Smart Farmer กับการเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0...เตรียมพร้อมกันหรือยัง?
ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ ดร.ภูมิศักดิ์  ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU – OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (4th Industrial Revolution) กำลังจะ มาถึงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) พันธุวิศวกรรม (Genetics) นาโนเทคโนโลยี การพิมพ์สามมิติ และไบโอเทคโนโลยี

เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตและการจ้างงานประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อแต่ละประเทศโดยเป็น “กระแสร่วม” ที่โลกกำลังดำเนินไปในอนาคตในทิศทางเดียวกันหรือเรียกว่า 5 เมกะเทรนด์ ได้แก่ 1) ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี 2) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 3) การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก 4) การขยายตัวของชุมชนเมือง และ 5) การขาดแคลนทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกระแสโลกในอนาคตและการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายที่จะผลักดันเศรษฐกิจทั้งระบบ ทั้งอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจระดับรากฐานของประเทศ

ประเทศไทย จึงประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” คือ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา คือ เปลี่ยนจากการทำปริมาณมากแต่ได้ผลน้อย เป็นการทำปริมาณน้อยแต่ได้ผลมาก ซึ่งต้องอาศัยกระบวนทัศน์ในการพัฒนา 3 เรื่อง คือ 1) เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และ 3) เปลี่ยนจากภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ซึ่งแตกต่างกับนโยบาย “ประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนักและทำให้ประเทศไทยติดอยู่ใน 3 กับดัก คือ รายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ และความไม่สมดุลในการพัฒนา

จากซ้าย...ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี และ ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ขณะแถลงข่าว
จากซ้าย…ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี และ ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ขณะแถลงข่าว

สำหรับความพร้อมของภาคการเกษตร 4.0 เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ “ภายใต้
โมเดลไทยแลนด์ 4.0”  ภาคการเกษตรควรให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมบุคลากรสู่การเป็น Smart Officer และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาด มีการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการนำข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในการเกษตรของตนเองมากขึ้น

หากในอนาคตนโยบาย “โมเดล ไทยแลนด์ 4.0 ”ประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และภาคเกษตรสามารถพัฒนาเกษตรกรให้มีระดับมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามที่วางแผนไว้ ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและโอบอุ้ม เกษตรกรอย่างที่เป็นมาในอดีต

การคัดกรองเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็น Smart Farmer นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 2 ประเด็นหลัก คือ รายได้ของครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ปีและมีคุณสมบัติพื้นฐาน 6 ข้อ ดังตาราง

ตาราง หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer แบ่งตามคุณสมบัติพื้นฐาน 6 ข้อ

คุณสมบัติ ตัวบ่งชี้
1. มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่

 

1.1 สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือให้คำแนะนำปรึกษาให้กับผู้อื่นได้
1.2 สามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบหรือจุดเรียนรู้ให้กับผู้อื่น
 

 

2. มีข้อมูลประกอบ การตัดสินใจ

 

2.1 สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่และผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่นๆ เช่น Internet Mobile Phone Smart phone เป็นต้น
2.2 มีการบันทึกและใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนก่อนเริ่มดำเนินการและบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
2.3 มีการนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพของตนเองได้
3. มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด

 

3.1 มีความสามารถในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน ฯ
3.2 มีความสามารถในการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิตได้
3.3 มีการจัดการของเหลือจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Zero waste management)
4. มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

4.1 มีความรู้หรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่นๆ
4.2 มีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่นๆ
5. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม 5.1 มีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Green Economy)
5.2 มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
6. มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร 6.1 มีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร
6.2 รักและหวงแหนพื้นที่และอาชีพทางการเกษตรไว้ให้รุ่นต่อไป
6.3 มีความสุขและพึงพอใจในการประกอบอาชีพการเกษตร

ทั้งนี้ เมื่อประเมินคุณสมบัติของเกษตรกรแล้ว ผ่านทั้งคุณสมบัติด้านรายได้ และคุณสมบัติพื้นฐานครบทั้ง 6 ข้อ โดยผ่านตัวบ่งชี้อย่างน้อย 1 ตัวในแต่ละคุณสมบัติเกษตรกรรายนั้นจะอยู่ในกลุ่ม Existing Smart Farmer แต่หากไม่ผ่านคุณสมบัติด้านรายได้หรือคุณสมบัติพื้นฐานหรือทั้งสองคุณสมบัติเกษตรกรรายนั้นจะอยู่ในกลุ่ม Developing Smart Farmer

อย่างไรก็ตาม เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์จริงในระดับครัวเรือน ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร      คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่สำรวจในหัวข้อเรื่อง “ข้อจำกัดและศักยภาพของการทำฟาร์มแบบปราดเปรื่องและความรับผิดชอบของเกษตรกรในจังหวัดลพบุรี” โดยทำการสัมภาษณ์เกษตรกร จำนวน 741 ราย มีรายละเอียดของผลการศึกษา ดังนี้

Existing Smart Farmer มีจำนวน 87 ราย มีลักษณะดังนี้

ด้านข้อมูลพื้นฐานพบว่า เกษตรกรมีอายุ เฉลี่ย 56.4 ปี ประสบการณ์การประกอบอาชีพด้านการเกษตรของผู้มีอำนาจตัดสินใจเฉลี่ย 32.4 ปี จำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.1 คน จำนวนสมาชิกครัวเรือนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเฉลี่ย 0.4 คน แรงงานเกษตรแบบเต็มเวลาเฉลี่ย 1.6 คน แรงงานเกษตรแบบไม่เต็มเวลาเฉลี่ย 0.9 คน และเป็นสมาชิกกลุ่มการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร้อยละ 22.1

ด้านพื้นที่การเกษตร พบว่า เกษตรกรมีค่าเฉลี่ยพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน 29.2 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 28.9 ไร่ และเป็นพื้นที่ว่างเปล่า 0.3 ไร่ มีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน 22.7 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 21.7 ไร่ และเป็นพื้นที่ว่างเปล่า 1.0 ไร่

ด้านรายได้และรายจ่ายครัวเรือน พบว่า เกษตรกรมีค่าเฉลี่ยรายได้ภาคเกษตร 372,703 บาท/ปี รายจ่ายภาคเกษตร 115,490 บาท/ปี รายได้ภาคเกษตรสุทธิ 257,213 บาท/ปี รายได้นอกภาคเกษตร 146,149 บาท/ปี รายจ่ายนอกภาคเกษตร 257,056บาท/ปี รายได้นอกภาคเกษตรสุทธิ -110,906 บาท/ปี และมีรายได้ครัวเรือนสุทธิ 146,307 บาท/ปี

ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า เกษตรกรมีคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ตในครัวเรือนจำนวน 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.9 และใช้ smart phone ในการหาข้อมูลทางด้านการเกษตร จำนวน 16 ราย คิดเป็นร้อยละ18.4

Developing Smart Farmer มีจำนวน 654 ราย มีลักษณะ ดังนี้

ด้านข้อมูลพื้นฐาน พบว่า เกษตรกรมีอายุ เฉลี่ย 56.1 ปี ประสบการณ์การประกอบอาชีพด้านการเกษตรของผู้มีอำนาจตัดสินใจเฉลี่ย 32.7 ปี จำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.2 คน จำนวนสมาชิกครัวเรือนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเฉลี่ย 0.4 คน แรงงานเกษตรแบบเต็มเวลาเฉลี่ย 1.7 คน แรงงานเกษตรแบบไม่เต็มเวลาเฉลี่ย 0.9 คนและเป็นสมาชิกกลุ่มการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร้อยละ 13.2

ด้านพื้นที่การเกษตร พบว่า เกษตรกรมีค่าเฉลี่ยพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน 17.5 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 16.1 ไร่ และเป็นพื้นที่ว่างเปล่า 1.4 ไร่ มีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน 21.4 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 20.0 ไร่ และเป็นพื้นที่ว่างเปล่า 1.4 ไร่

ด้านรายได้และรายจ่ายครัวเรือน พบว่าเกษตรกรมีค่าเฉลี่ยรายได้ภาคเกษตร 221,735 บาท/ปี รายจ่ายภาคเกษตร 84,861 บาท/ปี รายได้ภาคเกษตรสุทธิ 136,874บาท/ปี รายได้นอกภาคเกษตร 127,331บาท/ปี รายจ่ายนอกภาคเกษตร 204,579 บาท/ปี รายได้นอกภาคเกษตรสุทธิ -77,249 บาท/ปี และมีรายได้ครัวเรือนสุทธิ
59,626 บาท/ปี

ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า เกษตรกรมีคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ตในครัวเรือน จำนวน 116 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.7 และใช้ smart phone ในการหาข้อมูลทางด้านการเกษตร จำนวน 58 ราย คิดเป็น ร้อยละ 8.9

เมื่อทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบปัจจัยด้านต่างๆ ระหว่างเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า เกษตรกรกลุ่ม Existing Smart Farmer จะมีรายได้และรายจ่ายทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร รวมไปถึงรายได้สุทธิครัวเรือนสูงกว่า มีจำนวนพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานสูงกว่า มีสัดส่วนเกษตรกรที่มีคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ตในครัวเรือนสูงกว่า มีสัดส่วนเกษตรกรที่ใช้ smart phone ในการหาข้อมูลด้านการเกษตรสูงกว่า มีสัดส่วนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่า เมื่อเทียบกับเกษตรกรกลุ่ม Developing Smart Farmer

ทั้งนี้ ข้อมูลการวิเคราะห์ดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเป็น Existing Smart Farmer ได้แก่ ระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยที่สูงกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป จำนวนพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน การมีคอมพิวเตอร์และมีระบบอินเทอร์เน็ตในครัวเรือน การใช้ smart phone ในการหาข้อมูลด้านการเกษตร และการเป็นสมาชิกกลุ่มการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ

1) ควรมีศูนย์ข้อมูลกลางเกษตรด้านเกษตรที่ Smart Farmer จะเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลเพื่อการพัฒนา ต่อยอด เบ็ดเสร็จในที่เดียว

2) หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาสินค้าเกษตร ควรให้ความสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ ในการดำเนินนโยบาย Smart Farmer เพื่อให้เกิดการบูรณาการฐานข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลกลางเกษตรในส่วนของการตลาดเชิงลึกที่ครอบคลุมด้านมูลค่า ปริมาณ สต็อกสินค้า เนื่องจากการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกของการดำเนินการ

3) ในการเข้าสู่ Smart Farmer ในเบื้องต้นเกษตรกรต้องเปิดกว้างทางความคิดในการเปิดรับสิ่งใหม่ๆนวัตกรรม หรือสิ่งๆต่างๆที่เข้ามาแล้วทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ยึดติดกับของเดิมที่เป็นอยู่มากจนเกินไปซึ่งเป็นปัญหาแรกของการพัฒนา Smart Farmer

4) เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ควรมีช่องทางที่ Smart Farmer สามารถเรียนรู้ และเข้าถึงได้ง่าย

ข้อมูล : ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU – OAE Foresight Center : KOFC)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated