“อ้น” สัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ของผู้ใหญ่ณรงค์ จูมโสดา จ.อุทัยธานี

จากข้อมูลที่สืบค้นได้ในวิกิพีเดีย อ้น หรือ หนูอ้น (อังกฤษ: Bamboo rat, Mole rat) เป็นสัตว์ฟันแทะจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในเผ่า Rhizomyini ในวงศ์ย่อย Rhizomyinae ในวงศ์ Spalacidae มีรูปร่างคล้ายหนูขนาดใหญ่ มีรูปร่างโดยรวม คือ มีลักษณะลำตัวกลม อ้วน ป้อม ขนสีน้ำตาล ตาและหูเล็กมาก ขาและหางสั้นไม่มีขน ฟันแทะคู่หน้ามีขนาดใหญ่เห็นได้ชัด รูปร่างโดยรวมคล้ายกับหนูมีความน่ารักในหน้าตา ชอบอาศัยอยู่ใต้ดินหรือโพรงไม้
มีทั้งหมด 4 ชนิด มี 2 สกุล ที่พบในทวีปเอเชีย แถบภูมิภาคเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนตอนใต้ ได้แก่
สกุล Rhizomys
อ้นใหญ่ (R. sumatrensis) เป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุด โดยวัดความยาวจากหัวจนถึงปลายหางได้ 48 เซนติเมตร
อ้นกลาง (R. pruinosus) เป็นชนิดที่มีขนาดรองลงมา
อ้นเมืองจีน (R. sinensis) เป็นชนิดที่พบได้ในประเทศจีนตอนใต้
สกุล Cannomys
อ้นเล็ก (Cannomys badius) เป็นชนิดที่เล็กที่สุด มีความยาววัดจากปลายจมูกจนถึงหางประมาณ 15-26.5 เซนติเมตร
โดยอ้นที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด มักจะอาศัยขุดรูอยู่ในป่า โดยเฉพาะป่าไผ่ เพราะกินไผ่และหน่อไม้เป็นอาหารหลัก ส่วนอาหารอื่นๆ ได้แก่ ผลไม้ประเภทต่างๆ ที่หล่นตามพื้น ภายในรูมีทางยาวมากและแบ่งเป็นห้องได้หลายห้อง ใช้สำหรับเลี้ยงดูลูกอ่อนและเก็บอาหาร แต่จะขึ้นมาหากินบนพื้นดิน โดยปกติแล้วอ้นจะไม่กินน้ำโดยตรง แต่จะกินน้ำโดยผ่านจากการกัดแทะจากไม้ประเภทต่าง ๆ ที่กินเข้าไป อ้นจะผสมพันธุ์ในฤดูฝน ออกลูกครั้งละ 1-8 ตัว ซึ่งอ้นในภาษาเหนือมักถูกเรียกว่า “ตุ่น” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน แต่เป็นสัตว์ที่อยู่คนละอันดับกัน ซึ่งอ้นทั้งหมดที่พบในประเทศไทยมีสถานะทางกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 แต่ก็เป็นที่นิยมรับประทานของผู้คนที่อยู่ใกล้ป่าหรือสังคมในชนบท โดยเชื่อว่าเป็นยาบำรุงพละกำลัง

เปิดตัวคนเลี้ยงอ้น
ด้วยปัจจุบันอ้นเป็นสัตว์ที่หายาก จึงมีชาวบ้านบางกลุ่มเริ่มน้ำอ้นมาเลี้ยงพร้อมทั้งจำหน่ายในเชิงการค้าแล้ว อย่างที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยการนำของผู้ใหญ่ณรงค์ จูมโสดา หัวหน้าศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยหนามตะเข้ ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า ตนและลูกบ้านได้เริ่มเลี้ยงอ้นมาเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว เริ่มแรกนั้นตน และลูกบ้านอีก 7 ราย ได้เริ่มทดลองเลี้ยงก่อน ซึ่งก็พบว่าอ้นนั้นค่อนข้างเลี้ยงง่าย ปัจจุบันมีครอบครัวที่เลี้ยงอ้นทั้งหมด 13 ครอบครัว มีอ้นรวมกันกว่า 100 ตัว โดยส่วนตัวนั้นมีอ้นอยู่ทั้งหมด 15 ตัว เป็นแม่พันธุ์จำนวน 10 ตัว พ่อพันธุ์จำนวน 5 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นของสมาชิกที่เป็นลูกบ้าน
“ในอดีตอ้นสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัจจุบันนั้นอ้นกลับเป็นสัตว์ที่พบได้ยาก ซึ่งที่ยังมีพบอยู่ให้เห็นบ้างส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนพื้นที่ทางภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้แถบจะหาไม่ได้แล้ว จากสาเหตุที่อ้นกลายเป็นสัตว์หายาก เป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก และสามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้จึงทำให้ความนิยมมีเพิ่มมากขึ้นตลอดระยะเวลาที่เริ่มเลี้ยงอ้นมาจวบจนขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว”

เปิดเผยวิธีเลี้ยงอ้น
สำหรับวิธีการเลี้ยงอ้นมีด้วยกัน 2 วิธี คือเลี้ยงในกรงลอย และในวงบ่อ สำหรับหมู่บ้านของตนเลือกเลี้ยงในวงบ่อ ทั้งนี้ในการเลี้ยงในวงบ่อจะต้องระวังไม่ให้สัตว์มีพิษเข้ากัดต่อย อาทิ มดคันไฟ ตะขาบ แมงป่อง และยุง โดยเฉพาะยุง และมด อ้นจะแพ้มาก จึงต้องปิดวงบ่อกางมุ้งให้อ้นเพื่อป้องกันสัตว์มีพิษจำพวกนี้ ส่วนการให้อาหารหลักๆ ประกอบด้วยพืช 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย ข้าวโพด ลำไผ่ชนิดต่างๆ การให้อาหารจะข้าวโพด 1 ฝัก หรืออ้อย ลำไผ่ 1 ท่อน อ้นจะกินได้ประมาณ 2 วันก็หมด ก็ให้ใหม่ หรือจะให้อาหารเสริมจำพวกนมกล่องก็ได้เช่นกั่น ส่วนการให้น้ำ อ้นเป็นสัตว์ที่กินน้ำน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะดูดน้ำจากอาหาร
การเลี้ยงอ้นจะเริ่มจากลูกอ้นที่เพิ่มออกใหม่จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ถึงจะเริ่มผสมพันธุ์ โดยฤดูฝนจะเป็นฤดูหลักในการผสมพันธุ์ของอ้น โดยเราสามารถสังเกตตัวเมียที่เริ่มตั้งท้องได้ก็คือ จะเริ่มมีอาการหงุดหงิด กัดตัวผู้ เราจึงควรแยกบ่อ และใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 45 วัน ก็จะคลอด การให้ลูกจะให้อยู่ที่ 1-8 ตัว และอ้นแต่ละตัวจะมีอายุเฉลี่ยโดยประมาณ 10 ปี ซึ่งลักษณะที่ดีของอ้น จะมีสีเขียว นวล ขนเป็นมัน ร่างกายสมบูรณ์

เปิดตลาดอ้น
สำหรับการทำตลาดของตัวอ้น ปัจจุบันเป็นการกำหนดราคาจากผู้เลี้ยง ที่ส่วนใหญ่จะขายเป็นคู่เน้นการขายเพื่อให้เลี้ยงขยายพันธุ์ โดยคู่เล็ก ขนาดน้ำหนัก 4 ขีด อายุ 3 เดือน ราคาคู่ละ 3,000 บาท คู่กลาง ขนาดน้ำหนัก 6 ขีด อายุ 4 เดือนขึ้นไป คู่ละ 5,000 บาท และคู่ใหญ่ ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม อายุ 4 เดือนขึ้นไป คู่ละ 10,000 บาท
“ปัจจุบันตลาดให้การตอบรับดีมากจากทั่วประเทศ เพราะปริมาณของอ้นในขณะนี้ยังมีการเลี้ยงน้อยอยู่ และก็ถือว่าอ้นเป็นสัตว์เศรษฐกิจของหมู่บ้านที่สำคัญและได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่ให้มีการเลี้ยงอ้นอยู่ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน พร้อมกับเปิดให้มีการศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง”
ท่านใดที่สนใจสัตว์ชนิดนี้ หรือต้องการศึกษาดูงาน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมไปได้ที่ ผู้ใหญ่ณรงค์ จูมโสดา อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โทร.08-5604-0080

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated