชัยพัฒนา จึงมีบทพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์สามารถแก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างแท้จริง ช่วยลดปัญหาด้านเกษตรและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเกษตรกร ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด”

ดร. อดิเรก แรงกสิกรณ์ กำลังอธิบายคุณสมบัตินาโนซิงค์ฯ
ดร. อดิเรก แรงกสิกรณ์ กำลังอธิบายคุณสมบัตินาโนซิงค์ฯ

รู้จัก นาโนซิงค์ออกไซด์

นาโนซิงค์ออกไซด์ (Nano-ZnO) คือ อนุภาคของซิงค์ออกไซด์ที่มีขนาดอยู่ในระดับนาโนเมตร ซิงค์ออกไซด์เกิดขึ้นเมื่อให้ความร้อนกับธาตุสังกะสีจนถึงจุดเดือดและทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เมื่อลดอุณหภูมิผ่านการแยกขนาดมีลักษณะเป็นผงอนุภาคละเอียดสีขาวซึ่งสามารถป้องกันรังสียูวีเอและยูวีบีได้ ใช้เป็นส่วนประกอบการผลิตในอุตสาหกรรม เช่น ยาง สีทาบ้าน พลาสติก แก้ว เซรามิค อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ทางด้านชีวะภาพเป็นสารที่ใช้ยับยั้งแบคทีเรีย ไม่มีความเป็นพิษต่อร่างกาย รวมทั้งระงับกลิ่นไม่พึงประสงค์ จึงนำมาใช้เป็นยาต้านแบคทีเรียบางชนิด สำหรับประโยชน์ของนาโนซิงค์ออกไซด์ด้านเกษตรกรรมนั้น สามารถนำมาช่วยแก้ไขปัญหาโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียโดยตรงซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตการเกษตร

(นอกจากใช้ได้ผลดีกับเชื้อราในผลไม้ต่างๆแล้ว ยังใช้ได้ผลดีกับโรคแคงเกอร์ที่เกิดกับพืชตระกูลส้ม เช่นมะนาว ซึ่งแคงเกอร์เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย)

สำหรับโครงการหมู่บ้านฟิสิกส์นาโนเพื่อการพัฒนาปลูกสละ ที่ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแนะนำการใช้วัสดุนาโนเพื่อการเกษตรเพื่อจัดตั้งหมู่บ้านดำเนินการในเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 80 คน โดยมุ่งวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ประกอบด้วย

  • เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีสู่เกษตรกรและชุมชน
  • เพื่อต่อยอดและส่งเสริมการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนาโนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเพาะปลูกพืชทางการเกษตรของเกษตรกรในชุมชน
  • เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาองค์ความรู้และเกิดศักยภาพในการนำวัสดุนาโนประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองและชุมชนเข้มแข็ง
คุณสมศักดิ์ จันทร์แต่งผล หรือ “ลุงหน่อย” เกษตรคนคนแรกๆ ที่นำนาโนซิงค์ออกไซด์มาใช้ไดีผลดี
คุณสมศักดิ์ จันทร์แต่งผล หรือ “ลุงหน่อย” เกษตรคนคนแรกๆ ที่นำนาโนซิงค์ออกไซด์มาใช้ได้ผลดีและต่อมาขยายสู่เกษตรคนอื่นๆ

เพิ่มผลผลิตสละได้ 10-30%

คุณอนุสรณ์ ฐิติคุณรัตน์ หรือ “ลุงตี๋” และ คุณสมศักดิ์ จันทร์แต่งผล หรือ “ลุงหน่อย” เกษตรกรเจ้าของสวนสละพันธุ์สุมาลี ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เล่าให้ฟังว่า ตนทั้งสองได้ทดลองใช้นาโนซิงค์ออกไซด์มากำจัดโรคเชื้อราหรือที่เกิดตามผลสละมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว

“ปัญหาของสละคือมักเกิดเชื้อราที่เรียกว่าราเห็ด ลักษณะสีขาวๆ มักเกิดที่ผลสละ เกิดได้ตลอดเวลาที่อากาศชื้นๆ ซึ่งจะทำให้ผลสละเสียหาย ผลไม่โตและร่วงหล่น ที่ผ่านมาได้ใช้กำมะถัน และใช้ยาพ่นเป็นยาที่มีขายตามร้านเคมีเกษตร แต่ใช้ไปแล้วมันไม่สบายใจ กังวลในเรื่องผลตกค้าง จึงได้รับคำแนะนำให้มาใช้นาโนซิงค์ออกไซด์จากเพื่อนเกษตรกร และปรากฏว่าใช้ได้ผลดี ที่สำคัญอุ่นใจว่าเป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ และทราบว่าไม่มีผลตกค้างใดๆ” ลุงตี๋ และลุงหน่อย เล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ ลุงตี๋ และลุงหน่อย ย้ำว่าผลจากการใช้นาโนซิงค์ออกไซด์ฉีดพ่น ทำให้สามารถลดความเสียหายของสละที่เกิดจากเชื้อราและเพิ่มผลผลิตได้สูง 10-30% และยังทำให้ผลสละผิวสีแดงสวยอีกด้วย

(เกี่ยวกับการปลูกสละและการจัดการสวนของลุงตี๋และลุงหน่อย ทาง “เกษตรก้าวไกล” จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป)

ต้องการ นาโนซิงค์ออกไซด์ ติดต่ออย่างไร?

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานาโนซิงค์ออกไซด์ ได้ถูกเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ไปอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแง่การขายหรือบอกต่อ เพื่อความชัดเจนและถูกต้องทางวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง จึงได้ทำการจัดจำหน่ายวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ในราคากิโลกรัมละ 380 บาท สามารถสั่งซื้อได้ใน 2 ช่องทาง คือ ติดต่อวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง โดยตรงในเวลาราชการ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น. หรือโอนเงินเข้าบัญชีและจัดส่งวัสดุทางไปรษณีย์ ที่หมายเลขบัญชี 0882543981 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อบัญชี: ศูนย์วิจัย นาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรด่านช้าง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนาโนซิงค์ออกไซด์ติดต่อ : ดร. อดิเรก แรงกสิกรณ์ โทร. 089 7990787

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated